ศธ.ผนึก กสศ. ป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ ช่วย นร.ยากจน-พิการ-ด้อยโอกาส
ศธ.ร่วม สช. ผนึก กสศ. เดินหน้าป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ นำนวัตกรรมคัดกรองเด็ก ขยายการช่วยเหลือนักเรียนยากจน-พิการ-ด้อยโอกาส สังกัดเอกชนโรงเรียนสายสามัญ 3.9 พันแห่ง
วันที่ 18 พ.ย. 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การวิจัยพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายดีที่ทำความร่วมมือกันระหว่าง ศธ.และกสศ. ขับเคลื่อนระบบการศึกษา โดย 1.สนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรงบประมาณแบบมีเงื่อนไข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้การช่วยเหลือนักเรียนยากจน 2.ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ และด้อยโอกาส ให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ 3.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนยากจน นักเรียนพิการและด้อยโอกาส เพื่อลดความเลื่อมล้ำ ในการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน และประสิทธิภาพครูของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
“โรงเรียนเอกชนมักจะถูกมองว่า เด็กมักจะมีฐานะดี แต่ในข้อเท็จจริงโรงเรียนเอกชนยังมีเด็กที่ด้อยโอกาสและผู้พิการ และครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้ใช้แอปพลิเคชันของกสศ. ที่มีมาตรฐานและได้ใช้มาในทุกระบบของการศึกษา ครั้งนี้จำนวนอาจจะยังไม่ได้เข้าเป้ามากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กระทรวงศึกษาธิการจะรับไปปรับปรุงเพื่อให้เข้าถึงสถานศึกษาจำนวนมากขึ้น โอกาสต่อไปก็ คือ นักเรียน ครู และสถานการศึกษา จะได้รับความร่วมมือจาก กสศ. เพื่อพัฒนาระบบการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษา คือ พัฒนาระบบการศึกษาให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะพื้นที่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ยากไร้” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ดร.กนกวรรณ กล่าวด้วยว่า ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ต้องเรียนอย่างยากลำบาก ครูจึงต้องหาวิธีการให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ในส่วนของการเรียนแบบ On-Site และ On-Hand ต้องทำด้วยความยากลำบาก เพราะต้องทำควบคู่กับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังหาช่องทางให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมด้วย ซึ่งนับเป็นความเสียสละและความท้าทายของผู้บริหารและครูของโรงเรียนเอกชน จึงอยากขอบคุณจากใจ สำหรับผู้ปกครองบางรายมีจำนวนมากที่เกิดภาระจากการว่างงาน เป็นข้อจำกัดของสภาพครอบครัวส่งผลไปยังบุตรและลูกหลานในปกครอง วันนี้จึงเป็นวันสำคัญที่เราจะมาร่วมพัฒนาอนาคตที่สดใดของเด็กด้อยโอกาสให้มีความสุขมากขึ้น จึงอยากให้การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างศธ.และกสศ. บรรลุวัตถุประสงค์
นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เด็กยากจนจำนวนมาก มีชีวิตที่ยากลำบากจนทนไม่ไหว ต้องหลุดจากระบบการศึกษา กสศ.ทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายสังกัดเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้มากกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรากังวล แม้ยังไม่หลุดจากระบบการศึกษา แต่ถ้ามาโรงเรียน ท้องยังหิว เดินทางด้วยความยากลำบาก หรือได้รับการเรียนการสอนไม่ตรงกับการใช้ประโยชน์ในชีวิต กสศ.จึงจัดงบประมาณลักษณะเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือด้านอาหารเช้า การเดินทาง การจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้ตรงกับประโยชน์ที่นักเรียนจะใช้ได้จริง
นพ.สุภกร กล่าวว่า การช่วยเหลือนักเรียนยากจนกลุ่มนี้ กสศ.เริ่มจากเด็กๆ ในสังกัด สพฐ. ซึ่งมีนักเรียนยากจนมากที่สุด และมีความพร้อมของข้อมูล และได้ขยายไปสู่สังกัด อปท. ตชด. ยังเหลือสังกัดที่ยังไม่ครอบคลุมอีก หนึ่งในนั้นคือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. กสศ.จึงพยายามต่อสู้เรื่องงบประมาณมาอย่างน้อย 3 ปี ในปีนี้มีโอกาสเริ่มต้นดำเนินการร่วมกับ สช.เป็นปีแรก การดำเนินงานจะมีเงื่อนไข คือ การใช้เครื่องมือการคัดกรองความยากจนด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ของ กสศ. เพื่อให้รัฐบาล รัฐสภา สำนักงบประมาณ มั่นใจว่าสนับสนุนงบประมาณถูกคน ยากจนจริง ทั้งนี้ความร่วมมือยังนำมาสู่การเชื่อมต่อระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สช.กว่า 3,902 แห่ง
นพ.สุภกร กล่าวต่อว่า ในปีแรก กสศ.จะเริ่มต้นทำงานกับโรงเรียนเอกชนประเภทการกุศล 566 แห่ง จากการคัดกรอง สามารถช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค สังกัด สช. ได้จำนวน 2,500 คน ที่จะได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข คนละ 3,000 บาท/ปี เพื่อบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน ค่าครองชีพ ค่าอาหารเช้า พร้อมทั้งมีระบบติดตามการมาเรียน ผลการเรียน และการเจริญเติบโตของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการสนับสนุนอาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เราเชื่อว่าอาจมีจำนวนนักเรียนที่ยากลำบากมากกว่านี้หลายเท่า ซึ่งรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าจะต้องมีการสำรวจ คัดกรองเร็วขึ้น เพื่อสามารถจัดทำงบประมาณช่วยเหลือนักเรียนกว้างขวางขึ้นในปีถัดไป ความร่วมมือครั้งนี้ กสศ.ยังสนับสนุนโรงเรียนสังกัด สช. เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองรุ่นที่ 2 ประมาณ 27 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนที่จะได้รับประโยชน์และยกระดับคุณภาพการศึกษาจำนวน 10,000 คน ในการหาวิธีการจัดการเรียนการสอน สอดคล้องกับความจำเป็นในชีวิตของเด็ก และสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ ของกระทรวงศึกษาธิการ
“ข้อจำกัดของการช่วยเหลือเป็นรายคน คือ ถ้างบประมาณหมด หรืองบประมาณน้อย จะเป็นปัญหาอุปสรรคมาก กสศ.จึงพยายามทำงานกับหน่วยงานเจ้าภาพหลัก เน้นงานวิจัยพัฒนาระบบงานไปด้วย เพื่อช่วยเหลือลดอุปสรรคเฉพาะหน้า และสนับสนุนงานวิชาการ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่าต้องมีการแก้ไข โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ที่นักเรียนส่วนใหญ่ยากจน” นพ.สุภกร กล่าว
ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดสามปีที่ กสศ.กำเนิดขึ้นมา เป็นการเติมเต็มช่องว่างในสังคมไทย เปลี่ยนชีวิตเด็กให้เป็นบุคคลสำคัญ ขับเคลื่อนประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตามนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษามีความด้อยโอกาสที่แตกต่างกันส่วนหนึ่งจากสภาวะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 ทำให้มีการย้ายถิ่นฐาน ผู้ปกครองว่างงาน ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กไทย ทำให้มีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่พบว่าศึกษาต่อในระบบ เป็นเด็กต้องหล่นประมาณ 43,000 คน โดยขณะนี้เหลืออีกราว 20,000 กว่าคนที่กระทรวงศึกษากำลังเร่งรัดติดตาม ซึ่งเรามีชื่อเด็กทุกคน เพื่อให้เข้าสู่การศึกษาในระบบ หรือการศึกษานอกระบบ หรือเรียนอาชีวะ
ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า การสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ สช.มีฐานข้อมูลความยากจนของนักเรียนที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อให้ สช.นำข้อมูลไปใช้ ในการขอรับงบประมาณประจำปี สำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากปัญหาความยากจน ด้อยโอกาสได้ดีขึ้น นอกจากนี้ สช.และ กสศ.ยังมุ่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teacher and School Quality Program: TSQP ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการโรงเรียน และการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21.