จังหวัดสงขลา เชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงฯ รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่มักพบระบาดในช่วงฤดูฝน และอาจเกิดอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วย และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต กรณีที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่าในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงร้อนสลับฝนตก และกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคโควิด 19 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ยังคงมีความจำเป็นแม้ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบัด และเบาหวาน
4) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
5) ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
6) โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ทั้งนี้ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้โดยให้ฉีดแขนคนละข้าง หน่วยงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาทุกแห่ง ได้เตรียมพร้อมในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับประชาชน 7 กลุ่มโรค จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้านตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้มีการป้องกันโรคโควิด 19 ไปพร้อม ๆ กับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง โดย
1) ให้กลุ่มเสี่ยงฯ รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
2) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
3) ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
4) หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก หรือปาก
5) ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น 5) เมื่อเริ่มรู้สึกป่วยให้หยุดอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
6) สวมหน้ากากอนามัยหรือปิดจมูกและปากด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูเวลาไอหรือจาม
7) ทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงถังขยะติดเชื้อหรือถังขยะที่มีฝาปิด
ขอบคุณ... https://bit.ly/3sv21IG