ไทยเข้ายุคเด็กเกิดน้อย-ขาดแรงงาน-ไร้ลูกหลาน ห่วงเหลือแค่ 40 ล้านคน-สธ.ตั้งโต๊ะแถลงทางออก

ไทยเข้ายุคเด็กเกิดน้อย-ขาดแรงงาน-ไร้ลูกหลาน ห่วงเหลือแค่ 40 ล้านคน-สธ.ตั้งโต๊ะแถลงทางออก

ไทยเข้ายุคเด็กเกิดน้อย-ขาดแรงงาน-ไร้ลูกหลาน ห่วงเหลือแค่ 40 ล้านคน-สธ.ตั้งโต๊ะแถลงทางออก

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว “ทางออกประเทศไทยในยุคเด็กเกิดน้อย” ที่โรงแรมพูลแมน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าปัญหาเด็กเกิดน้อยจะทำให้เกิดปัญหาต่อโครงสร้างประชากร ปัญหาแรงงาน สังคม และเศรษฐกิจ โดยอนาคตประชากรจะมีอายุเฉลี่ยมากขึ้นจาก 70-80 ปี เป็น 90-100 ปี คนวัยทำงาน 1 คน ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูทั้งคนแก่และเด็ก ดังนั้น ถือเป็นงานยากในการแก้ไข แต่หากไม่ทำวันนี้ปัญหาก็จะยิ่งแก้ยากมากขึ้น

“ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ด้วยการพยายามปรับแก้ค่านิยมให้คนมีลูกมากขึ้น ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ต้องอดทน มุ่งมั่น ทั้งข้าราชการประจำ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลกี่รัฐบาล เปลี่ยนปลัดกระทรวง เปลี่ยนอธิบดีไปกี่คน แต่เราก็ต้องทำเรื่องนี้ต่ออย่างมุ่งมั่น” นายสาธิตกล่าว

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติตั้งแต่ปี 2513 ทำให้จำนวนการเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรก ล่าสุดเหลือเพียง 544,570 คน อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ลดเหลือแค่ 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคง หากไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง ร้อยละ 12.8 วัยทำงาน ร้อยละ 56 วัยสูงอายุ ร้อยละ 31.2 ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน นับเป็นภาระหนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร นอกจากนี้ ยังส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยส่งเสริมการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยการรักษาผู้มีบุตรยาก ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นแต่คาดว่ายังไม่เพียงพอ การรักษาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด รักษา 100 คน จะมีประมาณ 30 คน ที่สำเร็จ ค่าใช้จ่ายสูงถึงล้านบาท ทั้งนี้ เราจะไปร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อออกระเบียบรักษาผู้มีบุตรยากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา กล่าวว่า ส่วนประเด็นการตั้งครรภ์ ต้องย้ำว่าต้องมีการเตรียมตัววางแผนที่ดี โดยคนไทยยังขาดเรื่องนี้ และพบว่ามีการตั้งครรภ์บังเอิญ ตั้งครรภ์ไม่ต้องการ โดยการวางแผนตั้งครรภ์ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น ลดน้ำหนักเตรียมตั้งครรภ์ รักษาโรคประจำตัวให้ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันครรภ์พิการ ยังมีโครงการแบบนี้น้อยในประเทศไทย ขณะที่การตั้งครรภ์คุณภาพต้องเกิดจากการดูแลที่มีคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องอายุของหญิงตั้งครรภ์ที่มากขึ้น ก็มีโอกาสทำให้เด็กในครรภ์พิการทางสมองได้ ฉะนั้น ราชวิทยาลัยได้พัฒนาการดูแลหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองภาวะปัญญาอ่อนในเด็ก รักษาเบาหวานของแม่ ดูแลครรภ์ภาวะเป็นพิษ ไปจนถึงปัญหาครรภ์แฝดที่เส้นเลือดเชื่อมกัน ก็ใช้เทคโนโลยีแยกครรภ์ให้เด็กรอดทั้งคู่ ซึ่งเราก็จะพัฒนากันต่อเนื่องต่อไป

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยมีสาเหตุมาจากคนมีลูกช้าลง เพราะกว่าจะเรียนจบ สร้างฐานะครอบครัว เมื่อมีบุตรก็ไม่มีเวลาเลี้ยง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนจึงไม่ต้องการมีภาระในการเลี้ยงดูบุตร หรือคู่แต่งงานแล้วไม่อยากมีบุตร และด้วยความรู้เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ที่เข้าถึงได้ง่าย

“ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ตอนนี้ทางยุโรป ฝรั่งเศส ดีขึ้นในการรักษาประชากรให้คงที่ ส่วนไทยเราเกิดประชากรเฉลี่ย 1.3 ต่อหญิงหนึ่งคน เราต้องการเป็น 2.1-2.3 เพื่อรักษาประชากรให้คงที่ เพราะตอนนี้ลดลงเรื่อยๆ อีกไม่กี่ปีจะเหลือ 40 ล้านคนได้ ดังนั้น หากจะรักษาประชากรต้องมีลูก 2-3 คน อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนเด็กควรจะให้เป็นระยะยาว ส่วนการทำงานที่บ้านก็จะช่วยให้พ่อแม่มีเวลาดูแลลูกที่บ้านได้ อบรมให้พ่อมีส่วนช่วยดูแล อย่างต่างประเทศที่ให้พ่อหยุดงานเพื่อดูแลลูกด้วย” ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3184291

ที่มา: matichon.co.th /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 ก.พ.65
วันที่โพสต์: 15/02/2565 เวลา 10:32:15 ดูภาพสไลด์โชว์ ไทยเข้ายุคเด็กเกิดน้อย-ขาดแรงงาน-ไร้ลูกหลาน ห่วงเหลือแค่ 40 ล้านคน-สธ.ตั้งโต๊ะแถลงทางออก