ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมรับความหลากหลาย คนทุกกลุ่ม-สภาพแวดล้อม
ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมรับมือกับความหลากหลาย ทั้งจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างมาก กับคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความต้องการแตกต่างกันด้วย
วันนี้ (16 พ.ค.2565) ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เวลา 16.30 น. ไทยพีบีเอส จัดมหกรรม “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” ด้วยการประชันวิสัยทัศน์ ของผู้สมัครชิงตำแหน่ง "ผู้ว่าฯ กทม.”
มีผู้สมัครผู้ว่าฯ เข้าร่วม 5 คน คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11
“วิโรจน์” ชี้ เมืองน่าอยู่คือ “เมืองที่ยุติธรรม”
ผู้ดำเนินการรายการถามคำถามที่ 2 ว่า เมืองน่าอยู่ “Mind Set หรือวิธีคิดของ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่กับความหลากหลายของประชากรกรุงเทพฯ”
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เมืองน่าอยู่เป็นเมืองที่ยุติธรรม ไม่ได้อยู่ในระบบนิเวศเห็นแก่ตัวและต้องทนเห็นคนตัวใหญ่เอาเปรียบ ซึ่งเมืองนี้ไม่ได้ขาดภาคีเครือข่าย แต่ขาดงบประมาณ โดยทุกคนต้องร่วมทุกร่วมสุขกัน
ทั้งรถเมล์ชานต่ำที่อุดหนุนตั๋วรถเมล์ ด้วยงบฯ 700 ล้านบาท วัคซีนปอดอักเสบ 400 ล้านบาท อุดหนุนผู้สูงอายุ-เด็กเล็ก-คนพิการใช้งบฯ รวม 8,000 ล้านบาท สิ่งสำคัญคือแก้กติกาให้เป็นธรรม เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคน
ที่สำคัญกลไกข้อบัญญัติอาคารสูง ต้องดำเนินการสาธารณูปโภคสำหรับผู้พิการ ภารกิจนี้ไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ แต่ต้องเป็น สก.ด้วย
“ศิธา” สัญญาจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 ระบุว่า คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจะมีหลากหลาย มีหลายกลุ่มที่ต้องดูแลไปด้วยกัน อันดับแรกที่จะไม่ทิ้งคนกลุ่มนี้ไว้ข้างหลัง คือ คนพิการ ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม.ผมจะดูทุกโครงการว่ากำหนดนโยบายและงบประมาณ โดยเขียนแผนสำหรับคนกลุ่มนี้หรือไม่ หากไม่มีผมจะตัดโครงการนั้นทิ้ง
จะเป็นเมืองที่ตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย
นายสกลธี กล่าวว่า มีความเชื่อว่าเมืองคือคน คนคือเมือง นโยบายจึงจะตอบโจทย์ตั้งแต่เกิดยันคนสูงอายุ รวมทั้งคนพิการ ทุกเพศทุกวัยต้องเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ บางจุดมีการอยู่แบบแออัด จึงต้องการพื้นที่สีเขียว
กลุ่มคนพิการทั้งหมดต้องทำให้เป็นกระบวนการเดียวกัน เคยพูดกับกลุ่มคนพิการทราบว่า เขาไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และสิ่งที่อยากให้เกิดอารยสถาปัตย์ ซึ่งต้องทำให้เป็นยูนิเวอร์แซลในพื้นที่สาธารณะ ตัวจุดเปราะบางทางต่างระดับ ต้องทำให้เป็นระดับเดียวกัน ขนส่งสาธารณะต้องเป็นมิตรกับคนพิการและทุกเพศทุกวัย
“สุชัชวีร์” ขอโอกาสดูแลคนพิการ
ทางด้าน นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า การดูแลคนพิการ ต้องเข้าใจและเข้าถึง เมืองนี้ต้องดูแลคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต้องเป็นทัศนคติของผู้ว่าฯกทม. ที่ผ่านมาในการดำรงตำแหน่ง ต่าง ๆ พยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะน้องนักศึกษาที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เมื่อไปเรียนที่ต่าง ๆ จะต้องสะดวกมากขึ้น
อาคารที่ขอก่อสร้างใหม่ผู้พิการและผู้สูงอายุจะสามาถเข้าถึงได้ทุกคน และอาคารเก่า ๆ กทม.จะเป็นที่ปรึกษาว่า ปรับปรุงอย่างไรให้อำนวยความสะดวกกับทุกคน
และตั้งใจจะขอดูแลผู้พิการตั้งแต่เด็กเล็กขอให้ได้เรียนร่วม ขอให้มั่นใจทางการศึกษา และจะยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน 69 แห่ง โรงพยาบาล 11 แห่ง ที่จะดูแลผู้พิการและสูงอายุได้ทั้งหมด