แรงบันดาลใจในการ“วิ่ง” จาก“ชัชชาติ”ถึงคุณตามาราธอนวัย 78 ปี
ถ้าคุณคิดจะออก"วิ่ง" แต่ยังไม่พร้อมซะที ลองอ่านเรื่องราวของ 4 คนนี้ "ชัชชาติ",ทนงศักดิ์ ศุภการ,มาโนช ผู้พิการทางสายตา และสมเกียรติ คุณตาวัย 78 ปี ทั้งหมดมีเป้าหมายในการ"วิ่งเพื่อสุขภาพ"
เชื่อได้ว่า คนที่ออกมาวิ่งอย่างต่อเนื่องทุกๆ วัน ส่วนใหญ่ต้องการมีสุขภาพที่ดี เพื่อที่จะดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้นานๆ
เราได้รวบรวมเรื่องราวนักวิ่งสมัครเล่นทั้ง 4 คน ต่างสถานภาพ ต่างอายุ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย
เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เห็นทุกวันทางไลฟ์สดออกมาวิ่งตั้งแต่ตี 5 ทุกวัน และวิ่งมานานกว่า 20-30 ปี คงจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่ไม่เคยนึกอยากวิ่ง อยากซื้อรองเท้าออกมาวิ่งบ้าง
หรือถ้าใครเคยเจอคุณตามาราธอนวัย 78 ปี สมเกียรติ จินดากุล ในสนามวิ่งต่างๆ ที่วิ่งอยู่ท้ายๆ ทุกการวิ่งในมินิมาราธอนกว่า 1,000 ครั้ง แต่ก็ยังวิ่งต่อไป
หรืออีกคน มาโนช รุ่งเรืองอเนกคุณ ผู้พิการทางสายตา ที่ก่อนหน้านี้กล้าๆ กลัวๆ เกรงว่าจะเป็นภาระของคนสายตาดี แต่เขาก็วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตรมาแล้ว
ตบท้ายด้วย ทนงศักดิ์ ศุภการ หลายสิบปีที่แล้วออกมาวิ่งแก้บนให้ภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็ง และที่สุดก็เสพติดการวิ่ง รวมถึงสร้างรงบันดาลใจให้คนมากมาย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.
“สุขภาพสำคัญที่สุด”
"ผมออกไปวิ่งตอนเช้า ตี 4 วิ่งเสร็จสมองแล่น คิดอะไรได้ก็รีบแจ้งทีมงาน เพราะผมนอนเร็ว 4 ทุ่ม ตื่นตี 3-4 จากนั้นตอบอีเมล อ่านหนังสือ ดูข่าว
ผมว่านี่คือ หินก้อนใหญ่ในชีวิต ชีวิตคนเราเหมือนโถแก้วใบหนึ่ง ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน หน้าที่เราคือ เอาของสามสิ่งใส่เข้าไป หินก้อนใหญ่สำคัญที่สุด รองลงมากรวด และทราย ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ
หลายๆ ครั้งเราเอาทรายไปจองที่ไว้ก่อน สุดท้ายหินที่เราบอกว่าสำคัญ ไม่มีที่ใส่ นั่นก็คือไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว
แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราใส่หินไปจองที่ก่อน สุดท้ายกรวดกับทรายก็มีที่แทรก สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ตื่นขึ้นมาทำให้จบก่อน ทำเสร็จสมองปลอดโปร่ง ก็ดูแลครอบครัว ทำงานได้"
..........
คุณตามาราธอนวัย 78 ปี "ที่โหล่ตลอดกาล"
สมเกียรติ จินดากุล คุณตาวัย 78 ปีที่ดูธรรมดาๆ ท่าวิ่งก็ไม่ได้กระฉับกระเฉง บางครั้งวิ่งเหมือนเดิน แต่ทุกครั้งที่ลงวิ่งมินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตรก็วิ่งจนถึงเส้นชัย และวิ่งมากว่า 1,000 รายการ แต่ได้ที่โหล่ตลอด
ล่าสุดปลายเดือนมิถุนายน 65 คุณตาไปวิ่งในงาน“แดงเดือด” THE MATCH RUN BANGKOK CENTURY RUN 2022 ชักชวนกันออกมาวิ่งก่อนรอชมฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ ที่จะคิกออฟวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน
สิ่งที่ทำให้คุณตาสมเกียรติ ต่างจากคนจำนวนมากในโลกใบนี้ ก็คือ แม้จะวิ่งรั้งท้ายในทุกๆ โปรแกรมที่ลงแข่ง
แต่ทำไมวิ่งถึงเส้นชัย เพราะเขาไม่ได้แข่งกับใครเลย แต่แข่งกับตัวเองโดยทุกครั้งที่ลงวิ่ง เขาตั้งเป้าว่า ต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง และบ่อยครั้งมักจะมีคนถามว่า “ไหวไหม” เคยมีเจ้าหน้าที่รถพยาบาลขับรถตาม แล้วถามว่า คุณลุงขึ้นรถไหม...เขาตอบไปว่า “ไม่ขึ้น ไหวอยู่”
“ยังไงก็ต้องวิ่งให้ถึง เราไม่ได้หวังถ้วยรางวัล แต่เพื่อสุขภาพ เรารู้อยู่แล้วว่า ความไม่มีโรคคือโลภอันประเสริฐ สิ่งนี้ทำให้ผมตัดสินใจวิ่ง ดีกว่าไปเที่ยวสถานบันเทิง เสียเงิน”
เคยถามคุณตาว่า ทั้งๆ ที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ขนาดนี้ มีเทคนิคการวิ่ง 10 กิโลเมตรอย่างไร
คุณตาย้อนถามว่า"วิ่งต้องมีเทคนิคด้วยหรือ แค่มีรองเท้าก็ออกวิ่งได้แล้ว แต่ต้องมีวินัย ฝึกซ้อมทุกวัน หลังเลิกงานเขาวิ่งวันละ 3-5 กิโลเมตร และวิ่งมานานกว่า 21 ปี ผมไม่มีหลักการอะไรในการวิ่ง คำตอบเดียวเลยครับ อดทนและสู้ด้วยตัวเอง ก็ผมไม่อยากเสียเงินค่าหมอ เวลาวิ่งผมต้องใช้ความพยายามเยอะ
บางทีผมก็ต้องมีลูกฮึด ผมไม่ได้วิ่งได้ที่โหล่ทุกครั้งหรอก แต่ส่วนใหญ่ได้ที่โหล่ ผมต้องขอบคุณพวกเขาที่คิดว่า ผมเป็นแรงบันดาลใจในการวิ่ง ผมอยากชักชวนมาวิ่งกันเยอะๆ จะได้ไม่ป่วย ประหยัดงบประมาณรัฐ วิ่งแล้วชีวิตดีขึ้นแน่นอน”
มาโนช ผู้พิการทางสายตา
วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตรมาแล้ว
อะไรเป็นแรงฮึดให้หนึ่ง-มาโนช รุ่งเรืองอเนกคุณ ลงวิ่งมาราธอนก่อนการระบาดโควิดได้ไกลขนาดนี้ ทั้งๆ ที่พิการทางสายตา
เขาค่อยๆ ฝึกวิ่งวันละไม่กี่กิโลเมตร จากนั้นลงแข่งขันวิ่ง 10 กิโลเมตร ขยับเป็น 24 กิโลเมตร และจบอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะวิ่งได้ไกลขนาดนี้
“3-4 ปีที่ผ่านมา การมองเห็นแย่ลง การเดินทางลำบาก ผมก็เลยเก็บตัว จนมาเจอกลุ่มวิ่งด้วยกัน Fanpageจัดกิจกรรมให้คนพิการ และคนไม่พิการ วิ่งด้วยกัน ผมไปวิ่งร่วมกับพวกเขาปี 2559
“แรกๆ ที่ออกวิ่ง ก็มีคนแนะนำว่า คนมองไม่เห็นต้องวิ่งอย่างไร ต้องมีไกด์นำทาง หรือที่เรียกว่า ไกด์ไรด์เดอร์ วิ่งข้างๆ จะคอยนำทางว่าเลี้ยวซ้าย ขวา มีอะไรกีดขวาง แล้ววิ่งไปพร้อมๆ กัน
ไกด์คนแรก ลุงป้อม มาพาวิ่ง เขาอายุ 60 ปีแล้ว ออกกำลังกายทุกวัน จึงแข็งแรงมาก ผมไม่เคยออกกำลังกาย เพราะไม่ได้ออกไปไหน ซ้อมวิ่งครั้งแรกหายใจไม่ทัน เป็นลมหน้ามืดก็อายลุงป้อมเหมือนกัน เพราะผมยังหนุ่มอยู่
เมื่อมีเป้าหมายว่า ต้องวิ่งให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ทำให้เรากล้าออกจากบ้าน มีความกล้าในการใช้ชีวิตมากขึ้น แรก ๆ ก็นั่งแท็กซี่ มีไกด์เดินมารับ หลังๆ เริ่มเดินทางเอง นั่งรถไฟฟ้า ซ้อนท้ายวินมอเตอร์ไซค์"
สำหรับคนตาดีการฝึกซ้อมวิ่งบ่อยๆ มีข้อจำกัดแค่ความขี้เกียจ ส่วนคนตาบอดมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งการเดินทาง การมองไม่เห็น การฝึกซ้อมจึงต้องมีไกด์รันเดอร์
แม้การวิ่งอย่างต่อเนื่องหลายปี จะทำให้หนึ่งมีพัฒนาการวิ่งดีขึ้น แต่เขาไม่ได้ฮึมเหิมข้ามขั้นตอนการวิ่ง เขาไต่ระดับจากวิ่ง10 กิโลเมตรเป็น 42 กิโลเมตร โดยลงแข่งวิ่งระยะนี้หลายครั้ง จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความเร็วในการวิ่ง จนมาเป็นมาราธอน 50 กิโลเมตร ปีถัดไปก็เลยลองวิ่ง 100 กิโลเมตร
" ผมสามารถวิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตรได้แล้ว นั่นก็คือ ทำลายเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ใช้เวลาวิ่งประมาณ 15 ชั่วโมง”
นี่คือ เรื่องราวของนักวิ่งคนพิการ ที่ครั้งแรกออกวิ่งแล้วเป็นลม ใช้เวลาฝึกซ้อมจนวิ่งได้ 100 กิโมเมตร เพราะชีวิตเลือกได้ และเลือกที่จะทำเช่นนั้น
......
ทนงศักดิ์ ศุภการ"เริ่มจากวิ่งแก้บน"
ทนงศักดิ์ ศุภการ ใครๆ ก็รู้จักเขาในฐานะนักแสดง,นักวิ่ง,หัวหน้าช่างภาพ นิตยสารพลอยแกมเพชร และนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ
แม้จะเริ่มจากการวิ่งที่ไม่เหมือนใคร บนบานไว้ว่าถ้าภรรยาหายป่วยจะวิ่งจากกรุงเทพฯไปดอยตุง แม้ภรรยาจะจากไปแล้ว แต่ตอนนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาวิ่งจนถึงทุกว้นนี้
“ฝึกตัวเองนานไหมต้องฝึก ถ้าวันนี้คุณวิ่ง 5 กิโลเมตรไม่ได้ คุณลองฝึกวิ่ง 500 เมตร ถ้าคุณไม่ฝึก คุณไม่มีทางวิ่งได้ห้ากิโลเมตร ผมวิ่งปกติได้วันละ 20-30 กิโลเมตร เพราะผมฝึกวิ่งวันนี้ 1-2 กิโลเมตร แล้วทำทุกวัน
ถ้าจะวิ่ง 40 กิโลเมตร ก็ไม่ยาก ฝึกอีกนิด และระหว่างวิ่ง จุดสตาร์ทกับเส้นชัยเป็นเส้นเดียวกัน ดังนั้นให้ใช้เวลาทุกวันเหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต”