"นายกฯ" มุ่งสร้างสังคมแห่งโอกาสให้ "ผู้พิการ" เร่ง ขับเคลื่อน 3 ประเด็น ปี 2565
"นายกฯ" กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันคนพิการสากล ปี 2564 มุ่งสร้างไทยเป็นสังคมแห่งโอกาส เสมอภาค เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแล สิทธิ สวัสดิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เร่ง ขับเคลื่อนงาน 3 ประเด็น ปี 2565 จับมือ แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ สร้างอาชีพยุคใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวคำปราศรัย เนื่องใน “วันคนพิการสากล ประจำปี 2564” เพื่อส่งความระลึกและความปรารถนาดีถึงคนพิการทุกท่าน โดยองค์การสหประชาชาติ กำหนดประเด็นหลัก ในปี 2564 ว่า “คนพิการร่วมนำการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเข้าถึงโดยสะดวกถ้วนหน้า สู่โลกใหม่หลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการในการป้องกัน พัฒนา และฟื้นฟูสังคมให้กลับคืนสู่สภาวะปกติภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศทุกคน และมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งโอกาส” มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมคุณภาพ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะการดูแลคนพิการให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการและการได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนพิการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น การพักชำระหนี้เงินกู้ยืมจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระยะเวลา 2 ปี การกู้ยืมเงินกองทุนฯ คนพิการ(ฉุกเฉิน) คนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และไม่มีดอกเบี้ย การขยายอายุบัตรประจำตัวคนพิการกรณีหมดอายุ ออกไปอีก 6 เดือน นับตั้งแต่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับคนพิการ การช่วยเหลือคนพิการที่ติดเชื้อ และมีความเสี่ยงสูง ผ่านโครงการ “เรามีเรา” การช่วยเหลือเยียวยาคนพิการที่ติดเชื้อ คนละ 3,000 บาทและส่งเสริมให้คนพิการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19
นายกฯ กล่าวว่า ในปี 2565 รัฐบาลมีแผนที่จะขับเคลื่อนงานด้านคนพิการใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1. การให้ความช่วยเหลือคนพิการกลุ่มเปราะบาง โดยการพัฒนาระบบการสำรวจความเป็นอยู่ของคนพิการและครอบครัว ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายอาสาสมัครทั่วประเทศ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงระบบสวัสดิการที่พึงได้รับ พร้อมทั้งสนับสนุนกลไกครอบครัวอุปการะให้แก่คนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล
2. การปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิ สวัสดิการ และความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแสดงตัวตนของคนพิการ หรือ “บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล” ประเทศไทยถือเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ที่มีการใช้บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล ซึ่งจะมีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันคนพิการสากลปีนี้
3. การพัฒนาระบบและศักยภาพคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีงานทำ สามารถรองรับอาชีพในยุคดิจิทัล และการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ โดยร่วมกับ Depa อบรมหลักสูตรออนไลน์การเป็น Youtuber หลักสูตรออนไลน์อื่นๆ และหลักสูตรการขายบน platform ร่วมกับ LAZADA เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้คนพิการมีโอกาสทำงานยุคใหม่ในด้านปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการพัฒนาศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการให้เป็นศูนย์นำร่องเรื่องการเกษตร เพื่อเป็นการฝึกอาชีพให้กับคนพิการ
ทั้งนี้ เพราะทุกคนถือเป็นพลังสำคัญที่สามารถพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน