ผบ.ตร.สั่งบังคับใช้กฎหมายจริงจัง จ่อเอาผิด 3 ราย โฆษณาลาซาด้า บูลลี่ผู้ป่วย-คนพิการ ดูหมิ่นสถาบันฯ
MGR Online - รองโฆษก ตร.เผย ผบ.ตร.สั่งบังคับใช้กฎหมายจริงจัง กรณีโฆษณาลาซาด้า มีเนื้อหาล้อเลียนคนป่วยคนพิการ ดูหมิ่นสถาบันฯ เร่งรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดเบื้องต้น 3 ราย ทั้งบริษัทผู้ผลิตโฆษณา บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ รวมถึงนักแสดง ยันไม่เลือกปฏิบัติ ชี้ ยังไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งแบน
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ นายอนิวัติ ประทุมถิ่น หรือ นารา เครปกะเทย บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด และ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด หลังถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ทั้ง 3 ราย ได้ร่วมกันจัดทำสื่อโฆษณาที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น ล้อเลียน ผู้ป่วยและผู้พิการ และมีเจตนาในการพาดพิง ดูหมิ่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ได้รับความเสื่อมเสีย ว่า เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งให้ติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตั้งแต่ทราบว่ามีการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวออกไป เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเสนอสินค้า ที่มีเนื้อหาพาดพิงไปยังบุคคลที่มีอาการเจ็บป่วย มีความบกพร่องหรือความไม่เท่าเทียม
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2 ข้อหา คือ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะมีข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมา และดำเนินการสอบปากคำตัวแทนจากศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ หรือ ศปปส. และได้ประสานงานกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ให้ตรวจสอบและทำการปิดกั้น URL ที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมดังกล่าวไปแล้ว 49 URL ทั้งลิงก์ที่นำไปโพสต์และแชร์
ส่วนการดำเนินคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง เบื้องต้นอย่างน้อย 3 ราย ทั้งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหา, บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เผยแพร่, รวมถึงตัวนักแสดง ซึ่งก็จะต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบสวน และนำคำให้การมาประกอบพยานหลักฐานว่าใครจะเข้าข่ายความผิดอย่างไรบ้าง
“ยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้เสพสื่อออนไลน์ก็เห็นอยู่แล้วว่าการกระทำนี้เหมาะสมหรือไม่ แม้บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาจะมีการออกแถลงการณ์แล้ว แต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดที่เสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความมั่นคง ก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทอาจทำเพื่อการตลาด แต่ก็ต้องดูเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้วย อย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง” รองโฆษก ตร.ระบุ
ส่วนกรณีที่ 3 เหล่าทัพ มีการออกคำสั่งแบนไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกคำสั่งดังกล่าว เพราะตำรวจถือว่ามี 2 สถานะ คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนทั่วไป ซึ่งในฐานะประชาชนทั่วไป ก็ต้องให้พิจารณาไตร่ตรองเอาเองว่าจะปฏิบัติยังไงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงไม่ถึงขั้นต้องมีคำสั่งไปห้ามปราม