สำนักงานการวิจัยแห่งชาติหนุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนา “รถเข็นคนพิการ”
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการนำร่องและต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้งาน : รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนโดยไม่ใช้ไฟฟ้าว่า รถเข็นเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมากสำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ป่วยอัมพาตบางส่วนที่ขยับร่างกายเองได้บ้าง แต่ลุกยืนเพื่อประกอบกิจวัตรไม่ได้ จึงได้ผลิตรถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อช่วยยืนในการทำกายภาพบำบัด โดยการเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งมาเป็นการยืนเพื่อช่วยลดปัญหาทางสุขภาพของผู้ใช้ เช่น การบรรเทา แรงกดทับที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลเปื่อย การทำให้ไตและระบบกระเพาะปัสสาวะทำงานได้ปกติ การเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกโดยป้องกันกระดูกพรุน การเพิ่มระบบการไหลเวียนโลหิตที่ดีกว่า และการปรับปรุงระบบหายใจให้ดีขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ คุณสมบัติของรถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตลุกยืนด้วยตัวเองอย่างมั่นคง มีที่ล็อกขาและลำตัวทำให้ไม่หกล้ม และไม่ต้องอาศัยมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยปรับยืน โดยผู้ป่วยจะใช้กำลังแขนตัวเองปรับยืน ราคาไม่แพง
ผศ.ดร.บรรยงค์กล่าวต่อว่า รถเข็นคนพิการได้เป็นสตาร์ตอัพแล้วโดยบริษัทซีเมด เมดิคอล ผลิตไปได้แล้วกว่า 500 ตัว ล่าสุดศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้สั่งซื้อเพื่อนำไปใช้งาน รวมทั้งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นต้น
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช.กล่าวว่า งานวิจัยเพื่อคนพิการที่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตของคนพิการเป็นไปแบบคนปกติ ทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย.