ด่านที่ต้องฝ่า : การจัดการตนเองของชุมชนเปราะบางและกลุ่มคนพิการ
หลังจากหน่วยงานท้องถิ่น อย่างเทศบาลหลายแห่ง หันมาให้ความสำคัญต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน ที่เป็นเรื่องราวมนุษย์มากขึ้น จะด้วยเหตุผลคือประสบปัญหาที่มีสมาชิกในชุมชน พื้นที่รับผิดชอบของตนเองมีกลุ่มคนที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบางหรือชายขอบ คนพิการ ตลอดจนคนสูงอายุที่มากขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสัญญานที่ดีว่าการให้การบริการสาธารณะแก่คนในชุมชน ท้องถิ่นและสังคม อาจจะได้รับการเหลียวแลมากขึ้น หลังจากที่เป็นเพียงนโยบายหาเสียงเช่นอดีตมานาน
ความพยายามที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนหลายๆ กลุ่มข้างต้น มีการดำเนินการภายใต้หน่วยงานระดับกระทรวงอย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการพัฒนาชุมชน หรือแม้แต่การจ้างงาน ที่ผ่านมาทางกระทรวงแรงงาน แต่ก็ดูเหมือนว่าการจัดการเรื่องนี้ ยังมีความสำเร็จที่เริ่มต้นไปอย่างช้าๆ เมื่อผู้นำชุมชนที่เป็นตัวแทนอย่างนายกเทศมนตรีเทศบาลต่าง ๆ เป็นต้น เริ่มตระหนักและขับเคลื่อนกิจกรรมสงเคราะห์เชิงสาธารณะด้านนี้อย่างจริงจังขึ้นมา หน่วยงานท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีแนวโน้มจะเอาด้วยกับเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ตัวเลขจากกระทรวง พม. ที่ระบุเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคนที่ผ่านมา จะพบว่าตัวเลของกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ผู้ป่าวติดเตียงและป่วยเรื้อรัง สตรีตั้งครรภ์ ผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสพุ่งสูงหลักหมื่นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และนี่ดูเหมือนหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ที่ประชาชนอยากเห็นหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทบริการพี่น้องประชาชนและชุมชน เป็นสถานการณ์ใกล้ตัวที่หน่วยงานท้องถิ่น ต้องมีส่วนรับผิดชอบ และที่สำคัญการมีศักยภาพในการรับหน้าที่ดังกล่าวจำเป็นต้องมีความรู้ที่จะช่วยเหลือต้องมี
ท้องถิ่นยังต้องการภาคีเครือข่าย ร่วมในการดำเนินงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข ในสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการ อาสาสมัคร หรือแม้แต่พระสงฆ์ วัด ที่ขณะนี้จะเห็นว่าหน่วยงานด้านการศึกษา วัด หลายแห่งได้เปิดเป็นศูนย์พักคอย และโรงพยาบาลสนามช่วยเหลือช่วงวิกฤติโควิด-19 หลายแห่ง ตัวอย่างวัดบางแห่งได้เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีการบริหารจัดการโดยพระสงฆ์และหน่วยงานเครือข่าย เช่น โครงการพระไม่ทิ้งโยม-Temple Isolation แต่ในส่วนของCommunity Isolation ศูนย์พักคอยที่บริหารจัดการโดยชุมชนหรือหน่วยงานท้องถิ่นนั้น ขณะนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องรับภาระช่วยชุมชน แต่การช่วยดูแลกลุ่มเปราะบาง ต่าง ๆ เหล่านี้ ยังพบว่ามีจำนวนน้อยและการช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากบุคลากรที่มีความสามารถในการจัดการเชิงสุขภาพและการดูแลโรคในช่วงวิกฤติในหน่วยงานท้องถิ่นอาจจะไม่เพียงพอ
การจัดการสุขภาพ สุขอนามัยชุมชน สำหรับหน่วยงานท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับชุมชน ควรได้รับการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย สถาบันการศึกษาในพื้นที่ควรจะส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาด้านสุขภาพมากขึ้น วิทยาลัยการพยาบาลควรมีทุกจังหวัด คณะแพทย์ เภสัช แพทย์ทางเลือก สาธารณสุข อสม. การส่งเสริมวิทยาลัยชุมชนให้มีส่วนร่วมดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง สถาบันการฝึกอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน และภาควิชาการพัฒนาชุมชนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ต้องเล็งเห็นความสำคัญด้านการจัดการความรู้เพื่อจัดการตัวเอง ให้ชุมชนมีความรู้ที่จะพึ่งพาตนเองได้ และขับเคลื่อนร่วมกันในการบริหารจัดการสุขภาพแห่งชาติสู่ประชาชน ชุมชนนั้น ต้องไม่ใช่แค่นโยบายตีฝีปากของนักเลือกตั้งต่อไป ต้องเป็นความฝันที่จับต้องได้ ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียกันทุกฝ่าย
การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น หมายถึง การที่ชุมชนท้องถิ่นมีความสามารถจัดการกับปัญหา และสามารถจัดการความสัมพันธ์ของชุมชน หรือจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอิสระ ทั้งทางด้านความคิดการแสดงออกมีพื้นฐานความความรู้ที่ถูกถ่ายทอดมาในรูปแบบของภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่น แสดงออกมาในรูปของการจัดทำแผนงานและโครงการเป็นของชุมชนโดยการส่งเสริมและพัฒนาจัดรูปแบบองค์กรชุมชน สถาบันชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชน การวางกฎระเบียบชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนท้องถิ่นและเพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคำนึงหลักความเสมอภาค เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และอัตลักษณ์
นักพัฒนาชุมชนมองว่าการพึ่งตนเองระดับชุมชนต้องมุ่งที่คนเน้นการยอมรับกฎระเบียบของสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายของแต่ละคนหรือเพื่อเป้าหมายร่วมกัน มี 5เรื่องที่ต้องเน้น อย่างเช่น1. การพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยี ได้แก่ การมีปริมาณและคุณภาพของเทคโนโลยีทางด้านวัตถุ มีเครื่องไม้เครื่องมือเครื่องจักรกล ตลอดจนเทคโนโลยีทางสังคม ตัวอย่างเช่น การรู้จักวางโครงการ การัรู้จักการจัดการมนุษย์สัมพันธ์ เป็นต้น การรู้จักใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การบำรุงรักษาให้คงสภาพดีอยู่เสมอเพื่อการใช้งาน เทคโนโลยี ทั้งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย2.การพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจหมายถึงความสามารถดำรงชีวิตด้านเศรษฐกิจ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ที่มีความมั่นคงสมบูรณ์สุขพอสมควร 3.การพึ่งตนเองได้ทางทรัพยากรธรรมชาติหมายถึง การมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ดำรงอยู่ไม่ให้เสียสมดุลทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ ดิน ปาไม้ สัตว์บก สัตว์น้ำ แร่ธาตุ ก็ตาม 4.การพึ่งตนเองได้ทางจิตใจหมายถึง สภาพ จิตใจที่กล้าหาญต่อการเผชิญปัญหาในการดำเนินชีวิต การพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้า รวมถึงการมีสภาพจิตใจที่จะระวังไม่ให้กิเลสตัณหา เข้ามาครอบงำจิตใจได้5.การพึ่งตนเองได้ทางสังคมความเป็นหนึ่งเดียว มีความสมัครสมานสามัคคี มีผู้นำที่สามารถนำกลุ่ม เพื่อเชื่อมโยงเป็นภาคีเครือข่ายกับทั้งคนในกลุ่มและภายนอกได้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ขาดทักษะและประสบการณ์การดำเนินงาน ขาดการเรียนรู้ ขาดพลังสร้างสรรค์ การพัฒนาเป็นการคิดจากข้างบนคือรัฐ เป็นหน่วยที่หยิบยื่นให้ ซึ่งเมื่อรัฐหรือนักพัฒนาที่มาจากหน่วยงานรัฐออกจากพื้นที่ไป ชุมชนท้องถิ่นก็ไม่สามารถจะเดินต่อไปได้เนื่องจากขาดศักยภาพที่จะสานต่อสิ่งที่รัฐได้เริ่มไว้
การพัฒนาแบบพึ่งตนเอง คือชุมชนต้องมีความรู้ก่อน การพึ่งพาตนเองได้ของชุมชนจึงต้องเริ่มที่ให้ความรู้ก่อน แล้วนำความรู้นั้นไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุข ซึ่งการพัฒนาแบบนี้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือเป็นการพัฒนาที่มีฐานคิดและเป้าหมาย ที่การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในระยะยาว ซึ่งท้องถิ่นต้องขับเคลื่อนนโยบายบริการชุมชน ส่งเสริมชุมชนให้จัดการตนเองได้ รวมทั้งกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนพิการด้วยนี่อาจจะเป็นโอกาสในวิกฤต ที่หน่วยงานท้องถิ่นจะแสดงภาวะการนำในช่วงเวลาแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ชุมชน สังคม ท้องถิ่นโดยแท้จริง