ผู้พิการมีสิทธิ ‘รักษา-รับอุปกรณ์’ ฟรี แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ ต้องลำบากแบกรับค่าใช้จ่ายเอง
นายองอาจ แก่นทอง ประธานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี พบว่าผู้พิการยังมีปัญหาเรื่องการรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิรับบริการรักษาพยาบาล และรับอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
นายองอาจ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจเชิงรุกพบว่าผู้พิการจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในการรับอุปกรณ์สำหรับดำรงชีวิต ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มักจะเน้นไปที่การแจกจ่ายเครื่องยังชีพมากกว่าการสำรวจความเป็นอยู่หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นั่นทำให้ท้องถิ่นมีข้อมูลคนพิการน้อย คนพิการจึงไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูลจากท้องถิ่นสักเท่าใด
“จากการเก็บข้อมูลของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ พบว่าคนพิการประมาณ 30-40% ของคนพิการในพื้นที่ไม่รู้เรื่องสิทธิ ทั้งสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม แม้ผู้พิการบางรายจะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่รู้สิทธิตัวเองเช่นกัน” นายองอาจ กล่าว
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้พิการไม่รู้ อาทิ ผู้พิการต้องขึ้นทะเบียนในระบบบัตรทอง ตาม ท.74 (การเปลี่ยนสิทธิเป็นผู้พิการ) ซึ่งจะทำให้เข้าถึงการบริการอื่นๆ หรือในบางกรณีที่ขึ้นทะเบียนตาม ท.74 แล้ว แต่ไม่รู้ว่าตนเองสามารถเบิกอุปกรณ์ได้ที่โรงพยาบาลประจำหวัด หรือบางคนไม่รู้ว่าจะขึ้นทะเบียนที่ไหนได้บ้าง โดยศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการเคยพบผู้พิการที่พิการมานานกว่า 10 ปี แต่เพิ่งทราบว่าตนเองสามารถรักษาฟรีและได้รับอุปกรณ์ฟรีได้
ทั้งนี้ เมื่อผู้พิการไม่รู้เรื่องสิทธิของตนเองย่อมส่งผลให้เสียโอกาสในการรับบริการ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษา และค่าอุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างสูงด้วยตัวเอง เช่น รถวีลแชร์ ราคา 8,000-10,000 บาท ทั้งที่มีสิทธิ์รับบริการฟรี
นายองอาจ กล่าวอีกว่า การทำงานของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการที่ผ่านมา มีภารกิจหลักคือช่วยเหลือผู้พิการที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษาและพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต ศูนย์ฯ พยายามปิดจุดอ่อนในส่วนที่หน่วยงานอื่นๆ มองข้าม แต่ก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเหล่านั้น โดยพยายามประสานความร่วมมือผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น อบต. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมเก็บข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้สะดวกเมื่อต้องส่งต่อการักษา หรือพาไปรับอุปกรณ์
“ทางศูนย์ฯ ของเราให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิด้านต่างๆ ของคนพิการเป็นอันดับแรก เพราะเรื่องสิทธิ์สำคัญพอๆ กับทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน” นายองอาจ กล่าว
อนึ่ง ผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนตาม ท.74 ในระบบบัตรทอง จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์หลัก อาทิ สิทธิการได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในและนอกหน่วยบริการ ได้แก่ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การประเมิน-แก้ไขการพูด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการมองเห็น การกระตุ้นพัฒนาการ การได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ การพัฒนาศักยภาพในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเข้ารับบริการการฝึกใช้ไม้เท้าขาวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการมองเป็น ฯลฯ