แนะแนวการศึกษา“เด็กพิการเรียนไหนดี ‘64”
สสส. กระทรวงอุดมศึกษาฯ บ.กล่องดินสอ จัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาแห่งเดียวในประเทศ “เด็กพิการเรียนไหนดี ‘64” เพิ่มทางเลือกให้เด็กพิการเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียม ค้นหาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมทางที่ใช่สู่อาชีพที่ชอบ สร้างสุขภาวะกาย-ใจ-ปัญญา-สังคม
ช่วงจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเชื่อว่ามีเด็กหลากหลายคนยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปเรียนที่ไหนสาขาใด เพราะขณะนี้มีมหาวิทยาลัยคณะสาขา มากมายที่เปิดสอน
"งานเด็กพิการเรียนไหนดี'64 ปั้นฝันเป็นตัว" อีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยน้องๆ คนพิการที่กำลังจะจบม.6 ได้รู้จัก คณะมหาวิทยาลัยที่ตนเองสามารถเข้าศึกษาต่อ รวมถึงได้เรียนรู้ ทั้งการจัดทำ Portfolio หรือแฟ้มสะสมงาน และฝึกฝนการสอบสัมภาษณ์ และได้รู้จักอาชีพต่างๆ จากรุ่นพี่ที่อยู่ในแวดวงอาชีพนั้นจริงๆ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้ขณะนี้หลายคนอาจมองว่าสถานการณ์การดูแล โอกาสของคนพิการในประเทศไทยจะมีมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงก็มีโอกาสมากขึ้นแต่ยังไม่มากพอ เนื่องจากคนพิการในประเทศไทยมีประมาณ 2 ล้านคนทั่วโลก และ 1.5 ล้านคน มีโอกาสได้รับการศึกษา ทว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี กลับมีเพียง 20,000 คนซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยอาจมีช่องว่างสำหรับคนพิการ ควบคู่กับศักยภาพของคนพิการที่อาจจะไม่สามารถศึกษาต่อได้ การจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกล่องดินสอ สสส. ทรูไอคอน สยาม และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นการเปิดพื้นที่ ลดช่องว่างในการศึกษาต่อ
"สสส.มีหน้าที่สนับสนุนเรื่องสุขภาวะในทุกมิติ สำหรับคนพิการ ซี่งมองใน 4 มิติ ทั้งทางร่างกาย ทางใจ ทางปัญญาการเรียนรู้ และด้านสังคม โดยในส่วนของร่างกาย เป็นการฟื้นฟูร่างกายตนเองให้สามารถใช้ชีวิต พึ่งพาตนเองได้มากที่สุดรวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ขณะที่มิติทางใจ สร้างความภูมิใจ ความสามารถในการพึ่งพาและการได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ ทางสติปัญญา คนพิการมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนทั่วไป มีความพร้อมเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ และด้านสังคมมีทักษะต่างๆ การมีงานทำ มีความพร้อมในหลายด้าน ต้องมีการออกแบบ มีความละเอียดออน เสริมความมั่นใจความพร้อมของตัวเอง ดังนั้น กิจกรรมในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้แก่ทุกคนได้เรียนจบการศึกษาตอบโจทย์ความฝันของหลายๆ คน"นางภรณี กล่าว
โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำคือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน โดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มFacebook “เด็กพิการอยากเรียนมหา'ลัย” โดยมุ่งพัฒนากลไกสนับสนุนการออกแบบสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ให้รองรับวิถีชีวิตคนพิการ ปีนี้ใช้ชื่อตอน “ปั้นฝันเป็นตัว” มีเป้าหมายให้คนพิการค้นหาตัวเอง เน้นแนะแนวทางการเรียน สอนวิธีสร้างแฟ้มสะสมงานให้น่าสนใจ พร้อมเผยเคล็ดไม่ลัพธ์เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์ให้เด็กพิการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น พบว่า ปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งาน“เด็กพิการเรียนไหนดีปี 64” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนนับเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการศึกษาเพื่อคนพิการที่ทันสมัย โดดเด่น เพราะ เน้นสร้างสังคมแบบ Inclusive มุ่งผลักดันความเท่าเทียมทางการเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งให้คือ ปั้นความฝันคนพิการให้เป็นความจริง โดยที่ไม่ทำให้ปัจจัยทางร่างกายหรือสติปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้
“การผลักดันให้คนพิการเข้าถึงระบบการศึกษา กระทรวงอุดมศึกษาฯ ตั้งใจขับเคลื่อนในระดับนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การมอบทุนสนับสนุนให้คนพิการได้ศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษามากขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงการช่วยกำกับ ดูแล ขอความร่วมร่วมมือมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน ทั่วประเทศ มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม มอบโอกาสให้คนพิการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงพิจารณาปรับอัตราเงินอุดหนุนคนพิการ ส่งเสริมคนกลุ่มนี้ได้เรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยเหมือนเด็กทุกคน” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว
นายเมธี ธิติปฎิพัทธ์ พิการทางการเห็น(สายตาเลือนราง) นิสิตชั้นปี 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่าเมื่อครั้งเรียนชั้นม.6 กำลังหาข้อมูลที่จะศึกษาต่อด้านภาษาจีน เพราะด้วยตนอยู่พัทยาได้พบชาวจีนค่อนข้างมาก จึงมีความคิดว่าหากสามารถสื่อสารภาษาจีนได้จะเป็นสิ่งดี เมื่อได้พบกับบูธแนะแนวทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่มีหลักสูตรรองรับและสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการทางการเห็น จึงได้สอบเข้าเรียนในที่สุดและได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย