กสศ.มอบทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 รองรับอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21
กสศ.เดินหน้าทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 ผลิตบุคลากรสายอาชีพรองรับอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 พร้อมจัดกิจกรรม “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2563” เติมโอกาสให้เด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และที่มีความต้องการพิเศษได้เรียนต่อสายอาชีพ เน้นพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นแนวหน้าระดับอาเซียน พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมเด็กพิการ นำร่อง 5 สถานศึกษาเป็นปีแรก
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2563” โดยมีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมการถ่ายทอดสดกิจกรรมไปอีก 23 สถาบันการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมรูปแบบระบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการส่งเสริมนักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญเฉพาะด้านในระดับอาชีวศึกษาจำนวนมาก ทำให้สถาบันการศึกษาต้องเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่หลัก โดยโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงนับเป็นโครงการที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสายอาชีพได้ ในปีนี้ กสศ.ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สามารถสร้างโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนต่อสายอาชีวศึกษารวมทั้งสิ้นกว่า 4,700 คน จาก 47 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นรุ่นที่ 1 จำนวน 2,000 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 2,700 คน มีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 66 แห่ง
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 2 กสศ.ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมถึงเด็กที่มีความขาดแคลนทุนทรัพย์และมีความต้องการพิเศษ (พิการ) โดยทดลองเปิดทุนใหม่เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม ระบบในการดูแลที่เหมาะสมร่วมกับวิทยาลัย ส่วนการดำเนินการรุ่นที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่านักศึกษาทุนมีศักยภาพแต่มีความเปราะบางในชีวิตจากพื้นฐานครอบครัว จึงเป็นความท้าทายที่ กสศ.ต้องทำงานกับวิทยาลัยต่างๆ ในการดูแลเด็กให้มีภูมิคุ้มกันเอาตัวรอดในสังคมได้ อยากฝากถึงนักศึกษาที่ได้รับทุนทุกคน เวลาตั้งเป้าหมายทำอะไรต้องมียุทธศาสตร์ว่าทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ อย่าลืมที่จะให้ความสำคัญต่อการเรียน ต้องมีวินัย เข้าใจเนื้อหา และรู้จักที่จะปรับตัว ส่วนสถาบันการศึกษา ขอให้ท่านผู้บริหาร ครู อาจารย์ ดูแลนักศึกษาผู้รับทุนอย่างลูกหลาน ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนนักศึกษาผู้รับทุนให้มากที่สุด
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 1 ที่ผ่านมาเราพบว่าเด็กที่ได้รับทุนการศึกษามีผลการเรียนดีมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.00 หรือกว่าร้อยละ 67 ถือเป็นผลที่น่าพอใจ ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรครูจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือดูแลเด็กๆ กลุ่มนี้ สำหรับการดำเนินการรุ่นที่ 2 กสศ.เชื่อว่าเด็กทุกคนมีคุณภาพ และจะมีชีวิตที่ดีหลุดพ้นจากความยากจนได้หากได้รับการศึกษา ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมีภารกิจที่สำคัญ 2 ด้าน คือ 1. ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีขีดความสามารถในการเรียนรู้ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และ 2. จัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันการศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการไปพัฒนาการเรียนการสอนและครูให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นในระดับอินเตอร์ เพื่อเป็นแนวหน้าในระดับอาเซียน
การปฐมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 2 กสศ. จึงไม่ใช่แค่ให้เด็กนั่งเรียนรู้ทฤษฎีและจดบันทึกเหมือนเช่นอดีต แต่จะเป็นการทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะความรู้ที่รองรับทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ครอบคลุมถึงหลักการเรียน การปรับตัวและการทำงานเป็นทีม รวมถึงการเสริมทักษะการบริหารจัดการรายรับและรายจ่ายอย่างถูกต้อง เราเชื่อว่าเด็กที่ได้รับทุนทุกคนมีศักยภาพและความสามารถ แต่อาจขาดพลังที่จะต่อสู้จนสำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น
ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความพิการ กล่าวว่า โครงการ “เปลี่ยนความพิเศษให้เป็นพลัง” เป็นโครงการย่อยออกมาจากโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นโครงการส่งเสริมให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีความต้องการพิเศษ (พิการ) ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เน้นสร้างโอกาสให้ผู้พิการ ปัจจุบันมีสถาบันอาชีวศึกษาเข้าร่วมและนำร่อง 5 วิทยาลัย เช่น วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพฯ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ฯลฯ สำหรับการทำงาน สถาบันการศึกษาและ กสศ.จะร่วมกันออกแบบการเรียนการสอน พร้อมเข้าไปหนุนเสริมการทำงานของวิทยาลัยเพื่อวัดความรู้เด็กให้พร้อมสู่การมีงานทำ มีระบบดูแลช่วยเหลือติดตามหลังเรียนจบการศึกษา
ผศ.ดร.ชนิศากล่าวว่า หลังจากเด็กกลุ่มความต้องการพิเศษได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้วเราจะติดตาม
ถอดบทเรียนการทำงานอย่างรอบด้าน และหลังเก็บรวบรวมข้อมูลเด็กพิเศษมากว่า 6 เดือน เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เด็กที่ได้รับทุนต้องต่อสู้กับอุปสรรคเป็นสองเท่าเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของตนเองนั้น กลับมีแววตาที่แสดงออกถึงความฝันที่อยากจะเป็นมากขึ้น มีความหวัง มีกำลังใจไม่ท้อแท้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเด็กพิเศษต้องแก้ตั้งแต่เกิด ซึ่งเด็กจะรู้จักตัวเองและฉายแววความโดดเด่นออกมา และมีโอกาสตอบแทนสังคมได้มากกว่าเด็กที่ได้รับการพัฒนาตอนโต
“อยากขอบคุณ กสศ.ที่ให้โอกาสเด็กพิเศษกลุ่มนี้ และเราตั้งเป้าหมายการทำงานสูงสุดไว้คือได้เห็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้จริง ถ้ามีสังคมเช่นนี้จะตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำได้ อยากให้สังคมเปิดใจยอมรับความแตกต่าง อย่ารีบตัดสินคนกลุ่มนี้จากภายนอก ขอให้มองศักยภาพจากการทำงาน อะไรที่เขาขาดไปสังคมควรจะช่วยเสริมและเติมให้” ผศ.ดร.ชนิศากล่าว
นางสาวพัชรีญา ก้องสูงเนิน อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า วิทยาลัยได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพรุ่น 2 จำนวน 21 ทุน แบ่งเป็น 5 สาขาวิชา เช่น ช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ทุนนี้เป็นทุนที่ช่วยต่อยอดชีวิตทางการศึกษาให้เด็กได้อย่างมาก หากไม่มีทุนการศึกษาก็ไม่รู้ว่าเด็กจะได้เรียน หรือมีอนาคตไปในทางไหน เพราะไม่สามารถโฟกัสชีวิตโฟกัสความมั่นคงได้ ทุนนี้ยังขยายไปสู่ครอบครัวเด็กให้เดินต่อไปได้ เนื่องจากทุนการศึกษาที่ได้รับ นอกจากใช้ในด้านการศึกษาแล้ว เด็กยังเก็บสำรองไว้เรียนได้โดยที่ไม่ต้องรบกวนผู้ปกครอง เพราะหากไม่ได้รับโอกาสตรงนี้ เด็กจะต้องออกไปดิ้นรนทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว ทุนนี้จะช่วยให้เด็กจบสูงขึ้น การทำงานก็จะดีขึ้น โอกาสของการตกงานก็มีน้อยลงเพราะได้รับการศึกษา