สร้างองค์พญาครุฑ ช่วยการศึกษา มอบเลนส์แก้วตาเทียมให้ผู้พิการทางสายตา สร้างเทวสถานองค์เทพ
ประเทศไทยมีวัฒนธรรมและวิถีหัตถกรรมอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์และควรค่าแก่การรักษาไว้ ทว่าจะต่อยอดอย่างไรให้เป็นที่นิยมอินเทรนด์ไม่ล้าสมัยใช้ได้จริงตอบโจทย์ตรงใจคนไทยทุกรุ่น จนกลายเป็นที่มาของสินค้าภายใต้แบรนด์ กุ๊ด กุ๊ดส์ (good goods)
สินค้าภายใต้แบรนด์ กุ๊ด กุ๊ดส์ (good goods) แหล่งรวมสินค้าผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาคนไทยสืบสานต่อยอดด้วยการเพิ่มคุณค่างานหัตถกรรม โดย ‘เซ็นทรัล ทำ’ ที่เข้าไปพัฒนารูปแบบสินค้า ถ่ายทอดงานดีไซน์ให้ดูร่วมสมัย เป็นที่ต้องการของคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ก่อให้เกิดความยั่งยืนในแต่ละชุมชนตั้งแต่เหนือจรดใต้
สินค้าแนะนำอย่างเช่น ตะกร้าสานพลาสติก สีสันสดใส ฝีมือคนพิการ จังหวัดอุดรธานี เสื้อเชิ้ตทรงฮาวาย ผลิตจากผ้าไหมอิตาลี ออกแบบโดยศิลปินกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษจากมูลนิธิ ณ กิตติคุณ สินค้าคอลเลคชั่น Disco Agave แรงบันดาลใจจาก ป่านศรนารายณ์ สู่ผลิตภัณฑ์ที่ชวนให้ Feel Good ของชาวหุบกะพง มีทั้งหมวก กระเป๋า และ เซตที่รองจาน สินค้ากลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง กาแฟภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงความเป็นมาว่า “ทางเซ็นทรัลกรุ๊ปตั้งแต่สมัยคุณปู่ คุณลุง คุณพ่อ เริ่มตั้งแต่เซ็นทรัลลาดพร้าว ผลิตภัณฑ์ที่ Supplier เอาของมาส่งเราก็จะช่วย แนะนำให้พัฒนาโดยบอกความต้องการของลูกค้าให้ เขาก็จะไปปรับปรุงแล้วทำให้ขายดีขึ้น สมัยก่อนโน้น 70 กว่าปีเมืองไทยมีสินค้าอยู่ไม่กี่แบรนด์ พอทำธุรกิจขยายใหญ่เริ่มไปยังจังหวัดต่างๆ คอนเซ็ปต์เราก็คือต้องดูแลคนในจังหวัดนั้น สมัยก่อนทำหลายอย่างเยอะมาก
หลังๆเรามาโฟกัสในสิ่งที่เราชำนาญ เช่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยเรื่องเกษตรกร ดูเรื่องSmall SME ในส่วนลดการเหลื่อมล้ำ เราก็จะดูเรื่องการศึกษา พอลงพื้นที่ก็จะเจอเรื่องขยะก็เลยไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คิดว่าเราเริ่มสอนจากเด็กเล็กดีกว่า กลับไปบ้านเขาจะไปช่วยสอนพ่อแม่โดยเฉพาะเรื่องของการแยกขยะ บางโรงเรียนแยกขยะเอาไปขายได้เดือนละ 2,000 บาทก็มีเก็บขยะที่โรงเรียนด้วยไปเก็บที่ตลาดด้วยแทนที่ผู้ใหญ่จะสอนเด็กกลายเป็นเด็กไปสอนผู้ใหญ่ ท้ายสุดก็คือเราไปดูแลศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดนั้นๆ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วยเป็นอะไรที่ภาคภูมิใจ”
เกี่ยวกับเรื่องของผลิตภัณฑ์ คุณเต้ง-พิชัย เล่าว่า ลงพื้นที่จังหวัดตรัง ไปพบ ผ้าทอนาหมื่นศรี เสียดายที่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ให้ความสนใจ จึงคิดส่งเสริมโดยสร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าในท้องที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวปลุกกระแสคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น“พอเราเดินทางก็ได้ไปเห็นของดีในหลายๆจังหวัด ก็เลยคิดถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสว่า เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า สอนเขาจับปลาจะยั่งยืนกว่าเวลาเราลงไปจะไปกันเป็นทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ การดีไซน์ คำนวณต้นทุน การตลาดหาคนมาซื้อ การโฆษณาติดต่อสื่อสาร
ยกตัวอย่างเช่นทองม้วน(แม่รำไพ)เจ้านี้มาจากจังหวัดอุดร ทำอร่อยแต่ไม่มีที่ขายแรกๆขายได้วันละ 300-500ทบาท ตอนนี้ขายได้วันละ 3,000 บาท ก่อนโควิดขายได้วันละ 5,000 บาท สำเร็จแล้วก็น่าจะเปิดสาขา 2-3 ได้ เริ่มจากรากหญ้ามาเป็น SME ขนาดเล็กเราก็จะช่วยดูว่าจะพัฒนาเป็น แฟรนไชส์ได้ไหม ส่วนมากเริ่มจากทำของอร่อย เหมือนเกษตรกรทำได้ดีอยู่แล้ว แต่คำนวนต้นทุนไม่เป็น ไปช่วยดูระบบการเงิน ทำอย่างไรไม่สร้างหนี้เพิ่ม ดูแลตัวเองยังไง ผ่อนหนี้ยังไง จะขยายสาขาได้ไหมตรงนี้เราก็เข้าไปช่วยดูให้”
คุณพิชัยกล่าวถึงสินค้าไฮไลท์ มีทั้งผ้าทอนาหมื่นศรี ผ้าย้อมครามสกลนคร ผลิตภัณฑ์ผ้าจากเด็กออทีสติคเชียงใหม่ ภาพวาดจากเด็กออทีสติคกรุงเทพฯ(มูลนิธิ ณ กิตติคุณ) ในร้านยังมีมุมกาแฟ บริการเครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็น กาแฟภูชี้เดือน เป็นกาแฟออแกนิคจากภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย โดยสมัยก่อนเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น และข้าวโพด ในหลวงรัชกาลที่ 9 แนะให้ปลูกป่าแบบผสมผสาน ปลูกพืชที่ทำเงินเช่นกาแฟ ได้ผลิตที่ดีมาก
“ตะกร้าสานพลาสติกจากคนพิการที่เขานั่งวีลแชร์ คนพิการ คนชรา ที่จังหวัดอุดร ความจริงเราให้เขาเลี้ยงไก่ไข่รายได้ดี เวลาเขาอยู่บ้านก็จะเป็นภาระให้ลูกหลานคอยดูแล พอได้ทำงานแบบนี้เขาจะได้อยู่กันเป็นสังคมมีเพื่อนก็จะแฮปปี้ ลูกหลานแค่มารับมาส่ง พอเลี้ยงไก่ก็จะมีเวลาว่างมาก ก็เลยไปซื้อพลาสติกมาออกแบบให้เขาหัดสานเป็นตะกร้า ดีไซน์เนอร์เราก็จะไปช่วยดูเรื่องสีเรื่องแบบ คนพิการเราจะมีหลายจังหวัดส่วนมากจะให้เลี้ยงไก่ไข่โดยร่วมมือกับเบทาโกร”
นอกจากนั้นยังมีสินค้าคอลเลคชั่นพิเศษระหว่างแบรนด์แฟชั่นผู้ชายอารมณ์ศิลป์ PAINKILLER Atelier และ good goods เป็นผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ จากจังหวัดเพชรบุรี ถักทอเป็นกระเป๋าทรงเก๋(แผ่นเสียงกลมๆ) แผ่นรองจาน หมวกกันแดดพับเก็บได้ กระเป๋าใส่เศษเหรียญ ฯลฯ มีผลิตภัณฑ์จากเตยปาหนัน (สาหร่ายทะเลประเภทหนึ่ง) ฟอกแล้วถักทอเป็นกระเป๋า
“อย่างที่บอกเราไปจังหวัดไหนก็จะดูแลคนในจังหวัดนั้นด้วย เซ็นทรัลเราไปเปิดสาขา 36 จังหวัดแล้วเช่นเพชรบูรณ์มีมะขาม ผัก และผ้า ทุกอย่างอาจจะไม่ได้อยู่ร้านนี้หมด จะมีใน ท็อปส์ (Top Supermarket)เราเป็นสินค้าดีไซน์ กาแฟ ขนม เราอยากให้แบรนด์เราดัง อยากขยายสาขาแต่ว่าตอนนี้เพิ่งเริ่ม เป็นไปได้ก็อยากจะเป็นจิม ทอมป์สัน หรือนารายา(Naraya) แต่คอนเซ็ปต์แตกต่างกันอยู่แล้วไม่ใช่คู่แข่งกัน อยากฝากทุกท่านลองแวะมาที่ร้าน ทุกชิ้นมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ ได้ช่วยเหลือชุมชน เพราะรายได้ทั้งหมดสะท้อนกลับไปยังชุมชุน
เราเองจดทะเบียนเป็นบริษัทเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) วันหนึ่งถ้าเราไม่อยู่แล้วก็อยากให้บริษัทนี้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ผมคิดว่าการที่เราสอนเขา ก็เหมือนเป็นการสอนตัวเองไปด้วย เพราะเราอยากให้ทุกคนช่วยกันคิด อยากให้ช่วยสังคมคนละนิด คนละหน่อย ประเทศเราก็คงจะลดความเหลื่อมล้ำไปได้เยอะ จุดมุ่งหมายของเราอยากพัฒนาสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก อย่างผ้าไทยเราสวยมาก แต่อาจจะขาดเรื่องงานดีไซน์ ผมอยากให้คนไทยนิยมสินค้าไทย และคนต่างชาติก็นิยมของเราด้วย” กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัลกล่าวทิ้งท้าย
อยากมีกุ๊ด กุ๊ดส์ สักชิ้น ต้องทำอย่างไร ไม่ยากเลยเขามีจำหน่ายในรูปแบบออมนิแชแนล ได้แก่ร้านมัลติแบรนด์สโตร์ ‘กุ๊ด กุ๊ดส์’ (good goods) มีสินค้าทั้ง Food และ Non-Food ณ ชั้น 1 โซน Dazzle ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และป๊อปอัพสโตร์ตามที่ต่างๆ และจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม เจดี เซ็นทรัล หรือสั่งผ่านแชทไลน์ @aboutgoodgoods นับเป็นการมอบช่องทางการขายให้กับสินค้าชุมชนหรือผู้มีพรสวรรค์แต่มีข้อจำกัดทางร่างกายเป็นอย่างดี ติดตามรายละเอียดสินค้าผ่าน IG และ FB @aboutgoodgoods หรือ #aboutgoodgoods