Ableism พฤติกรรมเหยียดและกีดกันผู้พิการ ปิดโอกาสเข้าถึงด้วยอคติส่วนตัว

Ableism พฤติกรรมเหยียดและกีดกันผู้พิการ ปิดโอกาสเข้าถึงด้วยอคติส่วนตัว

Ableism เป็นพฤติกรรมการเหยียดและกีดกันผู้พิการ ด้วยการแสดงออกเป็นคำพูด คอมเมนต์ ที่ดูแคลน ด้อยค่า ความสามารถ รวมไปถึงการแบ่งแยกทางการศึกษาและการเติบโตทางหน้าที่การงาน

ในปัจจุบันบทสนาเรื่องของ cyber bully บนโลกออนไลน์ หรือ การเหยียดเชื้อชาติ เพศ มีกันมากขึ้นในสังคม แต่ก็ยังมีบางคอมเมนต์บนโลกโซเชียล ที่ล้อเลียนรูปลักษณ์และใช้คำเหยียดพาดพิงถึงผู้พิการ แม้จะไม่ได้กล่าวกับตัวผู้พิการโดยตรง แต่คำพูดเหล่านี้ก็ควรระมัดระวังด้วยเช่นกัน จากกรณีตัวอย่างของการใช้คำคอนเมนต์แสดงความคิดเห็นถึง ผู้สมัคร ผู้ว่ากทม.ท่านหนึ่งที่กำลังเทรนด์ทวิตเตอร์ ที่เข้าข่าย Ableism พฤติกรรมเหยียดผู้พิการ

Ableism (เอเบิลลิสซึ่ม) คือการเลือกปฏิบัติและอคติทางสังคมต่อคนพิการหรือกีดกันในทางสังคมและหน้าที่การงาน

ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้พิการในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยและต่างประเทศ

โดยรูปแบบการเหยียดจะเป็นการใช้คำพูด คอมเมนต์บนออนไลน์ รวมถึงการไม่ออกแบบการใช้ชีวิตเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ เช่น การออกแบบอาคารสถานที่ที่ไม่รองรับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย หรือ ร้ายแรงถึงการใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

ด้วยจากสาเหตุที่คนปกติทั่วไปมองว่า ความพิการ หรือ คนพิการ มีความสามารถด้อยกว่าตัวเองหรือคนปกติ จึงใช้คำพูดในเชิง Ableist Language คือการเอาลักษณะความพิการทางร่างกาย หรืออาการป่วยทางจิต มาใช้ในแง่ลบหรือเป็นคำต่อว่า ล้อเลียน บุคคลทั่วไป เช่น คำว่า "ไบโพลาร์" "เป็นบ้า" "เอ๋อ" "ปัญญาอ่อน" ซึ่งเป็นคำที่อ่อนไหวสำหรับผู้มีอาการจิตเวช ที่ประสบสภาวะนั้นอยู่ กลายเป็นคำที่ใช้กันติดปากและเคยชิน ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบต่อจิตใจของพวกเขาในระยะยาว

แม้เป็นเพียงคำพูดก็สามารถสร้างอคติและความเข้าใจผิดให้แก่คนในสังคมวงกว้างได้ ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าคนพิการเป็นคนที่มีความสามารถด้อยกว่า จึงกีดกันการทำงานและการเข้าสังคมของพวกเขา

ซึ่ง Ableism พฤติกรรมเหยียดผู้พิการ กีดกัน แบ่งแยก นั้นมีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น

• กฎหมายว่าด้วยสิทธิของผู้ทุพพลภาพ

• การแบ่งแยกนักเรียนที่มีความพิการออกจากนักเรียนปกติ

• วิธีการควบคุมนักเรียนผู้พิการ

• การออกแบบอาคารให้ผู้พิการสามารถเข้าใช้งาน เช่น ไม่มีอักษรเบรลล์บนป้ายหรือปุ่มกดลิฟต์

• เอาความพิการมาใช้เป็นมุกตลกหรือล้อเลียน

• การปฏิเสธการให้ความสะดวกในด้านที่พัก

• การคัดเลือกนักแสดงที่ไม่พิการให้เล่นเป็นตัวละครที่พิการในละคร ภาพยนตร์ รายการทีวี หรือโฆษณา

• การสร้างภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียงบรรยายหรือคำบรรยาย

• การคุยกับคนพิการเหมือนเด็ก

• การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติการรักษาหรือชีวิตส่วนตัวของผู้ทุพพลภาพ

• หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างการอนุญาตให้สังหารหมู่ผู้พิการกว่าแสนคนในยุคนาซีเรืองอำนาจ

เราที่มีความปกติจะหลีกเลี่ยง Ableism พฤติกรรมเหยียดผู้พิการ หรือกีดกันนี้ได้อย่างไรบ้าง

• อย่ากล่าวหาใครว่าเขาแกล้งพิการหรืออาการทางจิตเวช ถ้าไม่มีหลักฐาน

• ไม่ควรสัมผัสผู้ทุพพลภาพหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับความยินยอม

• ไม่ควรถามคำถามส่วนตัวที่สร้างความอึดอัดใจ

• ไม่ควรพูดแทนคนพิการถ้าพวกเขาไม่ได้ร้องขอ

ซึ่งจากภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง Audible ที่ฉายทาง Netfilx บอกเล่าเรื่องราวของทีมกีฬาอเมริกันฟุตบอล โรงเรียนโสตศึกษาของแมริแลนด์ ที่เป็นแชมป์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ติดต่อกันหลายสมัย พวกเขาสามารถต่อสู้จนเอาชนะบนสนามแข่งขันเดียวกันกับคนหูปกติได้อย่างทัดเทียมไม่แพ้กัน ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการชดเชยความสามารถในการได้ยิน แต่ก็มีประสาทสัมผัสส่วนอื่นเติมเต็มแทน ทักษะความสามารถจึงเป็นเรื่องของการพัฒนาและโอกาสที่มอบให้กันอย่างเท่าเทียมมากกว่าตัดสินจากลักษณะภายนอกของตัวบุคคล ลดอคติและเคารพซึ่งกันและกันเพื่อให้สังคมน่าอยู่สำหรับทุกคน

ขอบคุณ... https://www.springnews.co.th/feature/822587

ที่มา: springnews.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 เม.ย.
วันที่โพสต์: 4/04/2565 เวลา 13:58:41 ดูภาพสไลด์โชว์ Ableism พฤติกรรมเหยียดและกีดกันผู้พิการ ปิดโอกาสเข้าถึงด้วยอคติส่วนตัว