สุดหดหู่ แฉลัทธิประหลาด จว.ดังภาคอีสาน ส่งลูกสาวตาบอดให้ผู้ชายข่มขืน เชื่อว่าจะหาย
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นางสาวทิพย์อัปสร ศิวาธร และ นางสาวอลิสา ศิวาธร นักวิจัยอิสระ กล่าวร่วมกันในการนำเสนอรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุน ว่า ได้ศึกษาวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างเด็กพิการ ผู้หญิงพิการ และผู้ปกครอง รวม 51 กรณีในพื้นที่ 31 จังหวัด ช่วงเดือนตุลาคม 2564-มกราคม 2565 พบผู้กระทำเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย ส่วนใหญ่รู้จักหรือมีความสัมพันธ์กันกับผู้กระทำ เช่น เป็นพ่อ ปู่ ตา ลุง พี่ชาย คนในหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำคนพิการ และมักใช้อำนาจบทบาทความเป็นเพศชายกระทำต่อเด็กและผู้หญิง
รูปแบบความรุนแรงแยกเป็นความรุนแรงทางเพศ เป็นการข่มขืน 88% รุมโทรม 12% สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ 76% เกิดที่บ้าน สำหรับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม พบว่า มีเพียง 29% ที่แจ้งความผู้กระทำผิด 71% ไม่แจ้งความ ใน 29% ที่แจ้งความนั้นผู้กระทำถูกดำเนินคดีเพียง 27% ขณะที่ 73% คดีไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคู่กรณีมีอิทธิพล บางรายหนีออกจากพื้นที่ โน้มน้าวให้ไกล่เกลี่ย ไม่สามารถบอกลักษณะคนร้ายได้ และบางกรณีไม่สามารถบอกจุดเกิดเหตุได้ ขณะที่สาเหตุที่ผู้ถูกกระทำ 71% ไม่ยอมแจ้งความ เนื่องจากส่วนใหญ่ 55% ผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว เช่น พ่อ ญาติพี่น้อง ทำให้คนในครอบครัวซึ่งเป็นเพศหญิงด้วยกันเพิกเฉย นอกจากนี้ 30% ขอให้ไกล่เกลี่ย 5% กลัว อาย 5% มีอุปสรรคในการแจ้ง เช่น การเดินทาง การสื่อสาร 3% ผู้กระทำมีอิทธิพล ใช้อำนาจ และ 2% ตำรวจไม่รับแจ้ง เพราะให้การไม่เป็นประโยชน์ ผู้พิการสื่อสารไม่ได้
น.ส.ทิพย์อัปสร กล่าวอีกว่า ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบเคสที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ยกตัวอย่าง เคสเด็กหญิงพิการทางสติปัญญาจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ถูกพ่อแท้ๆ ซึ่งเป็นผู้ดูแลข่มขืน หลังแยกทางกับภรรยาและมักกระทำหลังดื่มเหล้า อีกเคสเป็นหญิงพิการทางเรียนรู้จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ถูกผู้ใหญ่บ้านทำอนาจาร แม่ผู้เสียหายไปแจ้งความแต่ถูกตำรวจและปลัดอำเภอแนะนำให้ไกล่เกลี่ย สุดท้ายปรึกษาทนายความส่งฟ้องศาลตัดสินลงโทษผู้กระทำรอลงอาญา 2 ปี ปัจจุบันผู้กระทำได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) แม่ผู้เสียหายยังกังวลว่าจะถูกบีบออกจาก อบต.ที่ตัวเองทำงานอยู่
นอกจากนี้ มีเคสน่าสนใจในจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน พบลัทธิที่เชื่อกันว่าหากผู้หญิงเกิดมาพิการ ต้องร่วมพิธีดื่มน้ำสาบานและให้ผู้ชายข่มขืน โดยพบกรณีเด็กหญิงพิการทางการมองเห็นคนหนึ่ง ที่แม่ส่งน้องเข้าร่วมพิธีและถูกข่มขืนจากผู้ชายในลัทธิเดียวกัน ด้วยเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือทำให้มองเห็น ทั้งที่สุดท้ายก็มองไม่เห็น และน้องก็ยังถูกข่มขืนมาตลอดจากผู้ชายในลัทธิ โดยไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี เพราะคนในหมู่บ้านที่นับถือลัทธิเดียวกัน ก็ทำแบบนั้น
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_3415547