สิทธิประโยชน์ ‘บัตรทอง’ ขยายเพิ่มอีกได้ ถ้าทุกคนเข้ามาช่วยกันเสนอ
แม้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะครอบคลุมบริการที่เกี่ยวข้องรักษาพยาบาลเกือบครบทุกกลุ่มโรคแล้ว
หากแต่ชุดสิทธิประโยชน์ (Benefits package) ซึ่งเป็นตัวกำหนดขอบเขตว่าบริการด้านสุขภาพใดบ้างที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ ก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับองค์ความรู้-เทคโนโลยี-นวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่จะอุบัติใหม่ขึ้นอีกในอนาคต
ภายใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำเสียงสะท้อนเหล่านั้นกลับมาสรุปและนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการ โดยเฉพาะ “การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์”
เพื่อให้ภาพของกลไกการมีส่วนร่วมชัดเจนขึ้น “The Coverage” ได้ย้อนรอยชุดสิทธิประโยชน์ “การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง และอุปกรณ์ประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี” ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการ “เสนอหัวข้อพัฒนาสิทธิประโยชน์” ในการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติประจำปี
การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดฯ ได้ผ่านขั้นตอนการเสนอหัวข้อ ผ่านกระบวนการวิจัยถึงความคุ้มค่า-เหมาะสม กระทั่งได้รับการบรรจุให้เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในระบบบัตรทองในปี 2564
ความพิการอันดับที่ 3 ของโลก
เด็กในช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิต การได้ยินถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูด และพัฒนาการด้านภาษา เมื่อเป็นเช่นนั้นเด็กที่มีความผิดปกติด้านการได้ยินจะสูญเสียโอกาสมากมายในการพัฒนาการพูด การเข้าสังคม การเรียน ภาษา รวมถึงเสียโอกาสอื่นๆ ในสังคม
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2555 ความผิดปกติทางการได้ยินยังเป็นความพิการที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยพบว่ามีประชากรโลกที่พิการทางการได้ยิน จำนวน 360 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.3 จากประชากรโลกทั้งหมด 7,000 คน
ในจำนวนนี้พบว่า ร้อยละ 9 เป็นความพิการที่เกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งร้อยละ 60 ของเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยินนั้นเกิดจากความผิดปกติที่สามารถป้องกันได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
ในประเทศไทยมีนโยบายการคัดกรองการได้ยินมาตั้งแต่ ปี 2533 แต่ก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น ทรัพยากรทางการแพทย์ในแต่ละพื้นที่ ความตระหนักถึงความสำคัญของการคัดกรอง รวมไปถึงระบบติดตามผล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) บอกว่า จากรายงานการศึกษาความชุกของการสูญเสียการได้ยินในประเทศไทยพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 0.2-0.5 และจากผลการศึกษาโครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในเด็กทารกแรกเกิดปกติ พบอัตราความพิการทางการได้ยิน 1.7 ต่อเด็กแรกเกิด 1,000 คน ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ยังพบว่าเป็นผู้พิการทางการได้ยินระดับหูตึงรุนแรงถึงหูหนวก
ที่สุดแล้ว ที่ประชุม บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ได้มีมติเห็นชอบบรรจุสิทธิประโยชน์ รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ ที่คาดว่าจะมีกลุ่มป้าหมายที่ต้องรับการรักษาราว 33 คน
รวมไปถึงเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองการได้ยินในกลุ่มเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยงให้เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 เป็นการคุ้มครองคุณภาพชีวิตเด็กไทยที่มีปัญหาการได้ยิน ให้ได้รับการรักษาแรกเริ่มตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย เช่นกัน
สำหรับการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสียงนั้น กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คน ประมาณค่าใช้จ่ายไว้ 12.33ล้านบาท ครอบคลุมการตรวจได้ยิน 2 รายการ
คือ 1. การตรวจคัดกรองด้วยการวัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน (OAE) โดยใช้เครื่องมือใช้วัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน เพื่อตรวจสอบการทำงานของเซลล์ประสาทว่าปกติหรือไม่ และ 2. การตรวจได้ยินระดับก้านสมองแบบคัดกรอง (A-ABR) เป็นการวัดคลื่นประสาทที่เกิดจากการตอบสนองด้วยเสียงกระตุ้น
ชุดสิทธิประโยชน์ที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี
นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ประธานสายงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช. เล่าว่า เมื่อสิบปีก่อน เครื่องประสาทหูเทียมมีราคาประมาณ 1 ล้านบาท และการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อผ่าตัดแล้วก็ยังจำเป็นต้องมีกระบวนการฝึกพูด-ฝึกฟังควบคู่ไปด้วย แต่ทว่าขณะนั้นยังมีปัญหา อาทิ นักฝึกพูด-ฝึกฟังก็ยังมีจำนวนไม่มาก แพทย์เฉพาะทางรวมกันอยู่ในเมืองใหญ่ หรือบางครอบครัวอาจไม่ได้ให้ความสำคัญหรือไม่ได้ฝึกทักษะเด็กอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้หมด อาจทำให้มีโอกาสเสียของได้ แม้ว่าจะผ่าตัดสำเร็จก็ตาม
นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่มีราคาแพงแล้ว ด้วยข้อจำกัดในภาพรวม ทำให้สิทธิประโยชน์ประสาทหูเทียมต้องใช้เวลาผลักดันถึง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย
อย่างไรก็ดี ก่อนที่สิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้จะเดินมาถึงปลายทางความสำเร็จ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(HITAP) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทด้านการ “ประเมิน” ความคุ้มค่า-เหมาะสม ก่อนที่ระบบบัตรทองจะพิจารณาอนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ นั้น ได้เข้ามาทำการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งมิติทางสังคม ความจำเป็น ความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐานะ
HITAP ได้ทำงานวิจัยผ่านการศึกษาข้อมูลระบบการให้บริการทั้งต้นแบบและระบบที่มีความเป็นไปได้ในแต่ละพื้นที่ และให้ข้อมูลต้นทุนการให้บริการ รวมถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างรอบด้านต่อไป
รวมไปถึงรายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่งานวิจัยของ HITAP หัวข้อ “การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย” เข้ามามีส่วนสำคัญในการยืนยันข้อมูลเรื่องความเป็นไปได้ในการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์นี้อย่างรอบด้าน ตั้งแต่ด้านนโยบาย ด้านบุคลากรทางการแพทย์ และด้านคนไข้ที่รับบริการ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว
“ขณะนี้เครื่องช่วยฟังมีราคาลดลงเหลือประมาณ 3-6 แสนบาท ถ้าซื้อเยอะก็สามารถต่อรองราคาลงได้ รวมไปถึงมีนักฝึกพูด ฝึกฟัง และแพทย์เฉพาะทางที่มากขึ้น ดังนั้นบริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจึงได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นบริการที่ต่อเนื่องกับการตรวจคัดกรองการได้ยินด้วย” นางวราภรณ์ ระบุ
ชุดสิทธิประโยชน์เกิดการพัฒนาเพราะการมีส่วนร่วม
จากการที่บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 2 รายการข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือการให้บริการด้านสุขภาพมีพัฒนาการ และนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา
ส่งผลให้การ “พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองจึงมีความจำเป็น” เพราะความเท่าทันของสิทธิประโยชน์นั้นจะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นพ.ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการการพัฒนาสิทธิประโยชน์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า พัฒนาการสำคัญที่ทำให้ชุดสิทธิประโยชน์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” เช่น ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วย เป็นต้น ที่เข้ามามีส่วนเสนอหัวข้อในชุดสิทธิประโยชน์
ด้วยการใช้หลักฐานทางวิชาการ และหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสิ่งที่จะผนวกเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อสุขภาพประชาชนหรือไม่
ฉะนั้น ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปีทาง “โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCBP)” จะเปิดให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน “เสนอหัวข้อ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกหัวข้อ ที่จะทำการศึกษาว่าเหมาะสมต่อการเสนอให้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองหรือไม่
สำหรับขั้นตอนในการเสนอชุดสิทธิประโยชน์มี 4 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การเสนอหัวข้อซึ่งจะมีการเปิดรับหัวข้อจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณสุข หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อที่มีการเสนอเข้ามา เนื่องจากหัวข้อที่ถูกเสนอมีจำนวนมาก แต่ทรัพยากร เช่น งบประมาณ หรือนักวิจัยนั้นมีจำกัด
นั่นจึงทำให้ต้องมีเกณฑ์ประเมินเพื่อจัดอันดับในเบื้องต้นว่า เรื่องที่ส่งเข้ามามีความสำคัญมาก-น้อยแค่ไหน และแตกต่างกันอย่างไร โดยมีคณะทำงานที่มีผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนในการพิจารณาร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินความคุ้มค่า นักวิชาการจะทำการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และขั้นตอนที่ 4 นำผลการประเมินเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 จะเป็นครั้งแรกที่ โครงการ UCBP ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Workshop” ในชื่อ “การประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 และการจัดทำข้อมูลประกอบหัวข้อปัญหาฯ”
สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว มีขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงกระบวนการและวิธีการที่ถูกต้องในการจัดทำข้อมูล และการเสนอหัวข้อปัญหา