เครือข่ายป้องกัน ‘ความพิการแต่กำเนิด’ ในจีนพัฒนาดีขึ้น
ปักกิ่ง, 21 ก.ค. (ซินหัว) — การประชุมทางวิชาการว่าด้วยความร่วมมือและการสื่อสารเกี่ยวกับโรคหายากเมื่อวันเสาร์ (20 ก.ค.) รายงานว่าจีนได้เสริมสร้างระบบป้องกันความพิการแต่กำเนิด ทำให้ปัจจุบันมีหน่วยงานตรวจคัดกรองก่อนคลอดมากกว่า 4,000 แห่ง และหน่วยงานตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์มากกว่า 3,000 แห่ง
เสิ่นไห่ผิง รองหัวหน้าแผนกสุขภาพแม่และเด็ก สังกัดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน ระบุว่าจีนมีสถาบันวินิจฉัยโรคก่อนคลอดสูงเกิน 500 แห่ง และศูนย์ตรวจคัดกรองโรคในทารกแรกเกิด 259 แห่ง รวมถึงปัจจุบันมีการจำแนกความพิการแต่กำเนิดกว่า 8,000 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคหายาก
“การเสริมสร้างการป้องกันและรักษาความพิการแต่กำเนิดถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการปรับปรุงการวินิจฉัยและการรักษาโรคหายากให้ดีขึ้น” เสิ่นกล่าว
จีนได้รวมการป้องกันความพิการแต่กำเนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญในโครงร่างจีนสุขภาพดี ปี 2030 (Outline of Healthy China 2030) และออกเอกสารหลายฉบับเพื่อชี้นำสถาบันการแพทย์ในการให้บริการป้องกันความพิการแต่กำเนิดอย่างเท่าเทียม เข้าถึงได้ มีคุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมณฑล 24 แห่ง เปิดให้บริการตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมณฑล 23 แห่ง เปิดให้บริการตรวจคัดกรองก่อนตั้งครรภ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยอัตราการตรวจคัดกรองก่อนคลอดในจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91.3 เนื่องด้วยการยกระดับการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และช่วยเหลือก่อนคลอด
เสิ่นกล่าวว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีสาเหตุจากความพิการแต่กำเนิด ต่างลดลงมากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับห้าปีก่อน โดยจีนจะเดินหน้าปรับปรุงการป้องกันและรักษาความพิการแต่กำเนิด ตลอดจนยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคหายาก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อยากมีลูกหลานสุขภาพแข็งแรงให้ดียิ่งขึ้น