“นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สน.9)

“นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สน.9)

กับบทบาท สสส. ต่อการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิผู้หญิง และเรื่องที่ สสส. ผลักดัน ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมในด้านต่างๆ

สสส. มีการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิผู้หญิงผ่านยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง ซึ่งการที่จะทำให้ผู้หญิงมีสุขภาวะที่ดีได้ จำเป็นต้องปลดล็อกปัญหาสำคัญอย่างเรื่องสิทธิพื้นฐานเสียก่อน สสส.จึงสนับสนุนสิทธิสุขภาพในมิติต่างๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ สิทธิในการปกป้องคุ้มครองตนเองให้รอดพ้นจากความรุนแรงในทุกมิติ เป็นต้น

โดยเน้นกลุ่มผู้หญิงที่มีลักษณะทางกายภาพและหรือวัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นชายขอบ ได้แก่ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงมุสลิม และผู้หญิงชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้หญิงที่ด้อยโอกาสหรือถูกเลือกปฏิบัติ ได้แก่ ผู้หญิงต้องขัง ผู้หญิงบริการ และผู้หญิงรักผู้หญิง เพื่อวิเคราะห์ถึงช่องว่างในการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ/ชายขอบและหรือด้อยโอกาสเหล่านี้ พบว่า ผู้หญิงยังคงเป็นกลุ่มประชากรที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมค่อนข้างสูง อคติทางเพศที่ฝังในระบบคิด ติดอยู่ในจารีตและการปฏิบัติในวัฒนธรรม ส่งผลต่อสุขภาวะผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ และอำนาจการตัดสินใจในเรื่องส่วนตัว ในครอบครัว และในนโยบายสาธารณะที่กำหนดชะตาชีวิตของผู้หญิง ภาวะความทันสมัยและอุดมการณ์ทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ยิ่งทำให้ประสบการณ์ความไม่เป็นธรรมที่ผู้หญิงในสังคมไทยเผชิญมีลักษณะ “ซับซ้อน” และ “ทับซ้อน” กับประเด็นอื่นๆ อีกทั้งมีพลวัติค่อนข้างสูง กล่าวคือ ผู้หญิงที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน อาทิ ชนชั้น ศาสนา การศึกษา ชาติพันธุ์ ความพิการ เพศวิถี เป็นต้น จะทำให้ผู้หญิงมีประสบการณ์ที่ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในรูปแบบแตกต่างกันไป อีกทั้งผลทางลบที่เกิดขึ้นยังมีระดับของความหนักหนาสาหัสไม่เท่ากันด้วย

นอกจากนี้ แม้ว่าประชากรหญิงในสังคมส่วนใหญ่จะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา อาชีพ การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และการเมือง แต่ผู้หญิงในทุกสังคมยังต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่อง ในระดับนานาชาติ มีการคาดประมาณว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความรุนแรงในชีวิตคู่หรือความรุนแรงทางเพศในช่วงชีวิต และการถูกกระทำด้วยความรุนแรงอันเนื่องจากความเป็นเพศหญิงเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทกำหนดทิศทางงานด้านสุขภาพระดับโลก ยืนยันว่า “ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ” ปัญหาความรุนแรงอันเนื่องมาจากเพศ อันได้แก่ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ เป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำที่ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก รวมทั้งทัศนคติของสังคมที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา เช่น การมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว

สำหรับประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยพบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน และมีสถิติของผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 ราย ซึ่งแน่นอนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง จะมีมากกว่านี้เพราะยังมีผู้ที่ไม่กล้าหรือไม่อยากเปิดเผยเรื่องลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมาก โดยรายงานของ UNODC (สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ) พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน

จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของไทยในระดับประเทศ พบความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงสูงสุดคือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ทางสสส. หวังว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของสตรีแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมกันลดและขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว และการข่มขืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ ในข้อ 5.2 ที่ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เป็นเป้าหมายที่ประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย

สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนทุนทำงานด้านสุขภาวะผู้หญิง โดยเน้นเรื่องการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาวะผู้หญิงให้กับองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ อาทิ สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการในการดำเนินโครงการต่างๆดังนี้

1. งานด้านวิชาการ

o ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาองค์ความรู้และสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ เพื่อให้เห็นสถานการณ์ที่แท้จริงของปัญหา และสร้างความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว

o ร่วมกับสมาคมเพศวิถีศึกษา พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้แก่ หลักสูตรฐานคิดและทักษะการปฏิบัติงานบนฐานความเป็นธรรมทางเพศ สำหรับตำรวจหญิง หลักสูตรการปรึกษาในภาวะวิกฤตสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หลักสูตรการปรึกษาเพื่อเยียวยาเด็กที่ถูกใช้ความรุนแรง และหลักสูตรความรู้ด้านกฎหมายและการประสานงานสหวิชาชีพระดับจังหวัด กรณีความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สำหรับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพระดับจังหวัด และทีมกลไกระดับตำบล อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ ทนายความ นักพัฒนาสังคมจังหวัด อปท. เป็นต้น

o ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตองค์ความรู้/ หลักสูตร “การแก้ไขปัญหาความรุนแรงทุกมิติด้วยฐานคิดเพศภาวะ (gender base)” เพื่อให้บุคลากร/นิสิต/นักศึกษา ที่จะจบไปทำงานในประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง และบุคคลในครอบครัวมีฐานคิด และเครื่องมือในการทำงาน

o ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาเครื่องมือ “เลนส์เพศภาวะและความหลากหลาย” ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้การออกแบบนโยบาย และกระบวนการทำงานของหน่วยงาน/ องค์กร/ เครือข่ายที่ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะผู้หญิงโดยเฉพาะความรุนแรง คำนึงถึงมิติเพศภาวะและความหลากหลาย เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรงทางเพศในระดับนโยบาย

2. การพัฒนาศักยภาพและสานพลังเครือข่าย

o ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ พัฒนาพื้นที่นำร่องระบบงานสหวิชาชีพเพื่อการจัดการกรณีปัญหา (case management) ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัว ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ เอื้อให้ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการจัดการกรณีปัญหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ใน 2 จังหวัด คือ นครสวรรค์ และระนอง โดยได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด และอยู่ระหว่างขับเคลื่อนนโยบายด้านการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรง เพื่อให้เกิดการยอมรับแนวปฏิบัติ ชุดความรู้ และเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดและขยายผลโดยหน่วยงานภาครัฐในระยะต่อไป

คนทํางานภาคประชาสังคมและภาครัฐจํานวนหนึ่งได้รับการอบรมปรับเปลี่ยนฐานคิดและฐานคิดด้านเพศภาวะ เพศวิถี และความเสมอภาคทางเพศซึ่งมีกระบวนการอบรมที่แตกต่างไปจากที่ภาครัฐดําเนินการ กล่าวคือ ให้ความสําคัญกับมิติเรื่อง ความหลากหลายและมิติเรื่องเพศวิถี ในเนื้อหาการอบรม โดยมุ่งให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของตนเองและของเพื่อน สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงได้ว่าโครงสร้างวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ชีวิตของตนเองและของผู้หญิงกลุ่มอัตลักษณ์แตกต่างอย่างไร พบว่าผู้ผ่านการอบรมส่วนหนึ่งสามารถเป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือ สามารถไปทํางานผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ปฏิบัติการหรือในโครงการที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งมีทั้ง เด็ก เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง แกนนําชาวบ้าน อาสาสมัครชาวบ้าน ผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้นําในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ภาครัฐและมีตัวอย่างรูปธรรมที่มีแนวโน้มว่ากลุ่มเป้าหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านฐานคิดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีไปในทิศทางที่เห็นคุณค่าผู้หญิง ตระหนัก เข้าใจ ยอมรับในความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางเพศมากขึ้น

o ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง พัฒนาศักยภาพแกนนำสตรี 4 ภาค และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะผู้หญิงและครอบครัว ที่สามารถให้คำปรึกษาช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ทำให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาด้านสุขภาวะ ปัญหาความรุนแรง มีช่องทางในการขอรับการช่วยเหลือ คุ้มครองได้ง่ายขึ้น โดยติดต่อผ่านทางมูลนิธิเพื่อนหญิง (http://www.fowomen.org)

o ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลพรศรีมหาโพธิ์ พัฒนารูปแบบงานส่งเสริมสุขภาพจิตที่มีมิติทางเพศภาวะและความเป็นธรรมทางเพศในชุมชน นำร่องใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เกิดรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงฯ อันมีผลต่อปัญหาสุขภาพจิต และโรคซึมเศร้า

o ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พัฒนาและยกระดับกลไกชุมชนและทีมสหวิชาชีพในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว เพื่อพัฒนากลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นำร่อง พื้นที่ดำเนินงาน ประกอบด้วย

1. พื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร คือ ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

2.พื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร คือ ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

3.พื้นที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร คือ ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

4.พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ คือชุมชนบ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

▪ เป้าหมาย เพื่อให้เกิดรูปแบบการทำงานในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวโดยการเชื่อมร้อยกลไกระดับพื้นที่ให้มีเป็นคณะทำงานในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งกลไกระดับชุมชน ระดับเครือข่ายชุมชนขยาย และระดับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเกิดนโยบายระดับพื้นที่ในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

▪ ผลจากการดำเนินงานและถอดบทเรียน พัฒนาเป็นคู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน

o สนับสนุน มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ เพื่อดำเนินการสนับสนุนผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ให้ก้าวข้ามจากปัญหา เห็นศักยภาพตัวเอง และเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงรายอื่นต่อไป โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้ก้าวข้ามความรุนแรง จัดเก็บรวบรวมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดกับเด็ก และผู้หญิงพิการ เพื่อค้นหาปัญหา ช่องว่าง (Gap) และนำมาวิเคราะห์ เพื่อทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ เอื้อต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริการของรัฐ

3. งานสื่อสารสาธารณะ

o สนับสนุนกระบวนการสื่อสารสาธารณะร่วมกันหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อปรับทัศนคติของสังคมต่อการ “ไม่เพิกเฉย” ต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรง “เป็นเรื่องของคนอื่น” ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ อาทิ เฟซบุคเพจ “Free From Fear” ที่มุ่งสื่อสารสร้างความตระหนัก เข้าใจ และให้คำแนะนำการรับมือปัญหาความรุนแรงในบริบทต่าง ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีผู้ชอบและติดตามเพจ (Like และ Following) มากกว่าหนึ่งหมื่นราย และมีเนื้อหาของโพสต์ที่เข้าถึงผู้ชม (Reach) สูงสุดถึงกว่า 1.2 แสนครั้ง

o ร่วมกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดปัญหาการคุกคามทางเพศและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ดำเนินโครงการรณรงค์ “เผือก” ที่มุ่งลดปัญหาการคุกคามทางเพศพบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีกิจกรรมการสื่อสารและรณรงค์หลายช่องทาง ได้แก่ เฟซบุคเพจ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women Thailand”

o กิจกรรมรณรงค์สาธารณะ “ถึงเวลาเผือก” ด้วยแนวคิดการเปลี่ยนพลังเงียบเป็นพลังเผือก ขอทุกคนเป็นหูเป็นตา-ช่วยเหลือ-เก็บหลักฐาน

o สนับสนุนการสร้างทัศนคติต่อการไม่ยอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครับทุกรูปแบบ เช่น “บ้านไม่ใช่เวทีมวย” ที่เน้นสร้างทัศนคติต่อการไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงทุกรูปแบบต่อบุคคลในครอบครัว “ถึงเวลาเผือก” เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมต่อการไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามทางเพศ การลวนลามทางเพศต่อทั้งผู้หญิงผู้ชาย และคนทุกเพศวัย

4. งานนโยบาย

o ร่วมกับศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผลักดันให้เกิดการนำ “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ.2560 – 2564” สู่การปฏิบัติ โดยในปี 2561 ทุกจังหวัดจะต้องดำเนินการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว โดยใช้เครื่องมือ “ระบบจัดเก็บข้อมูลความรุนแรง” ที่ สสส. สนับสนุนการพัฒนามาใช้ในการสำรวจ

o พัฒนากลไกบูรณาการเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัว โดยเป็นกลไกในการบูรณาการ การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนภายใต้ MOU การยุติความรุนแรง 2 ฉบับ (ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับระหว่าง พม.กับองค์กรพัฒนาเอกชน) เพื่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

o ขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถขนส่งสาธารณะ โดยได้ร่วมกับ บขส. พัฒนามาตรการลดการคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ 3 แนวทาง คือ เสริมศักยภาพพนักงาน ติดกล้องวงจรปิดภายในรถ และพัฒนาระบบการแจ้งเหตุถ้ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น

และอยู่ระหว่างการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการลดสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ตกงาน มีภาระหนี้สิน ทำให้เกิดความเครียดสะสม และความรุนแรงในครอบครัว จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส.ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จึงเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงความเห็นร่วมหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยจะประกาศรับสมัครเยาวชนรุ่นใหม่และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน 2565 สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่www.นับเราด้วยคน.com

สะท้อนหรือลบค่านิยม “ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง”

ในอดีตสามีเป็นคนทำงาน หาเงิน ส่วนภรรยาเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ต่างไปแล้ว ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกทำงานนอกบ้าน และแสดงบทบาทผู้นำได้ แต่การจะก้าวไปถึงการเป็นผู้นำในหลายอาชีพ หลายวงการยังเต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบากต่อผู้หญิงมากมาย เช่น ค่านิยมที่ถูกฝังรากลึกมานาน ให้ผู้ชายอยู่ในตำแหน่งสูงสุดได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือคำถาม หรืออคติใดใด แต่หากเป็นผู้หญิงหรือเพศอื่นๆจะถูกกีดกัน ด้วยเหตุนานับประการ ต้องพิสูจน์ ต้องแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์จริงๆจึงจะสามารถขึ้นไปดำรงตำแหน่งนั้นได้ หรือแม้แต่การที่ผู้หญิงในปัจจุบันทำงานนอกบ้าน แต่ยังถูกคาดหวังจากสามีหรือครอบครัวให้ทำงานในบ้านด้วย การเตรียมอาหาร ทำความสะอาดบ้าน หรือเลี้ยงลูก ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ทำงานนอกบ้านมาเหนื่อยๆยังต้องกลับมาทำงานบ้าน ดูแลครอบครัว บางบ้านนอกจากดูแลลูกแล้ว ยังต้องดูแลพ่อแม่ พาไปหาหมอที่ รพ.ก็เป็นหน้าที่ของภรรยาหรือลูกสาวอีกด้วย การจะรักษาสมดุลชีวิต หรือแบ่งเวลาในการทำงานกับความคาดหวังในการดูแลครอบครัว สำหรับผู้หญิงดูจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าผู้ชาย จึงควรปรับวิธีคิด ทำความเข้าใจบริบทชีวิตแบบปัจจุบัน ที่มีการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้นด้วย

แรงขับเคลื่อนให้ สสส. ผลักดันสิทธิสตรีในสังคม

เรื่อง สิทธิ เป็นหลักการสากลที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน สสส.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งเป้าในการลดช่องว่างของการเข้าไม่ถึงสิทธิให้กับคนทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ในกลุ่มคนที่มีข้อแตกต่างทั้งทาง เพศ ทางร่างกาย อายุ สัญชาติ ศาสนา ฯลฯ ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของผู้หญิง จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่สสส.ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด โดยมีความเชื่อว่า ความเป็นธรรม(ทางสุขภาพ)เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และเป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมที่เท่าเทียม

ขอบคุณ... https://mgronline.com/qol/detail/9650000022929

ที่มา: mgronline.com /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 8 มี.ค.65
วันที่โพสต์: 9/03/2565 เวลา 11:19:12 ดูภาพสไลด์โชว์ “นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สน.9)