ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ หยุดละเมิดสิทธิเด็กและสตรีพิการ
การคุกคามทางเพศที่เด็กและสตรีพิการกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน มักเป็นการคุกคามด้วยวาจา สายตา และการกระทำที่มีนัยส่อไปทางเพศ บางคนร่าเริง แจ่มใส เมื่ออยู่กับคนหมู่มาก ช่วยงานขับเคลื่อนต่าง ๆ ในทุกมิติได้อย่างไม่ติดขัด แต่หารู้ไม่! ภายในจิตใจอันเข้มแข็งต่อหน้าเพื่อนมนุษย์นั้น พวกเขากลับเศร้า ทุกข์ระทม และหวาดกลัวมากแค่ไหน โดยสาเหตุหลักมาจากการถูกกระทำความรุนแรงนั่นเอง
ส่วนใหญ่ความรุนแรงที่เกิดกับพวกเขาเหล่านี้มักเกิดจากคนในบ้าน เพื่อนบ้าน หรือคนใกล้ชิด บางครอบครัวอาจไม่มีเวลาดูแลลูกเท่าที่ควร เนื่องจากภาระที่ต้องออกไปทำงาน จึงต้องให้เด็ก ๆ อยู่ตามลำพังในบ้าน หรือบางคนพิการตั้งแต่กำเนิด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดการคุกคามทางเพศได้ง่าย ทำให้ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อยุติไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำ ๆ อีก
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงฯ ในการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรีพิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การปกป้องและเอาผิดกับผู้กระทำความผิด ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คนในครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ทำให้เกิดคดีล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการที่จะให้เด็กหรือผู้หญิงกล้าออกมาฟ้องหรือแจ้งความเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เช่น พ่อทำร้ายลูก แต่ลูกไม่กล้าบอก เพราะด้วยความที่เป็นพ่อ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องไปช่วยในกระบวนการรับรู้สิทธิ ปกป้อง และยืนเคียงข้างในกระบวนการยุติธรรมจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ โดยทางกระทรวงพร้อมสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกเต็มที่
“ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้หญิงพิการตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจริงๆ แล้ว กระทรวงฯ คงทำเรื่องนี้หน่วยงานเดียวไม่ได้ ทุกคนล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่เติมเต็ม มีส่วนร่วมต่อสู้ด้วยกัน ทำให้ชนะเกิดเป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาช่วยกัน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีประสบการณ์เข้าใจผู้เสียหายทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น” นางพัชรี กล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เราแทบจะไม่เชื่อเลยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทยนั้น รุนแรงติดอันดับโลก สสส. ได้สนับสนุนโรงพยาบาลรามาธิบดีให้สำรวจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 34 แต่หลังโควิดเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 42 นั่นหมายความว่าเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น ผู้มีอำนาจเหนือบังคับบัญชาข่มเหงผู้มีอำนาจน้อยกว่าในสถานประกอบการ ในองค์กรต่าง ๆ มีลักษณะนั้นค่อนข้างเยอะ แต่ว่าส่วนที่จะชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นผู้ด้อยอำนาจ เป็นผู้ที่เรียกว่าอาจจะถูกกระทำซ้ำจากเงื่อนไขเดิมที่บางคนมีอยู่แล้ว ก็คือ ความพิการ
“อย่างที่ทราบกันดีว่า ตัวเลขปัญหาเรื่องผู้หญิงพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงนั้นสูงมาก เราจึงขอให้ทางทีมมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ช่วยทำข้อมูลเรื่องสถานการณ์ผู้หญิงพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงให้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ดังนั้น สสส. และภาคีเครือข่าย จึงได้เข้ามาสนับสนุนงานวิชาการเพื่อทำให้สถานการณ์ความรุนแรงที่ถูกซ่อนไว้ ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราเคยได้ยิน แต่ไม่เคยถูกทำให้ชัดและเห็นความเป็นจริงมากขึ้นแบบในวันนี้ ทุกภาคส่วนจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดย สสส. ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมกับผู้หญิงพิการ” นางภรณี กล่าว
สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง สานพลังทุกภาคส่วนช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่อง ป้องกัน คุ้มครอง เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรีพิการ แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1) งานด้านวิชาการ เช่น พัฒนาองค์ความรู้และสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ พัฒนาหลักสูตรแก้ปัญหาความรุนแรงและเพิ่มศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรง พัฒนาหลักสูตรความรู้ด้านกฎหมายและการประสานงานสหวิชาชีพกรณีเกิดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
2) งานพัฒนาศักยภาพและสานพลังเครือข่าย เช่น พัฒนาพื้นที่นำร่องสร้างระบบงานสหวิชาชีพแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัว (case management) ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อปกป้อง สร้างสวัสดิภาพ ลดความรุนแรงในพื้นที่ พัฒนาแกนนำสตรี 4 ภาค และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะผู้หญิงและครอบครัว รวมทั้งให้คำปรึกษาผ่านมูลนิธิเพื่อนหญิง http://www.fowomen.org
3) งานสื่อสารสาธารณะ เช่น ส่งเสริมงานสื่อสารร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อปรับทัศนคติให้สังคม “ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง” หรือมองว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องของคนอื่น” ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Free From Fear, ขับเคลื่อน “โครงการเผือก” เปลี่ยนพลังเงียบให้เป็นหู เป็นตา ช่วยเหลือ เก็บหลักฐาน พร้อมจัดทำเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women Thailand เพื่อลดความรุนแรง หรือการถูกคุกคามในระบบขนส่งสาธารณะ
4) งานนโยบาย เช่น ผลักดัน “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ.2560 – 2564” พัฒนากลไกยุติความรุนแรงผ่านการลงนาม MOU 2 ฉบับ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่การปฏิบัติภาคนโยบายขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถขนส่งสาธารณะ กับ บขส. 3 แนวทาง คือเสริมศักยภาพพนักงาน ติดกล้องวงจรปิดภายในรถ และพัฒนาระบบการแจ้งเหตุถ้ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น
ปัญหาการละเมิดสิทธิในเด็กและสตรีพิการ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ร่วมกันแก้ไข และหาแนวทางป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง หรือ มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของคนอื่น เพื่อให้ผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้ตกเป็นเหยื่อก้าวข้ามปัญหาความรุนแรงนี้ไปให้ได้ โดยไม่ให้ใครต้องโดดเดี่ยวหรือต่อสู้เพียงลำพัง
สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง สานพลังทุกภาคส่วนช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่อง ป้องกัน คุ้มครอง เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและสตรีพิการ เพื่อไม่ให้ใครต้องเผชิญปัญหาและต่อสู้โดยลำพัง รวมทั้งปลดล็อกปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับความช่วยเหลือและสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมจากความรุนแรงทุกมิติ เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เรื่องโดย จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวทีนำเสนอข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ”