ลดหย่อนภาษีปี 2564 เช็คสิทธิมีอะไรลดหย่อนได้บ้าง รวบรวมให้แล้วที่นี่

ลดหย่อนภาษีปี 2564 เช็คสิทธิมีอะไรลดหย่อนได้บ้าง รวบรวมให้แล้วที่นี่

ลดหย่อนภาษีปี 2564 เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีปี 2565 มาเช็คดูกันว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้างและได้เท่าไร รวบรวมมาให้แล้วที่นี่

ใกล้สิ้นปีก็จะเข้าสู่ช่วงการยื่นแบบเสียภาษี ผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 ต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป และใกล้สิ้นปีก็จะใกล้สิ้นสุดการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเช่นกัน

"ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" จึงได้รวบรวมสิทธิในการลดหย่อนภาษีปี 2564 สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้างและได้เท่าไร อย่างน้อยในช่วงเวลาที่เหลือ 1 เดือน ก็ยังสามารถวางแผนทางการเงินเพื่อประหยัดภาษี และเตรียมพร้อมก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2565 ซึ่งได้รวบรวมครบให้แล้วที่นี่ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

1.ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

2.ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (คู่สมรสต้องไม่มีรายได้ )

3.ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาทต่อคน

จะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20 ปี - 25 ปีและกำลังศึกษาอยู่ ในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ และในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

หากเป็นบุตรตามกฏหมายสามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน

หากเป็นบุตรบุญธรรมสามารถลดหย่อนได้เพียง 3 คนเท่านั้น

หากบุตรตามกฎหมายเกิน 3 คนไม่สามารถนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้

หากจะนำทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรมมาลดหย่อน ให้นำบุตรตามกฎหมายมาลดหย่อนก่อน

4.ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง สำหรับเด็กแฝดลดหย่อนได้แค่ 60,000 บาท เพราะถือเป็นการตังครรภ์ครั้งเดียว

สามี - ภรรยาจะต้องตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนนี้

หากยื่นภาษีและเสียภาษีร่วมกัน ผู้ที่ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 60,000 บาท

หากนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

เงื่อนไข : หักตามค่าใช้จ่ายจริงทั้งค่าตรวจครรภ์ ค่าฝากครรภ์ ค่าทำคลอด ค่าบำบัด ค่าพักฟื้นในโรงพยาบาล

5.ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท

6.ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน

เงื่อนไข : ผู้ทุพพลภาพต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และผู้มีรายได้จะต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฏหมายว่าด้วย “การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน

ลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน

1.เงินส่งสมทบประกันสังคม สำหรับในปี 2564 นี้ สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 5,100 บาท จากเดิมที่ลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท ( เนื่องจากปี 2564 มีการปรับลดเงินนำส่งสมทบประกันสังคม เพื่อลดภาระในช่วงโควิด-19 ถึง 3 รอบ คือ รอบเดือนมกราคม เหลือ 3% ,รอบเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม เหลือ 0.5% และรอบเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน เหลือ 2.5% )

2.ประกันชีวิต ประกันแบบสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงื่อนไข :

ประกันสุขภาพ ต้องไม่เกิน 25,000 บาท

เป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย

3.ประกันสุขภาพของบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

เงื่อนไข :

บิดา – มารดา ต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีที่หักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

4.เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

เงื่อนไข :

ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป

เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย

จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

ลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุน

( ข้อ 1- 5 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ) ประกอบด้วย

1.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท

2.กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

4.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

5.เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

ค่าลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัย

ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

1.เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

2.เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

3.เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ขอบคุณ... https://www.thansettakij.com/money_market/504529

ที่มา: thansettakij.com /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 28 พ.ย.64
วันที่โพสต์: 29/11/2564 เวลา 11:32:13 ดูภาพสไลด์โชว์ ลดหย่อนภาษีปี 2564 เช็คสิทธิมีอะไรลดหย่อนได้บ้าง รวบรวมให้แล้วที่นี่