ยื่นภาษีปี 2564 สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง

ยื่นภาษีปี 2564 สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง

เชื่อว่าช่วงเวลานี้ หลายคนกำลังวางแผน ลดหย่อนภาษี ปี 2564 กันบ้างแล้ว บทความนี้ เลยตั้งใจรวมข้อมูลว่า สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายประเภทไหนกันแน่ที่สามารถนำไป ลดหย่อนภาษี ได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งในปีนี้ การยื่นภาษี ยังสามารถยื่นได้ตามปกติที่สามารถทำได้ทั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และรูปแบบการยื่นภาษีออนไลน์ผ่าน เว็บไซต์กรมสรรพากร ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถยื่นภาษีได้สะดวกสบายมากขึ้นโดยไม่ต้องเดินทาง

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี

จริงๆ แล้วคนไทยที่มีรายได้ทุกคนควรยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีก็ตาม โดยกฎหมายระบุไว้ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

• คนไทยทุกคนกรณีที่โสด มีรายได้ และได้เงินเกิน 120,000 บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายเดือนละ 10,000 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี

• คนไทยทุกคนกรณีที่สมรส มีรายได้ และได้เงินเกิน 220,000 บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายเดือนละ 18,333 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี

ทั้งนี้ การยื่นเสียภาษีในปี 2564 ที่จะยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร จะต้องยื่นภายในวันที่ 1 ม.ค.65 – 8 เม.ย. 65 ส่วนผู้ที่จะยื่นเอกสารเสียภาษีแบบกระดาษจะสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.65 เท่านั้น

เอกสารสำหรับใช้ สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง ?

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบ 50 ทวิ

2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา

3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิตหรือ หนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

การขอลดหย่อนภาษี มีทั้งหมดกี่ประเภท

สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้หัก ลดหย่อนภาษี ปี 2564 ได้นั้น มีทั้งหมดด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

o ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

o ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (คู่สมรสต้องไม่มีรายได้)

o ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง

o ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี

o ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง และของคู่สมรส สูงสุดไม่เกิน 4 คน โดยลดหย่อนได้ 30,000 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท

o ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน โดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

2. ค่าลดหย่อนภาษีประกัน การลงทุน และเงินออม

o ประกันสังคมลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,100 บาท

o ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

o ประกันสุขภาพของบิดามารดาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

o เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป

o กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท

o กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท

o กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

o กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุนรวม SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มบริจาค

o เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

o เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

o เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัย

o ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับการยื่นภาษี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้เลยที่ กรมสรรพากร หรือโทร. 1161

ขอบคุณ... https://bit.ly/35q3kA5

ที่มา: moneyguru.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 ม.ค.65
วันที่โพสต์: 25/01/2565 เวลา 10:43:59 ดูภาพสไลด์โชว์ ยื่นภาษีปี 2564 สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง