AIS Academy ผนึก พม. สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม”

AIS Academy ผนึก พม. สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม”

AIS Academy ผนึก พม. สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม” หนุนไอเดียคนรุ่นใหม่ ผ่าน “JUMP THAILAND HACKATHON 2024” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ-คนพิการ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม AIS Academy ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม” กับโจทย์ที่ท้าทาย “เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร?” ผ่านโครงการ “JUMP THAILAND HACKATHON 2024” ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังและศักยภาพ ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างยั่งยืน

AIS Academy ผนึก พม. สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม”

พร้อมรับมือวิกฤตประชากรอย่างชาญฉลาด ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่และเทคโนโลยีดิจิทัล

คุณอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุราว 13.06 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันการเกิดน้อยลง และวัยแรงงานต้องแบกรับภาระการดูแลเพิ่มขึ้น กระทรวง พม. จึงริเริ่มนโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์นี้ ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. เสริมพลังวัยทำงาน 2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3. สร้างพลังผู้สูงอายุ 4. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าคนพิการ และ 5. สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัว”

ความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. และ AIS ในครั้งนี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ด้วยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการ ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างสะดวกและเท่าเทียม ขณะเดียวกัน กระทรวง พม. เชื่อว่าไอเดียและนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่จากโครงการนี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก และยกระดับศักยภาพการใช้ชีวิต รวมถึงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

AIS เชื่อมั่นในศักยภาพและจิตสาธารณะของคนรุ่นใหม่

คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS กล่าวว่า “กระทรวง พม.ได้ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามความร่วมมือระหว่าง พม. และ AIS ตั้งแต่ปี 2018 โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำศักยภาพของทั้งสองหน่วยงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ภายใต้ภารกิจคิดเผื่อที่เราคุ้นเคยกันดี รวมถึงอุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ ห้องสมุดดิจิทัลปันความรู้ และโครงการ “JUMP THAILAND HACKATHON 2024” ที่เราเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ เราจะไม่เสียเวลาเกี่ยงกันหรือกล่าวโทษกันไปมาว่าเป็นความรับผิดชอบของเจนเนอเรชั่นใด เพราะจะทำให้สูญเสียความสวยงามและโอกาสที่จะนำพลังของคนรุ่นใหม่มาสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับสังคม ขณะเดียวกันการทำงานข้ามเจเนอเรชั่นและการประสานงานหลากหลายหน่วยงานต้องมีการปรับตัวเช่นกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และ AIS แสดงให้เห็นว่าความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงามและจะทำให้เกิดความยั่งยืนในสังคมได้”

“วันนี้เป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญ จากการที่เราได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีศักยภาพมีสกิลเซ็ตที่ล้ำหน้าและมีจิตสาธารณะ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการนำพลังของคนรุ่นใหม่มาผสานกับความช่วยเหลือของภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่จะนำไปสู่การลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จากนี้ไปคณะกรรมการจะช่วยคิด หารือร่วมกัน และสานต่อ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานนวัตกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น“

AIS Academy ผนึก พม. สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม”

3 สุดยอดไอเดีย พลิกชีวิตกลุ่มเปราะบาง

หลังจากรอบ Hackathon ที่ทุกทีมได้พบและขอคำปรึกษาจากพี่ๆ อุ่นใจอาสา ซึ่งเป็นพนักงาน AIS กว่า 30 คน ในบทบาท Mentor และ Buddy ที่ช่วยแนะนำการใช้เทคโนโลยี AIS เพื่อพัฒนาต้นแบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงผ่านการพิชชิ่งอย่างเข้มข้นต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ ผลปรากฏว่ารางวัลชนะเลิศ รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ทีม PATHSENSE จากนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ประกอบด้วยคุณจิรา พิทักษ์วงศ์, คุณชวิน เหลืองธำรงเจริญ, คุณภคิน ธรรมศิริมงคล, คุณสิริชาดา วัฒนาศิริธนวงษ์ และที่ปรึกษาโครงการ ผศ.ดร.พนารัตน์ เชิญถนอมวงศ์ นำเสนอโครงการ PATHSENSE พัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง ผ่านกระเป๋าสะพายข้างซึ่งมีการติดตั้งกล้อง AI เอาไว้ที่สายกระเป๋า ตัวกล้องมีความสามารถในการตรวจจับวัตถุและสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่อยู่บริเวณด้านหน้า เช่น บันได ประตู กำแพง และอื่นๆ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของผู้สวมใส่ แล้วทำการแจ้งแก่ผู้สวมใส่ผ่านทางหูฟังหรือลำโพงโทรศัพท์ โดยเบื้องหลังไอเดียคือมองเห็นถึงช่องว่างในการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในการเดินทางตามที่สาธารณะต่างๆ ผนวกกับความรู้จากการเรียนด้าน AI โดยเฉพาะ นำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมนี้

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 60,000 บาท ได้แก่ ทีม AUTISM นิสิตนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วยคุณเมฆินทร์ วงศ์ศรีลา, คุณฐิตินันท์ อาจหาญ, คุณสุขปวัตน์ เมืองสมบัติ, คุณกษิดิศ เสริมศรี และที่ปรึกษาโครงการ คุณจิตติ กุลพฤกษ์ นำเสนอโครงการ Aunity พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มสื่อสารการทำงานสำหรับผู้มีภาวะออทิสติก (Autism Spectrum Disorder: ASD) เพื่อสร้างอาชีพไปพร้อมกับการบำบัด โดยนำอาการของผู้มีภาวะออทิสติก มาปรับใช้ร่วมกับ AI ทำให้การสื่อสารในการทำงานระหว่างผู้มีภาวะออทิสติกด้วยกันเอง และผู้มีภาวะออทิสติกกับบุคคลทั่วไปเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเบื้องหลังไอเดียนี้คือการมองว่าผู้ที่มีภาวะออทิสติกไม่ควรถูกมองข้าม แต่ต้องมีวิธีการที่ทำให้เขาเข้าใจได้ง่าย รวมถึงแนวการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และปฏิกริยาตอบสนองต่างๆ

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ทีมหลานม่า นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประกอบด้วย คุณศศิภา ภูขีด, คุณเกริกเกรียงไกร ชัยสิทธิ์, คุณอภิสรา วรรณสุข, คุณโยวิพัจน์ เสนะวีณิน และที่ปรึกษาโครงการ คุณสุกัญญา ทองบุผา ที่นำเสนอโครงการ Akong Amah Alert พัฒนานวัตกรรมเข็มขัดตรวจจับการล้มกระตุ้น AirBag ที่มีเซนเซอร์ติดต่อญาติ หากไม่ได้รับการตอบสนองจะติดต่อ 1669 หรือรถโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ผ่านสัญญาณเซลลูล่าร์ และ DevioBeacon (อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ตัวแรกในประเทศไทยที่ผ่านการทดสอบและรับรองจาก LINE Thailand อย่างเป็นทางการ โดยอุปกรณ์สามารถสื่อสารเพื่อรับส่งข้อมูลได้ ผ่าน LINE Official Account ช่วยพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างออฟไลน์ และออนไลน์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด) โดยเบื้องหลังไอเดียนี้เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้สูงอายุมักหกล้มได้ง่าย บางรายอาจหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต จึงคิดค้นนวัตกรรมรองรับแรงกระแทกส่วนสะโพกจากการล้มแล้วหงายหลัง

ต้องเตรียมนวัตกรรมให้พร้อม เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด

นอกเหนือจาก 3 สุดยอดไอเดียที่ได้รับรางวัลแล้ว ยังมีอีก 12 ไอเดียที่น่าชื่นชม และทั้งหมดมีโอกาสในการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ในวงกว้างเช่นกัน ได้แก่ แอปพลิเคชันให้ผู้สูงอายุและคนพิการที่อยู่ใกล้กันทำกิจกรรมร่วมกันและได้ฝึกอาชีพ, AI แปลงภาพเป็นเสียงสำหรับคนพิการทางสายตา, นวัตกรรมประเมินท่าทาง เพื่อประมวลผลการทดสอบสุขภาพของผู้สูงอายุ, ระบบตรวจพฤติกรรมเสี่ยงหกล้ม พร้อมแจ้งผู้ดูแลหรือกู้ภัยนำส่งโรงพยาบาล, ระบบตรวจจับอุบัติเหตุและส่ง SMS ฉุกเฉินสำหรับรถวีลแชร์, แว่นตาอัจฉริยะสำหรับคนพิการทางสายตา แจ้งเตือนสิ่งกีดขวางข้างหน้าและวัตถุเหนือศีรษะ, AI แปลงภาษามือเป็นเสียง สำหรับคนพิการทางการได้ยิน, แอปพลิเคชันตัวกลางเชื่อมผู้สูงอายุเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่, กระเป๋าถุงลมนิรภัย และแอปพลิเคชันป้องกันการกระแทกบริเวณศีรษะผู้สูงอายุ เมื่อหกล้ม, กล่องยาอัจฉริยะมาพร้อมกับแอปพลิเคชันแจ้งเตือนให้ทานยาและฟีเจอร์อื่นๆ, โครงการการออกแบบเครื่องช่วยเดิน สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ Line OA ให้ผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้กันมาทำกิจกรรมร่วมกัน

หากมีการนำไอเดียและนวัตกรรมทั้งหมดไปพัฒนาสามารถใช้งานได้ตรงตามเป้าประสงค์ ภายใต้ราคาที่จับต้องได้ ย่อมจะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อผู้สูงอายุที่มีกว่า 13.06 ล้านคน โดยเฉพาะในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยอยู่ตามลำพังมากถึง 1,348,397 คน ส่วนคนพิการในประเทศไทยที่มีอยู่ 2,186,769 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.31% ของประชากรทั้งหมด และในจำนวนนี้ยังเป็นผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป 57.50% ไม่เพียงเท่านี้ยังจะส่งผลบวกต่อครอบครัวของผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องดูแลและแบกรับภาระด้วย เพราะหากกลุ่มเปราะบางสามารถช่วยเหลือและดูแลตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ (ปัจจุบัน มีผู้พิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ 418,935 คน คิดเป็นสัดส่วน 49.37% ของผู้พิการทั้งหมด) ก็จะลดภาระผู้ดูแล ทำให้พวกเขามีโอกาสในการประกอบอาชีพ และมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญประเทศไทยก็จะสามารถลดอัตราการขาดแคลนแรงงานในระบบได้

นอกเหนือจากกระทรวง พม.และ AIS แล้ว นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ภาคการศึกษาเข้ามาร่วมโครงการนี้ด้วย ทั้งนิสิต นักศึกษา และอาจารย์ โดยมีผู้สมัครจำนวน จำนวน 514 คน 114 ทีม จาก 31 สถาบัน ซึ่งเราจะขยายความร่วมมือต่อยอดขึ้นไปอีก เพื่อให้แนวคิดของคนรุ่นใหม่จับต้องได้จริง เกิดการค้นคว้าวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างคุณค่าแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ขอชื่นชมทั้ง 15 ทีมที่ผ่านเข่ารอบสุดท้าย เพราะสามารถมองปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง โดยใช้วิธีคิดที่ใส่ใจความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการ จาก 15 ทีมนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นและแพลตฟอร์ม ส่วนครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะทำให้กลุ่มเปราะบางสามารถที่จะใช้ชีวิตได้ปกติหรือทำงานได้

โซลูชันที่พวกเขาคิดขึ้นมาอาจดูเล็กน้อย แต่หากนำไปใช้จริง จะช่วยลดภาระของครอบครัวที่ดูแลกลุ่มเปราะบาง และเพิ่มความสะดวกให้คนกลุ่มนี้สามารถดูแลตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและเพิ่มวัยแรงงานได้อีกด้วย ขณะที่บางนวัตกรรมช่วยป้องกันอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย ลดปัญหาด้านสาธารณสุข ดังนั้นการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเหล่านี้ให้เข้าถึงคนได้มากขึ้นในราคาที่เหมาะสมและเพิ่มพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ AIS ในฐานะผู้นำเครือข่าย สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI, 5G, IoT เพื่อขยายโซลูชันไปสู่กลุ่มเป้าหมายจากไม่กี่คนสู่นับล้านคนได้” นาย สรรเพชญ สรรพศิริ หัวหน้าฝ่ายงานการบริหารความเป็นเลิศด้านงานทรัพยากรบุคคล – ฟิกซ์บรอดแบนด์ เอไอเอส ผู้รับผิดชอบโครงการ JUMP THAILAND HACKATHON 2024” กล่าว

นอกจากนี้ ราวปี 2572 ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงอายุขั้นสมบูรณ์ (Aged society) ไปสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Super-aged society) ซึ่งหากมีการวางรากฐานเทคโนโลบีและนวัตกรรมเหล่านี้ไว้รองรับล่วงหน้า ย่อมมีโอกาสสูงที่ “ภาระ” จะถูกเปลี่ยนเป็น “พลัง” อย่างแท้จริง

ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนอนาคตระยะยาวร่วมกัน

ทั้ง กระทรวง พม.และ AIS ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม” ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย แต่เป็นเรื่องของความยั่งยืนที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ให้ความสนใจ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

โดยปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการออกแบบสังคมให้กลุ่มเปราะบางได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพตามศักยภาพของตนเอง และความร่วมมืออย่างแนบแน่นกับ AIS ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 จะยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อลบล้างเจตคติสังคมที่มองว่ากลุ่มเปราะบางคือภาระ นี่คือการร่วมมือกันเชิงยุทธศาสตร์และมีการบูรณาการระหว่างกระทรวง พม.กับภาคเอกชนอย่าง AIS ซึ่งจะทำให้การทำงานของกระทรวง พม.ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น เพราะภาครัฐทำงานเพียงลำพังไม่ได้ ขณะที่ความท้าทายที่สุดของโครงการนี้คือการนำเสนอให้นวัตกรรมไปใช้จริง บางนวัตกรรม ภาครัฐควรนำไปใช้ทันที ส่วนภาคเอกชนควรมีความเชื่อมั่นในการนำไปใช้”

คุณกานติมากล่าวปิดท้ายว่า “เราไม่เชื่อในการมอบสิ่งของและถ่ายรูปแล้วจบไป เราดำเนินตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการสอนให้คนจับปลาเพื่อให้มีอาหารอย่างต่อเนื่อง น่ายินดีที่ขณะนี้เรามีพันธมิตรหลายฝ่ายเข้าร่วมโครงการ เช่น depa, NIA, UNDP, สิงห์ คอร์ปอเรชั่น, Amazon Web Service และ Google การทำงานนี้มีความเหนื่อยล้าและความล้มเหลวที่ต้องเริ่มต้นใหม่ เราต้องการเพิ่มพันธมิตรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในระยะยาว”

“ด้วยพลังของเราทุกคนซึ่งเปรียบเสมือนไม้ขีดไฟก้านเล็กๆ จะร่วมกันส่งต่อความสว่างไสวให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราได้”

ขอบคุณ... https://www.salika.co/2024/07/23/ais-academy-jump-thailand-hackathon-2024/

ที่มา: salika.co/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 ก.ค. 67
วันที่โพสต์: 24/07/2567 เวลา 13:34:20 ดูภาพสไลด์โชว์ AIS Academy ผนึก พม. สานต่อ “ภารกิจคิดเผื่อ ขับเคลื่อนอนาคตด้วยนวัตกรรม”