ชี้ถนนพื้นที่ อปท.ทั่วประเทศกว่า 6 แสนกิโลฯ ส่วนใหญ่ไร้ป้าย-ไฟเตือน ทำสถิติอุบัติเหตุสงกรานต์สยองยังพุ่ง
เชียงราย - อุบัติเหตุสงกรานต์ยังพุ่ง ชี้ถนนในพื้นที่ อปท.กว่า 6 แสนกิโลเมตรทั่วประเทศยังขาดป้าย-ไฟเตือน จน อบจ.บางจังหวัดถูกฟ้องถนนแย่ทำคนตาย-ศาลสั่งจ่าย 1.4 ล้านบาทมาแล้ว พร้อมเร่งดันร่วมหยุดสถิติสยองเจ็บปีละล้าน พิการ 5%
วันนี้ (17 เม.ย.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.กระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้จัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จ.เชียงราย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 11-17 เม.ย. ซึ่งพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 52 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็วและเมาสุรา มีผู้บาดเจ็บ 47 ราย เสียชีวิต 9 ราย
นายนิพนธ์แจ้งต่อที่ประชุมว่า สถิติอุบัติเหตุของประเทศไทยยังมีการเสียชีวิตทุกวันเฉลี่ยวันละ 40 ราย ตลอดปี 2564 มีผู้เสียชีวิตกว่า 16,700 ราย แต่ถือว่าดีกว่าปี 2559 ที่องค์การอนามัยโลกแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทยมากถึง 22,400 ราย เป็นอันดับ 9 ของโลก มีผู้บาดเจ็บปีละประมาณ 1 ล้านคน และ 5% กลายเป็นผู้พิการ
ดังนั้นประเทศไทยจึงตั้งเป้าให้ลดลงอีกภายใน 5 ปีนี้ โดยในปี 2565 นี้เริ่มตั้งเป้าให้ลดลงเหลือเพียง 22 คนต่อแสนประชากร จนถึงปี 2570 ต้องให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร จากเดิมในปี 2564 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 25 คนต่อแสนประชากร
“เรื่องนี้ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเข้มงวดจะไม่มีเฉพาะช่วง 7 วันของเทศกาลอีกต่อไป แต่จะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี”
ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจคืออุบัติเหตุกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นบนถนนที่อยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมากถึง 600,000 กิโลเมตรกว่า ซึ่งในอดีตอาจเป็นถนนดินลูกรังที่ไม่พัฒนาแต่ปัจจุบันมีการสร้างถนนมากขึ้นแต่ยังขาดป้ายเตือน ป้ายสัญญาณจราจร ไฟสัญญาณจราจร ฯลฯ ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และเคยมีกรณีศึกษาว่ามีผู้ประสบอุบัติเหตุรถล้มศีรษะกระแทกพื้นเสียชีวิตจึงมีการฟ้องร้ององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งหนึ่ง ซึ่งในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ อบจ.แห่งนั้นจ่ายค่าเสียหายให้ญาติผู้เสียชีวิตเป็นเงินมากถึง 1.4 ล้านบาทเพราะถนนไม่มีป้ายแจ้งเตือน
ขณะที่ถนนทางหลวงมีประมาณ 53,000-54,000 กิโลเมตร ถนนทางหลวงชนบทมีประมาณ 48,000 กิโลเมตร ซึ่งก็มีป้ายสัญจรและไฟสัญญาณจราจรต่างๆ
ดังนั้นจึงมอบหมายให้ทางจังหวัดได้ประสานกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับจนถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้เข้าร่วมโครงการถนนปลอดภัย เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นได้นำกรณีนี้ไปบรรจุในแผนการใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่มีระยะทางรวมกว่า 600,000 กิโลเมตรดังกล่าว เช่น ติดป้ายแจ้งเตือนเขตชุมชน โรงเรียน ไฟกะพริบ ไฟสัญญาณจราจร ฯลฯ เพราะหากทุกตำบลมีความปลอดภัยแล้วประเทศไทยก็จะมีความปลอดภัย รวมทั้งป้องกันกรณีมีผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายแล้วฟ้องร้องท้องถิ่นนั้นๆ ว่าถนนไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยซึ่งก็อาจจะมีผลเหมือนกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษาต่อ อบจ.ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังขอแต่ละท้องถิ่นได้วิเคราะห์อุบัติเหตุแต่ละครั้งว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งคนในท้องถิ่นและการลงไปดูพื้นที่ของจังหวัดจะทำให้ทราบวิธีแก้ไขได้ต่อไป
ด้านนายภาสกรกล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า จ.เชียงรายมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 11-16 เม.ย.แล้วจำนวน 9 ราย จากเดิมที่เคยตั้งเป้าเอาไว้ไม่ให้เกิน 6 ราย แม้ว่าจะมีการตั้งด่านชุมชนที่เข้มแข็งแต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น ขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วล้มเองจนเสียชีวิต ฯลฯ กระนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือเจ้าหน้าที่ก็จะเข้มงวดเพื่อยับยั้งไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นต่อไป