พิการมือขวา แต่รักทำขนม ต่อยอดสร้างรายได้ด้วยตัวคนเดียว
พิการมือขวาตั้งแต่กำเนิด แต่ใจไม่เคยท้อ พยายามเรียนรู้ สร้างอาชีพหารายได้ สู่การสร้างแบรนด์ขนม 'เปี๊ยะของพายุ' ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว และพลังบวกที่อยากส่งต่อผ่านความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย
บางครั้งชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์พยายามต่อสู้ หรือไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่พบเจอ 'พายุ-ทศพล หรพูล' อายุ 35 ปี เจ้าของแบรนด์ขนม 'เปี๊ยะของพายุ' คืออีกตัวอย่างของผู้ไม่ยอมแพ้แม้ชีวิตไม่สมบูรณ์
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจในตัวเขาคนนี้คือ คลิปทำขนมเปี๊ยะ… แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกว่าธรรมดาทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่าง นั่นก็คือการปั้นขนมอย่างชำนาญ แม้ร่างกายจะไร้มือขวา
บางอย่างอาจยากในช่วงแรก แต่ถ้าใจไม่ยอมแพ้ ยังไงก็ทำได้" :
พายุพิการมือด้านขวาตั้งแต่กำเนิด แม้จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในบางครั้ง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขาหยุดฝัน หรือล้มเลิกทำสิ่งต่างๆ ทศพล เปิดใจกับเราว่า ผมพยายามเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป และไม่ให้ตัวเองต้องเป็นภาระใคร
"ถ้าถามว่าใช้ชีวิตยากไหม มันก็มียากบ้างแล้วแต่กรณี เช่น แต่ก่อนผมล้างจานไม่ได้ ก็เลยพยายามหาวิธีทำให้ได้ เมื่อหาวิธีได้แล้วก็ลองฝึก พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เลยรู้ว่าที่จริงเราทำได้นะ แค่ต้องให้เวลากับมันหน่อย อย่างของผมเวลาล้างจานจะเอาฟองน้ำวางไว้ที่ฝั่งขวา และใช้มือซ้ายจับจาน"
พายุ แทรกข้อคิดเล็กๆ ใส่ในการสนทนาส่วนนี้ว่า การพยายามทำอะไรบางอย่าง มันอาจยากในช่วงแรก แต่สุดท้ายมันจะอยู่ที่ใจและความรู้สึกของเรา ถ้าเรายอมแพ้ เราก็จะหยุด แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งร่างกายจะชินไปเอง และทำทุกอย่างได้ดั่งใจต้องการ
เมื่อถามว่า สิ่งไหนที่คิดว่ายากที่สุดตั้งแต่ลองทำมา ทศพล ตอบว่า ยังไม่เจออะไรที่ทำแล้วคิดว่ายากจังเลย เพราะเราพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำได้ อันไหนที่เราคิดว่าทำแล้วเกินความสามารถ จนอาจทำให้รู้สึกท็อกซิก (Toxic) ในใจ ก็พยายามที่จะไม่ทำมัน
แม้ว่าจะเป็นคนคิดบวกมากแค่ไหน แต่ด้วยความพิการของพายุ ทำให้เขาต้องผ่านประสบการณ์ ที่กลายมาเป็นความทรงจำอันเลวร้าย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษา วันหนึ่งในงานโรงเรียน พายุขึ้นแสดงความสามารถบนเวทีกับเพื่อน แต่แล้วเขาก็ได้ยินเสียงพูดจากข้างเวทีว่า "พิการก็มาแสดงเนาะ"
"สำหรับผมคำพูดนั้นมันบั่นทอนจิตใจมาก เป็นคำที่ติดความรู้สึกในใจมาจนทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเหมือนแรงผลักดันว่า เราไม่มีทางทำถูกใจใคร 100% ใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วันดีกว่า"
ไม่ใช่แค่คำพูดถากถางนั้นที่เขาต้องก้าวผ่าน แต่ยังมีการล้อเลียนเสียดสีด้วยท่าทางอีกมากที่พายุต้องเจอ ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ทำให้ทศพลผ่านวันร้ายๆ มาได้ ก็คือคุณพ่อ คุณแม่ และเพื่อนที่คอยเติมเต็มพลังบวกในใจให้เขาคนนี้เสมอ
"เราใช้ชีวิตกับคนปกติมาโดยตลอด ตั้งแต่พิการมาไม่เคยมีเพื่อนที่พิการเลย ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับเพื่อนพิการ แต่บริเวณที่เราอยู่ พื้นที่ที่เราอยู่ สังคมที่เราอยู่ไม่มีคนพิการ พ่อกับแม่พยายามไม่ให้เราสนใจสิ่งรอบข้าง เขาพยายามบอกเราว่าถึงเราจะพิการ ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้ บางอย่างเราอาจจะทำได้ดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะทำอะไร แล้วทำสิ่งมีความสุขหรือเปล่า ส่วนเพื่อนก็คอยซัพพอร์ตความรู้สึก อันไหนที่เราทำไม่ได้ เพื่อนก็จะช่วย"
จุดเริ่มต้นทำขนมขาย :
ในอดีต ทศพล หรพูล เป็นพนักงานของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ แต่แล้วเขาก็ได้ย้ายไปทำงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในช่วงที่มีการระบาดของ โควิด-19 ทำให้เขามีเวลาอยู่กับตัวเองและโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจการทำขนม
"ที่จริงแล้วแต่ก่อนผมเป็นคนไม่ชอบทานขนม โดยเฉพาะเบเกอรี่ เพราะเวลากินเข้าไป มันมีความรู้สึกเลี่ยนและหวาน แต่ช่วงโควิดที่ได้อยู่กับสื่อออนไลน์มากขึ้น เห็นคนทำขนมในติ๊กต่อก เห็นคนพิการทำอะไรหลายอย่าง ก็เลยได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเหล่านั้น รู้สึกว่าตัวเองก็น่าจะทำอะไรอย่างบ้าง"
พายุ เล่าต่อว่า ตัดสินใจลองฝึกทำขนม เช่น เค้กกล้วยหอม เค้กมะพร้าว คุกกี้ธัญพืช และอีกหลายอย่าง ซึ่งผมก็ลองผิดลองถูกหลายอย่างและหลายรอบ พอทำไปสักระยะ ช่วงนั้นมีกระแสขนมเปี๊ยะลาวา เลยตัดสินใจไปเรียนทำเปี๊ยะลาวา และศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติมควบคู่กันไป
"ผมศึกษาจนหันมาทำเปี๊ยะลาวาอย่างจริงจัง ตอนนั้นตั้งชื่อว่าเฮอริเคนเบเกอรี่ เพราะตั้งใจจะทำขนมหลายอย่าง พอทำไปเรื่อยๆ ก็เลยเข้าสู่วงการเบเกอรี่ไปโดยปริยาย และทำให้ชอบการทำขนมมากขึ้น รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์และต่อยอดเป็นธุรกิจได้"
เราถามว่า มีคนห้ามไม่ให้ทำหรือไม่ พายุ ให้คำตอบว่า "ไม่มีเลยครับ" เพราะตอนเริ่มทำไม่ได้บอกเพื่อนๆ เพราะตอนนั้นจะขายออนไลน์ เลยรู้สึกว่าอยากสร้างฐานลูกค้าจากข้างนอก เพราะน่าจะพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจได้ดีกว่าสร้างฐานลูกค้าจากคนรู้จัก
ระยะแรกของการเรียนทำขนมเปี๊ยะ พายุยอมรับกับเราว่า "ค่อนข้างยากเพราะมีมือเดียว" เวลาจะปั้นแป้งเพื่อขั้นรูป หรือจับวัตถุดิบต่างๆ ก็อาจจะไม่สะดวกเท่าไร แต่เขาก็ยังพยายามคิดบวกเช่นเคยว่า "ถ้าพยายามทำ และคิดว่าทำได้ ยังไงก็ต้องทำได้"
"ช่วงแรกเหนื่อยมากเพราะต้องรีดแป้งหลายรอบ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอุปสรรคเท่าไร เพราะไม่ได้ทำเกินความสามารถที่ร่างกายทำได้ แต่อาจมีอุปสรรคเรื่องเวลา เพราะทำคนเดียว และใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำมาทำขนม"
การบริหารเวลาคือสิ่งสำคัญ :
แม้ปัจจุบันพายุจะทำขนมขาย แต่นี่เป็นเพียงอาชีพเสริม เพราะอาชีพหลักยังคงเป็นพนักงานประจำ แต่เมื่อหนทางสร้างรายได้มีมากกว่าหนึ่ง สิ่งที่เขาต้องบริหารจัดการให้ดีก็คือ 'เวลา'
"การบริหารเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผมยังทำงานประจำด้วย ต้องวางแผนตลอดว่า ถ้าจะทำขนมต้องเริ่มทำกี่โมงถึงกี่โมง อย่างทุกวันนี้ จะให้เวลากับการทำขนมช่วงหลังจากเลิกงาน ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน"
พายุ เล่าวิธีแบ่งเวลาให้เราฟังว่า เราพยายามแบ่งรอบส่ง ให้เวลาตัวเองในการรวมออเดอร์ แล้วค่อยทำรอบเดียว อาทิตย์หนึ่งอาจจะส่งขนมสองครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเวลาทำออเดอร์ช่วงเสาร์-อาทิตย์มากกว่า แต่สมมติถ้าต้องส่งขนมวันธรรมดา ก็จะออกไปส่งให้ลูกค้าช่วงพักกลางวัน
"พอรับออเดอร์มา จะนับดูว่าออเดอร์มีเท่าไร เพื่อจะได้เตรียมของถูก ถ้ามีลูกค้าทักมาหลังจากปิดรับออเดอร์แล้ว ก็จะนัดเขาไปอีกรอบหนึ่ง เมื่อสรุปยอดเรียบร้อย ก็จะวางแผนทั้งหมดว่าต้องทำอะไรบ้าง ไล่ไปหนึ่ง สอง สาม"
สมมติว่ารอบนี้จะส่งขนมวันเสาร์ สักวันวันพฤหัสฯ ผมก็จะกวนไส้ เสร็จแล้วปั้นเป็นก้อนกลมแช่ช่องฟรีซไว้ อย่างการกวนไส้ ก็ต้องไล่ดูว่าจะกวนอะไรก่อนหรือหลัง ใช้เวลาอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด เพราะเราทำบ่อย เลยจะรู้อยู่แล้วว่าไว้หนึ่งใช้เวลาประมาณกี่นาที
"ที่ต้องพยายามใช้เวลาให้คุ้ม เพราะยังมีงานประจำด้วย ดังนั้น จึงต้องแบ่งเวลาไม่ให้กระทบเวลาพักผ่อน เพราะสุดท้ายยังต้องตื่นไปทำงานอยู่ดี" พายุ กล่าวกับเรา
ทีมข่าวฯ ถามปลายสายว่า เห็นว่าทำทุกกระบวนการด้วยตัวคนเดียว เคยทำสูงสุดวันหนึ่งกี่ลูก?
"สูงสุดวันนึงประมาณ 50 กล่อง กล่องนึงมี 6 ลูก ก็ประมาณ 300 ลูก จริงๆ แล้วผมไม่ได้ทำเองแค่ขนม แต่ทำคนเดียวทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบโลโก้ ออกแบบรูปลงเพจ ออกแบบเพจ ทำขนม กวนไส้ พยายามบริหารจัดการให้หมดภายในเราคนเดียว"
จากเปี๊ยะลาวา สู่ เปี๊ยะแป้งนุ่ม :
แม้ว่า 'เปี๊ยะลาวา' จะเป็นสารตั้งต้นธุรกิจร้านขนมของพายุ แต่มันกลับมีปัญหาบางอย่าง ทำให้เขาต้องปรับสูตรที่เรียนมา และพัฒนาขนมขึ้นมาใหม่ ซึ่งเขาขนานนามว่า 'เปี๊ยะแป้งนุ่ม'
"ตอนนั้นเปี๊ยะลาวาขายดีมากๆ แต่มีปัญหาเรื่องของการขนส่ง เพราะตัวขนมเมื่อโดนกระแทกเยอะๆ จะทำให้ขนมเละ ผมเลยคิดดูว่าจะทำขนมเปี๊ยะแบบไหนดี ที่มารองรับเปี๊ยะลาวาได้ เลยพัฒนาและปรับปรุงสูตรแป้ง ให้เป็นขนมเปี๊ยะแป้งนุ่ม และเปลี่ยนไส้ข้างในที่เป็นลาวา เป็นไส้ถั่วไข่เค็ม ไส้มันม่วง ไส้เผือก ซึ่งเวลาส่งไปต่างจังหวัดมันก็ไม่ค่อยมีปัญหา"
เหตุผลอีกอย่าง คือ เปี๊ยะแป้งนุ่มไม่ต้องมานั่งรีดแป้ง แต่เปี๊ยะลาวาผมต้องนั่งรีดแป้งตลอด การพัฒนาสูตรตรงนี้เลยทำให้ร่นเวลาในการทำได้ ไม่เป็นภาระของเรามากเกินไป และไม่เกินที่ร่างกายจะรับไหว หากต้องนั่งทำเป็นร้อยลูกด้วยตัวคนเดียว และมือข้างเดียว
ปัจจุบัน เปี๊ยะแป้งนุ่มของพายุ จะมี 4 ไส้ ได้แก่ ถั่วกวน ถั่วไข่เค็ม เผือก และมันม่วง ส่วนเปี๊ยะลาวามี 3 ไส้ คือ ไข่เค็มลาวา ไข่เค็มฝอยทองลาวา และไส้ช็อกโกแลตลาวา
ถึงอย่างนั้น พายุยังคงพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เขามีเป้าหมายที่จะต่อยอดธุรกิจนี้ให้ยิ่งใหญ่ มีฝันที่ยังอยากทำอีกมากมายในวงการขนม เช่น "ตอนนี้ที่อยากทำและไม่เคยทำก็คือขนมเค้ก เพราะการบีบวิปปิ้งครีมหรือบัตเตอร์ครีม มันต้องใช้สองมือ จริงๆ อยากลองมากยังไม่มีโอกาส แต่วันหนึ่งจะต้องทำให้ได้"
อยากส่งต่อพลังบวกผ่านคลิปทำขนม :
พายุ เผยกับเราว่า แต่ก่อนเป็นคนขี้อายมาก และไม่อยากจะเอาความพิการของตัวเองออกสื่อ เพราะไม่อยากให้ใครรู้สึกว่าเอาความพิการมาหากิน เราเลยไม่ค่อยนำเสนอในด้านความพิการของตัวเอง แต่เมื่อได้เห็นคนพิการคนอื่นแสดงความสามารถ แล้วมันสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ เลยทบทวนตัวเองใหม่ว่า ถ้าเราลองทำ เราอาจจะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ และแรงบันดาลใจให้กับผู้คนเป็นพันเป็นหมื่นได้ ก็เลยลองสร้างคลิปใน TikTok ขึ้นมา
หลังจากพายุทำคลิปผ่านไปช่วงหนึ่ง เขาก็มักจะเห็นคอมเมนต์ประมาณว่า "เห็นพี่พายุทำขนมแล้วมีกำลังใจเลย" หรือ "เห็นคลิปนี้แล้วมีกำลังใจในการใช้ชีวิต" สิ่งเหล่านั้นทำให้ชายผู้นี้มีความสุข "มันทำให้เรามันทำให้เรารู้ว่า เราสามารถเป็นพลังเล็กๆ ในการขับเคลื่อนแรงใจให้ผู้คนได้ ถ้าเราอยากจะทำจริงๆ"
"มีครั้งหนึ่งที่เคยไลฟ์ใน TikTok มีน้อง ป.1 คนหนึ่งเข้ามาดู เขาพิมพ์บอกว่า ได้ดูคลิปเราแล้วมีแรงบันดาลใจมากๆ อันนี้มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปไม่สูญเปล่า เป็นการชาร์จพลังงานพลังงานให้ตัวเราอยากทำคลิปต่อไป"
"บางคนมีร่างกายครบ 32 แต่วันหนึ่งเขาอาจจะท้อจากการทำงาน ท้อกับชีวิต ท้อจากสังคมต่างๆ เมื่อเขาเห็นคลิปเราที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ยืนทำขนม มันอาจเป็นพลังบวก เป็นแรงกระเพื่อม ทำให้เขามีพลังใจในการดำเนินชีวิต"
ก่อนการสนทนาจะจบลง พายุ-ทศพล หรพูล ฝากข้อความทิ้งท่านถึงคุณผู้อ่านทุกคนว่า อยากเป็นพลังใจให้กับทุกคน รวมถึงคนพิการที่อาจจะกำลังท้อ ผิดหวัง และคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้แล้ว อยากให้สู้ๆ เปลี่ยนมุมมองความคิด เปลี่ยนความท้อให้เป็นพลังงานที่ดีเพื่อผลักดันตัวเอง
"เรายินดีที่จะแบ่งปันองค์ความรู้การทำขนมให้ทุกคน ที่อยากมีอาชีพสร้างรายได้ โดยเฉพาะคนพิการ ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง สามารถทักมาสอบถามได้ ซึ่งเราอาจจะบอกเฉพาะกระบวนการ แต่ถ้าเป็นสูตรเป๊ะๆ คงบอกได้ไม่หมด บอกได้บางส่วนและให้เขานำไปต่อยอดกันเอง ส่วนการจะต่อยอดได้มากน้อยเท่าไรก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล"
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2802496