เปลี่ยนการเล่น เป็นพลังชีวิต

เปลี่ยนการเล่น เป็นพลังชีวิต

เพราะเรื่อง “เล่น” จะไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป “การเล่น” พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า และเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนพัฒนาสังคมไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีในอนาคต เด็กในวันนี้ไม่ได้เปรียบเสมือนผ้าขาวดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขาเป็นผ้าหลากสีที่เหล่าคุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องร่วมกันแต่งแต้มสีสันให้สวยงามผ่าน “การเล่นอิสระ”

หัวใจของการเล่นเป็นการฝึกทักษะ และช่วยพัฒนาสมองของเด็กให้เจริญเติบโตสมวัย “Power of play to power of life การเล่น คือ สิ่งที่มีคุณค่า การเล่นเป็นพลังที่จะนำเด็กไปสู่ชีวิตที่ดี” แล้วเหตุใด? การเล่นจึงเป็นพลังของชีวิต เพราะการเล่น คือ ความสุขของเด็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของเด็ก การเล่นอิสระจะช่วยเด็กเล็กได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง ทำให้เด็กพัฒนาวิธีการกำกับตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยพัฒนาทั้งพฤติกรรมที่เอื้อทางสังคม จริยธรรม และบรรทัดฐานทางสังคม

เปลี่ยนการเล่น เป็นพลังชีวิต

เล่นเพื่อชีวิตเด็ก เล่นเพื่อเปลี่ยนโลก แล้วเราจะเปลี่ยนโลกของเด็กได้อย่างไร เชื่อว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ คนต้องเคยตั้งคำถามว่า แค่เล่นจะเปลี่ยนโลกได้ขนาดนั้นเลยหรือ นี่จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “พลังแห่งการเล่นสู่พลังแห่งชีวิต” Power of play to power of life การเล่นในเด็กในศตวรรษที่ 21 ที่จัดขึ้นโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้การเล่นเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้เจริญเติบโตก้าวไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เปลี่ยนการเล่น เป็นพลังชีวิต

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวถึงความสำคัญของการเล่น ว่า บทบาทหน้าที่ของ สสส. และภาคีเครือข่าย คือ สนับสนุนให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ เด็กจะมีโอกาสเลือกว่า เขาจะเล่นอะไร เรียนรู้อะไร ทดลองได้อย่างอิสระ ผิดแล้วทำใหม่ได้ เช่น เล่นทราย ก่อทรายเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ได้ทั้งเรื่องการเรียนรู้ ความคิด และการสร้างสรรค์ เป็นพื้นฐานที่จะอยู่ในโลกใหม่

“สสส. และภาคีเครือข่ายจะผลักดันใน 3 เรื่อง คือ การเล่นอิสระ กิจกรรมทางกาย และการพัฒนามนุษย์ตัวน้อย ๆ ให้มีทักษะและความพร้อมสำหรับการเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในอนาคต โดยมีแนวคิดที่จะแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ในการมาร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเด็ก ๆ เพื่อให้เกิดเป็นความร่วมมือแบบพหุภาคีในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีนโยบายที่เอื้อและเป็นมิตรต่อการที่พ่อและแม่จะสามารถดูแลครอบครัวและลูกหลานของเขาได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ใหญ่ในบ้านที่ต้องมีเวลาและความเข้าใจในเรื่องนี้” นางสาวณัฐยา กล่าว

“การเล่น” ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างไรบ้าง

1. พัฒนาการด้านร่างกาย

พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ประสาทสัมผัสทุกส่วน

2. พัฒนาการทางด้านสังคม

การอยู่ร่วมกับคนอื่น การเคารพกติกา ระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ

3. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา

การแก้ไขปัญหา เข้าใจเหตุและผล ฝึกภาษา

4. พัฒนาการทางด้านอารมณ์

ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เข้าใจ เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ฝึกสมาธิ ความมั่นใจ แรงบันดาลใจ และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

5. พัฒนาการความคิดสร้างสรรค์

การจินตนาการ คิดเชื่อมโยง ต่อยอดสิ่งใหม่ พัฒนาความสามารถเพื่อจัดการทรัพยากรในอนาคต

เพราะวันนี้เรื่องเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป การเล่น คือ กุญแจเปิดประตูสู่การเรียนรู้ และโลกใบใหม่ เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของเด็ก สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนการให้เกิดการเล่นอิสระให้เด็ก ๆ ได้ออกแบบชีวิตที่ดีและมีความสุขด้วย “การเล่น” และเชิญชวนทุกคนรวมพลัง ร่วมพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ช่วยกันทำ “เรื่องเล่น” ให้เป็น “เรื่องใหญ่” เพื่อร่วมกันเปลี่ยนพลังแห่งการเล่นให้เป็นพลังแห่งชีวิตและพลังแห่งสังคม เปลี่ยนโลกแห่งการเล่นของเด็กปฐมวัย ให้เป็นเครื่องมือในการนำพาเด็กไทย ให้เติบโตขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 เม.ย.65
วันที่โพสต์: 19/04/2565 เวลา 11:19:23 ดูภาพสไลด์โชว์ เปลี่ยนการเล่น เป็นพลังชีวิต