สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?

สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?

"สงครามคืออะไร" เยวา เด็กสาววัย 14 ปี ตั้งคำถามขณะที่เธอกำลังเล่นอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนกับเพื่อนร่วมชั้น

"ฉันรู้ว่าสงครามคือเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถถัง จรวด ระเบิด และโดรน" เธอสรุปคำตอบกลับมา

เยวาเกิดมาพร้อมกับโรคลมบ้าหมูและภาวะความบกพร่องทางสติปัญญาระดับปานกลาง เธอเข้าใจว่าสงครามหมายถึงการที่ใครสักคนกำลังโจมตีผู้อื่น แต่ไม่รู้ความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น อนาสตาเซีย พาฟโลวา แม่ของเธอกล่าว

"เธอมีความเข้าใจเหมือนเด็กอายุห้าขวบ และมักจะสับสนระหว่างทหารของประเทศยูเครนกับทหารจากชาติอื่น ๆ เธอไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าใครกำลังต่อสู้อยู่กับใคร" เธออธิบาย

เยวาและแม่ของเธออาศัยอยู่ในเมืองครีวีรีห์ หรือที่รู้จักกันในชื่อครีวอยร็อก เมืองในพื้นที่ตอนกลางของประเทศยูเครน

สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?

เยวาเข้าเรียนที่โรงเรียนซึ่งมีเด็กที่มีความต้องการด้านการศึกษาแบบพิเศษจำนวน 233 คน เมื่อเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น นักเรียนทุกคนจะเข้าไปหลบภัยในหลุมหลบภัยของอาคาร

"ฉันรู้สึกกลัวทุกครั้งที่ฉันได้ยินเสียงดัง" เยวาเล่า "แล้วแม่ก็จะให้ยาฉันกิน แล้วฉันก็จะรู้สึกดีขึ้น"

นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเต็มรูปแบบในปี 2022 สุขภาพจิตและความก้าวหน้าทางการวิชาการของเยวาก็เริ่มเสื่อมถอยลง

"เมื่อเราถูกโจมตี ระดับความเครียดของเยวาจะสูงขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้" แม่ของเธอกล่าว แต่ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอคือ การที่เมืองที่พวกเธออาศัยอยู่อาจกลายไปเป็นแนวหน้าการสู้รบ

"เยวาอายุ 14 ปี และเธอก็รูปร่างหน้าตาสวยเหมือนกับเด็กสาวคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน" เธอกล่าว

"แต่เธอมีความบกพร่องทางสติปัญญา สิ่งเลวร้ายที่สุดที่ฉันกลัวคือ วันหนึ่งทหารรัสเซียอาจทำร้ายเธอ และความคิดนั้นน่ากลัวกว่าจรวดโจมตีเสียอีก"

ผู้ที่เปราะบางที่สุด

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund - UNICEF) กล่าว สงครามในยูเครนได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของเด็กทุกคน อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์อื่น ๆ เด็กที่มีความพิการเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

"เด็กที่มีความพิการคือกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อ ความรุนแรง การพลัดถิ่น และการได้รับความเครียดเป็นเวลานาน" องค์กร UNICEF ระบุ

ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเต็มรูปแบบเริ่มต้นขึ้น ผู้คนในยูเครนมากกว่า 300,000 คน ได้รับความพิการเนื่องจากการบาดเจ็บในสงคราม และผู้พิการกว่า 1.8 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามข้อมูลของ European Disability Forum ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์เพื่อคนพิการทั่วภูมิภาคยุโรป

องค์กรหลายแห่งในประเทศยูเครนให้การสนับสนุนเด็กพิการและครอบครัวของพวกเขาด้วยการจัดหาพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ หนึ่งในองค์กรดังกล่าวคือ ลีทาย (Litay) ซึ่งเป็นองค์กรเล็ก ๆ ในกรุงเคียฟที่ก่อตั้งโดยวาเลนตินา อูวาโรวา แม่ของลีทาย เด็กที่มีความพิการ องค์กร ลีทาย ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "บิน" ในภาษายูเครน ให้ที่พักพิงแก่เด็กพิการ ช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ได้

วาเลนตินา อูวาโรวา กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหลังจากหนีออกจากเมืองลูฮันสค์ เมืองในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองในพื้นที่ตะวันออกของประเทศยูเครนเมื่อปี 2014 เธอเข้าใจดีถึงความท้าทายอันใหญ่ยิ่งที่ผู้ลี้ภัยจากสงครามต้องเผชิญในการเลี้ยงดูเด็กพิการ

ปัจจุบันเธอให้การสนับสนุนผู้หญิงคนอื่น ๆ ผ่านองค์กรลีทาย ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หลักสูตรการศึกษา และการบำบัดด้วยศิลปะ รวมถึงช่วยให้พวกเธอเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง องค์กรนี้ยังจัดกิจกรรมและการเดินทางที่ครอบคลุมสำหรับเด็กพิการอีกด้วย

"เด็กทุกคนควรรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับ ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ชมเท่านั้น แต่ในฐานะฮีโร่ตัวจริง" อูวาโรวา กล่าว

สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?

'ครอบครัวใหม่'

ในวันอาทิตย์หนึ่งอันหนาวเย็นในเดือน ก.พ. กลุ่มคุณแม่จากองค์กรลีทายมารวมตัวกันที่ร้านกาแฟในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน พร้อมกับลูก ๆ ของพวกเธอ

หนึ่งในนั้นก็คือ นาทาลิยา กัตนิก ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้เมืองมาริอินกา ในพื้นที่ตะวันออกของประเทศยูเครน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย เธอเดินทางมาพร้อมกับลูกชายวัย 12 ขวบของเธอที่ชื่อ นาซาร์

นาซาร์เกิดมาพร้อมกับภาวะริมฝีปากแหว่งและเพดานโหว่หนึ่งปีก่อนสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนจะปะทุขึ้นในปี 2014 นาทาลิยาบอกกับบีบีซีว่า สงครามคือสิ่งเดียวที่เขารู้จัก

"หมู่บ้านของเราถูกโจมตีจากสามทิศทาง" เธอเล่าย้อนความทรงจำ "การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เราคิดว่าเราคงเอาชีวิตไม่รอด"

ในที่สุดอาสาสมัครก็ช่วยอพยพครอบครัวของเธอ ต่อมาเธอได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเคียฟเพียงลำพังกับลูกชายของเธอ ในขณะที่สามีของเธอได้งานทำในเมืองอื่น

"ตอนนี้ นาซาร์ต้องอยู่ใกล้ฉันตลอดเวลา ฉันต้องจับมือเขาตลอดเวลา เขาหวาดกลัวว่าฉันอาจจะตายหรือหายไป" เธอกล่าว "หลังจากทุกสิ่งที่เราผ่านมา เขาก็เกิดอาการพูดติดอ่างและมีปัญหาเวลาพยายามที่จะพูด"

ปัจจุบันนาซาร์สามารถพูดได้เพียงคำไม่กี่คำและพูดได้เพียงประโยคสั้น ๆ เท่านั้น ความสามารถในการพูดอย่างคล่องแคล่วของเขาหายไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับนาทาลิยา การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรลีทายมีความหมายกับเธอมากกว่าแค่เพียงการได้รับความสนับสนุน "ฉันรู้สึกเหมือนได้พบกับครอบครัวใหม่" เธอกล่าว "ที่นี่เราแบ่งปันความหวังซึ่งกันและกัน"

สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?

'สถานที่แห่งความเข้มแข็งและความรัก'

เซอร์ฮี ลูกชายวัย 12 ปีของ เทเตียนา ไซเอนโก อยู่ในอาการโคม่าอย่างไม่สามารถรักษาให้หายได้ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุจมน้ำเมื่อปีที่แล้ว เขาเป็นอัมพาต หมดสติ และพูดสื่อสารไม่ได้

"เราอาศัยอยู่ในชั้นที่สี่ของอพาร์ตเมนต์ ทุกครั้งที่เกิดระเบิดขึ้นในเมือง เพื่อนบ้านทุกคนจะรีบวิ่งไปที่ห้องใต้ดิน แต่ลูกชายของฉันตัวโตเกินกว่าที่ฉันจะอุ้มได้" เทเตียนาเล่า

"ฉันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการอยู่เคียงข้างเตียงนอนของเขา คอยดูแลเขาขณะที่เมืองถูกโจมตีด้วยระเบิด"

เทเตียนาดิ้นรนที่จะหาสถานที่ปลอดภัยให้กับลูกชายของเธอ แต่ยังมีความหวังว่าจะได้พบกับปาฏิหาริย์ เธอจึงร้องขอความช่วยเหลือ และเธอก็ได้รับการตอบรับจาก มิสโต โดบรา (Misto Dobra) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของยูเครนในเมืองเชอร์นิฟต์ซี ใกล้กับชายแดนโรมาเนีย

มิสโต โดบรา ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดย มาร์ทา เลฟเชนโก โดยปัจจุบันองค์กรเป็นสถานพักพิงสำหรับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในประเทศยูเครน

องค์กรนี้ให้ที่อยู่กับเด็กกว่า 280 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า และยังมีสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและศูนย์ฟื้นฟูสำหรับเด็กพิการอีกด้วย อีกทั้งยังมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวม 73 คน คอยดูแลพวกเขาเหล่านี้

"ในช่วงเริ่มต้น เราเรียกองค์กรของเราว่า 'สถานที่แห่งความแข็งแกร่งและความรัก'" เลฟเชนโกบอกกับบีบีซี

"เด็กพิการมักจะถูกมองข้ามในช่วงสงคราม แต่ที่นี่เราปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเท่าเทียมกัน พวกเขาสมควรได้รับการดูแลและความรักอย่างเสมอภาค เราถือว่าพวกเขาทั้งหมดเป็นลูกของเรา" เธอกล่าว

เทเตียนาก็เห็นด้วยเช่นกัน แม้ว่าเซอร์ฮี ลูกชายของเธอจะพูดไม่ได้ แต่เธอก็รู้สึกว่าเขาได้อยู่ในความดูแลที่ดี โดยได้รับการฟื้นฟูร่างกาย การนวด และการบำบัดเป็นประจำ

"ฉันเชื่อว่าเขาชอบที่นี่ เขาดูมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น เขาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ฉันรู้สึกมีความหวังเกี่ยวกับอนาคต" เธอกล่าว

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/jpwcx

ที่มา: msn.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 8 เม.ย.68
วันที่โพสต์: 8/04/2568 เวลา 14:05:13 ดูภาพสไลด์โชว์ สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?