LIFE&HEALTH : เรื่องเล่าจากเด็กพิเศษ..ที่สังคมควรรู้
ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายทั้งในด้านเทคโนโลยี ด้านการแพทย์ด้านการศึกษา ทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นความแตกต่างของบุคคลในสังคม การยอมรับและการเอื้ออาทรต่อกันในรูปแบบต่างๆ
ข้อมูลจาก ศ.ศรียา นิยมธรรมประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่าในด้านการศึกษาและจิตวิทยาจะได้ยินคำพูดที่เรียกบุคคลซึ่งมีความแตกต่างรวมถึงคนพิการว่า เป็นคนพิเศษหรือคนที่มีความต้องการพิเศษ ตลอดจนคนที่มีความสามารถพิเศษ คนเหล่านี้จะได้รับการดูแลจากสังคมบอกขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษาและสังคม
เดิมทีบุคคลเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือบ้างในรูปแบบของการยกเว้น เช่น เด็กพิการได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนหนังสือ จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ทำให้เด็กเหล่านี้สามารถเข้ารับการศึกษาและพัฒนาความสามารถร่วมกับเด็กปกติได้ ในกรณีของเด็กเก่งมากๆระดับปัญญาเลิศก็ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนาความสามารถที่เขามีความโดดเด่นมากกว่าการให้เพียงรางวัลว่าเป็นคนฉลาดเรียนเก่ง อย่างไรก็ดีเด็กกลุ่มนี้ในโลกของความเป็นจริงแล้ว เขาก็ยังคงมีความต้องการ ด้านจิตวิทยาที่หลายคนหรือหลายหน่วยงานอาจมองข้ามไป บทความนี้จะสะท้อนความรู้สึกบางประการของเด็กพิเศษกลุ่มนี้ที่ ศ.ศรียา นิยมธรรม ได้เคยสัมผัสเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับบทบาทของเราในการอยู่ร่วมกัน
เด็กพิการหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีหลายประเภท เช่น หูหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน ร่างกาย พิการ สมาธิสั้น มีปัญหาทางการเรียนรู้มีปัญหาด้านการสื่อสาร ออทิสติก หรือมีความพิการซ้ำซ้อนคือ มีปัญหามากกว่าหนึ่งอย่างในตัว เช่น ทั้งปัญญาอ่อนและตาบอด เป็นต้น เด็กกลุ่มนี้เมื่อแรกเกิดหรือเมื่อพ่อแม่เริ่มรู้ปัญหาของเด็กก็มักจะตกใจเศร้าใจผิดหวัง ทำให้มีพฤติกรรมในการเลี้ยงลูกแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าใครจะปรับตัวเรียนรู้ได้เร็ว บางคนมีความเมตตาเอื้ออาทรแต่ก็เศร้าโศกอยู่ในส่วนลึกตลอดจึงเลี้ยงดูเด็กแบบโอบอุ้มเพื่อให้เขาปลอดภัย การทำเช่นนี้เป็นการตัดโอกาสการเรียนรู้ของเด็กโดยไม่รู้ตัวผู้เขียนเคยได้รับฟังความคิดของเด็กกลุ่มนี้ที่บอกว่าเขารู้ว่าพ่อแม่อยากปกป้องเขา แต่หลายครั้งเขากลับรู้สึกว่า พ่อแม่ต้องการปกปิดถึงความพิการหรือลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของเขา จนทำให้เขารู้สึกแปลกแยกบางครั้งก็รู้สึกว่า ตัวเองเป็นส่วนเกินของครอบครัวมากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
กรณีที่ 2. ยกย่อง ~ ยกเว้น
เด็กหลายคนเล่าให้ฟังว่า เมื่ออยู่ที่โรงเรียนซึ่งมีโปรแกรมการศึกษาพิเศษมีครูการศึกษาพิเศษ คอยดูแลช่วยเหลือทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจแต่ในบางครั้งการร่วมกิจกรรมการเรียนในชั้นเรียนกับเพื่อนเพื่อนเขามักรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนมากนัก เช่น เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียนเพื่อน
มักจะไม่ไว้วางใจที่จะให้ทำงานกลุ่มร่วมกันแต่หลายคนก็ยินดีให้ใส่ชื่อในกลุ่มโดยไม่ต้องทำงานเพราะกลัวผิดพลาดเสียคะแนนด้วยรู้ว่าเค้าเป็นเด็กพิเศษ เด็กที่สุขภาพไม่ดี ครูพละก็ให้ไปนั่งพักดูเพื่อนเล่นเพราะเกรงว่าเขาอาจเป็นลมถ้าต้องทำกิจกรรมเหมือนคนอื่นๆ การได้รับการยกเว้นบ่อยๆ ทำให้เด็กพิเศษรู้สึกว่า ตนเองไม่เหมือนคนอื่นไม่ได้รับการยกย่องอะไร แต่ได้รับการยกเว้นอยู่เสมอ เด็กเหล่านี้จึงรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าและไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในชั้นเรียนและในโรงเรียน เกิดความเบื่อหน่ายในการมาโรงเรียนเพราะไม่แน่ใจว่าจะมาทำไม มาทำอะไร บ้างก็รู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางเพื่อนฝูงมากมาย
เรื่องทำนองนี้เป็นปัญหาทางจิตวิทยาในการพัฒนา ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Sense of Belonging) ซึ่งเป็นความต้องการด้านอารมณ์ของมนุษย์ทุกคน ดังที่นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคือ Abraham Maslowผู้เขียนทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ตามลำดับขั้นห้าประการคือ ความต้องการทางร่างกายซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐาน ในการดำรงอยู่ของชีวิต ขั้นต่อไปก็คือ ความต้องการความปลอดภัย การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การนับถือตนเอง และการตระหนักในศักยภาพของตน
มีงานวิจัยในช่วงปี ค.ศ.2020ที่ทำการศึกษากับนักเรียนทั่วไปในโรงเรียนปกติและในระดับมหาวิทยาลัยถึงเรื่อง ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียนที่มีต่อโรงเรียน ผลการศึกษาพบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งหรือการเป็นเจ้าของและความสุขในภาวะทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตรวมถึงเรื่องความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โดดเดี่ยว ความวิตกกังวลทางสังคม การฆ่าตัวตายและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าในสังคมปัจจุบันแนวโน้มของความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของหรือเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่นักเรียนมีนั้นลดลงโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ข้อเสนอแนะจากการวิจัยก็คือ ให้เพิ่มกิจกรรมที่จะดูแลหรือพัฒนาความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเด็กที่มีต่อครอบครัวและโรงเรียน
เพียงได้เป็นส่วนหนึ่งซึ้งใจนัก เพียงถูกรักเห็นคุณค่าน่านับถือ
จะทุ่มเททั้งกายใจไม่ยั้งมือ ด้วยเราคือเจ้าของต้องผูกพัน
ข้อมูลจาก อ.วรรณวนัช กันพรหม ผู้จัดการ รร. เด็กพิเศษคุณพ่อเรย์ เผยว่า รร.เด็กพิเศษคุณพ่อเรย์ เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้าน
สติปัญญา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550เพื่อส่งเสริมศักยภาพเด็กหรือบุคคลเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา สู่การพึ่งพาตนเองให้มีอาชีพ และดำรงชีวิตอิสระในสังคมอย่างมีสุข โดยทาง รร.เด็กพิเศษคุณพ่อเรย์ ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จ.ชลบุรี จัดให้มีการศึกษาเฉพาะบุคคลในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและสร้างอาชีพ จัดการฝึกอบรมและมีกิจกรรมพิเศษเฉพาะกลุ่ม โดยมีอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมอาหารมื้อเที่ยงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในความดูแลกว่า 172 คน และจบการศึกษาตามระบบ จนสามารถก้าวสู่ถนนสายอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้แล้วกว่า 38 คน
ผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคช่วยการศึกษาและฝึกอาชีพของเด็กพิเศษได้ที่ ธนาคารกรุงไทย591-6-00135-5 ชื่อบัญชีรร.เด็กพิเศษคุณพ่อเรย์ โดยใบเสร็จนำไปลดหย่อนภาษีได้2 เท่า สอบถามได้ที่โทรศัพท์ 092-7390990
ขอบคุณ... https://www.naewna.com/lady/609966