ไมโครซอฟท์ประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขันแฮกกาธอน AI for Accessibility
ไมโครซอฟท์ประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขันแฮกกาธอน AI for Accessibility ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
ไมโครซอฟท์ประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขันแฮกกาธอน AI for Accessibility (AI4A) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีทีมจากประเทศไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ คว้ารางวัลชนะเลิศไปได้สำเร็จ สำหรับการแข่งขันแฮกกาธอนรายการนี้ ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 และประกอบด้วยทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการจัดการกับอุปสรรคที่ผู้พิการต้องเผชิญในชีวิตจริง โดยการแข่งขันแฮกกาธอนเปรียบเสมือนเป็นเวทีแจ้งเกิดเพื่อให้เหล่าครีเอเตอร์และนักพัฒนาได้เปิดตัวแอปพลิเคชันของพวกเขา พร้อมโอกาสในการลุ้นรางวัลเงินสด และได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของไมโครซอฟท์ในการร่วมสร้างโซลูชันบน Microsoft Azure และได้รับคำแนะนำในการพัฒนาโซลูชันอย่างต่อเนื่อง
หน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไร 14 แห่ง ได้ร่วมแบ่งปันโจทย์ที่มีที่มาจากอุปสรรคที่ผู้พิการต้องเผชิญในชีวิตจริง โดยทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันแฮกกาธอน AI4A ทั้ง 75 ทีมได้สร้างสรรค์โซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยโจทย์ที่คัดเลือกมานั้นจะมุ่งเน้นประเด็นด้านการเดินทาง อุปกรณ์สำหรับสวมใส่ และเครื่องมือด้านภาษา
ทีม Asclepius จากประเทศไทย ทีม SWIFT Responders จากประเทศสิงคโปร์ และทีม EIA จากประเทศฟิลิปปินส์ ได้สร้างสรรค์โซลูชันเพื่อลดช่องว่างทางโอกาสของกลุ่มคนพิการ ซึ่งประกอบด้วยการสร้างระบบที่ช่วยเหลือด้านการสื่อสารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับคนหูหนวก ระบบอัจฉริยะที่ช่วยให้ผู้พิการทางร่างกายสามารถใช้ชีวิตโดยพึ่งพาตนเองได้ และระบบธุรกรรมทางการเงินที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมเพื่อกลุ่มคนตาบอด
นอกจากทีมผู้ชนะเหล่านี้แล้ว ยังมีอีก 2 ทีมจากอินโดนีเซีย (ทีม Arabic Braille Converter) และสิงคโปร์ (ทีม MeetMeHear) ที่จะได้รับการฝึกสอนจากไมโครซอฟท์และพันธมิตร โดยรวมถึงโอกาสในการเข้าถึงระบบคลาวด์ และการรับคำแนะนำเชิงธุรกิจเพื่อการพัฒนาโซลูชัน ตั้งแต่ขั้นตอนการทดสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดไปจนถึงการเปิดตัวแอปพลิเคชันบน Microsoft Azure
ประติมา อมอนการ์ ประธานฝ่ายสนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง และความสามารถในการเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไมโครซอฟท์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "เรารู้สึกประทับใจที่ได้เห็นความกระตือรือร้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งผลงานเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการเข้าประกวดในการแข่งขันแฮกกาธอนในปีนี้ และขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการแข่งขันที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์โซลูชันออกมาได้สำเร็จ นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่เราจะได้เห็นโอกาสครั้งใหญ่ในการสนับสนุนผู้พิการ จากการเปิดตัวโครงการเพื่อสร้างการตระหนักรู้ โครงการฝึกอบรม และโครงการเพื่อให้คำปรึกษาที่น่าตื่นเต้นต่าง ๆ ร่วมกับลูกค้า พันธมิตร และชุมชนที่ใหญ่ขึ้นทั่วภูมิภาค"
จากจำนวนผู้พิการกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก และกว่า 650 ล้านคนในเอเชีย ไมโครซอฟท์เชื่อว่าการสร้างโอกาสในการเข้าถึงให้กับคนกลุ่มนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถดำเนินงานตามพันธกิจในการเสริมศักยภาพให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยความสามารถในการเข้าถึงจะทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมสำหรับกลุ่มคนพิการ และเพื่อเน้นย้ำถึงการปลดล็อคโซลูชันใหม่ด้วยเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้พิการและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไมโครซอฟท์ได้กำหนดให้เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นเดือนสำหรับการสร้างการตระหนักรู้เรื่องการเข้าถึง (Accessibility Awareness Month) และได้จัดเวิร์คช็อป การฝึกอบรม และอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการมอบรางวัลและฉลองความสำเร็จให้กับผู้ชนะการแข่งขันแฮกกาธอน AI for Accessibility ในครั้งนี้ด้วย
ทีม Asclepius จากประเทศไทย
เพื่อช่วยเหลือคนหูหนวกหรือคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทีม Asclepius จากประเทศไทยได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถแปลท่าทางเป็นข้อความ (sign-to-text) โดยใช้โมเดลการเรียนรู้เชิงลึกจากเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจจับลำดับการเคลื่อนไหวและท่าทางของร่างกาย และคาดเดาตัวอักษร คำ และตัวเลข โดยอ้างอิงจากภาษามืออเมริกัน โดยทีมนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่มีความมุ่งมั่นจากประเทศไทยกลุ่มนี้ได้วางแผนที่จะเพิ่มภาษามือที่ใช้อย่างแพร่หลายอื่น ๆ เช่น ภาษามือของอังกฤษและฝรั่งเศส และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อการใช้งานเทคโนโลยีที่กว้างขึ้น เช่น อีเวนต์บนเว็บไซต์ที่จัดขึ้นแบบไลฟ์ เป็นต้น
ทีม SWIFT Responders จากสิงคโปร์
ทีม SWIFT Responders จากสิงคโปร์ ได้พัฒนาโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งสนับสนุนการใช้ชีวิตด้วยตนเองแก่ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมที่ใช้รถเข็นที่ติดตั้งมอเตอร์ในการเคลื่อนที่ โดยระบบอัจฉริยะ Support Wheelchair-user Independence Fall Tracker (SWIFT) ที่ทีมได้พัฒนาขึ้นจะมอบความช่วยเหลือแบบทันทีแก่ผู้ใช้รถเข็นที่เสียสมดุลจากตำแหน่งปกติของพวกเขา จึงช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถเข็นมากขึ้น และช่วยให้ผู้ดูแลมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความหมาย โดยได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยในขณะเดียวกัน
ทีม EIA จากประเทศฟิลิปปินส์
เพื่อสร้างประสบการณ์การทำธุรกรรมทางการเงินที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้นสำหรับคนตาบอดและผู้สูงอายุ ทีม EIA จากประเทศฟิลิปปินส์ได้พัฒนา Accessibility and Vision Assistant (AVA) ซึ่งขับเคลื่อนด้วย AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะด้านการเงินและกระเป๋าสตางค์เคลื่อนที่สำหรับคนตาบอดและผู้สูงอายุ เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมให้กับคนกลุ่มนี้ และยังช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการชำระเงินและบริการต่าง ๆ ของธนาคารได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้เข้าแข่งขันที่โดดเด่นอีก 2 ทีม ที่ได้รับเลือกให้เข้ารับการฝึกสอนจากไมโครซอฟท์และพันธมิตร เพื่อพัฒนาโครงการของพวกเขาเป็นแอปพลิเคชันอย่างเต็มรูปแบบบน Microsoft Azure
ทีม Arabic Braille Converter (อินโดนีเซีย) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถสแกนและเปลี่ยนแปลงข้อความหรือกราฟฟิคในภาษาอาราบิกเป็นภาษาเบรลล์ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยโปรแกรมอ่านหน้าจอหรือหน้าจอแสดงผลภาษาเบรลล์ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชั่นในการแปลภาษาอาราบิกในรูปแบบอักษรเบรลล์กลับสู่ข้อความภาษาอาราบิกได้อีกด้วย
ทีม MeetMeHear (สิงคโปร์) ได้สร้างแอปพลิเคชันที่ช่วยให้คนหูหนวกและคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นเมื่อพบเจอกัน ผ่านการใช้ AI เพื่อการรู้จำคำพูด เพื่อให้คำบรรยายตามเวลาจริงอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
โจทย์ที่กำหนดโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร
องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากทั่วภูมิภาคได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ ผ่านการกำหนดโจทย์ที่เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์จริงของผู้พิการ โดยโจทย์ที่มีให้เลือกในปีนี้ มีตัวอย่างเช่น:
AI จะสามารถนำมาใช้กับอุปกรณ์แบบสวมใส่เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาสามารถเดินข้ามถนนด้วยตัวเองอย่างปลอดภัยได้อย่างไร
AI จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือสำหรับการประเมินผู้สมัครออนไลน์ เช่น การประเมินระดับภาษา การทดสอบความสามารถในการแสดงความคิดและเหตุผลผ่านคำศัพท์ และการทดสอบความสามารถด้านการใช้เหตุผลเชิงนามธรรม ได้อย่างไร
เราจะสามารถสร้างคำบรรยายแทนเสียงแบบปิดโดยอัตโนมัติเพื่อการใช้งานแบบออฟไลน์ เพื่อช่วยชุมชนคนหูหนวกและผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้อย่างไร
องค์กรไม่แสวงผลกำไรกลุ่มนี้ ล้วนแล้วแต่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยองค์กรที่เข้าร่วมให้โจทย์ในแฮกกาธอนครั้งนี้ ประกอบด้วย
ขอบคุณ... https://www.ryt9.com/s/prg/3330894