อัพเดทชีวิต ‘ธันย์-ณิชชารีย์’ หญิงแกร่ง เหยื่อรถไฟสิงคโปร์ “โอกาสไม่ได้หายไป เพราะพิการ”
หลายคนยังจำเหตุการณ์ที่เด็กหญิงไทย ไปประสบอุบัติเหตุบนสถานีรถไฟฟ้าที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ.2554 วันนั้นเธอสูญเสียขาทั้ง 2 ข้างไป นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเธอที่แม้จะเสียอวัยวะส่วนสำคัญไป
แต่ด้วย “หัวใจที่ไม่ยอมแพ้” วันนี้ ‘ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์’ ได้รับการยกย่องให้เป็นคนพิการคิดบวก เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจคนพิการ
ปัจจุบันเธอกำลังศึกษาจบระดับปริญญาโท สาขาทรัพยากรมนุษย หรือเอชอาร์ จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในตำแหน่งนักสื่อสารองค์กร และเป็นนักสื่อสารด้านคนพิการให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นต้น
เป็น 12 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง
ธันย์-ณิชชารีย์ เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา จริงอยู่ว่าความพิการทางการเคลื่อนไหว ทำให้ชีวิตประสบกับปัญหาและอุปสรรค แต่โดยรวมคนพิการยุคนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน และออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยยกตัวอย่างการมีลานจอดรถคนพิการ ห้องน้ำคนพิการ ที่ออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มาเอื้อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างการขับรถยนต์ได้เอง การทำระบบขนส่งให้เอื้อต่อคนพิการมากขึ้น ซึ่งคนพิการได้ประโยชน์จริง
กฎหมายให้สิทธิ แต่ทำไมคนพิการยังเหลื่อมล้ำ
ปัจจุบันคนพิการยังได้รับสิทธิและการคุ้มทางกฎหมายหลายอย่าง แต่คนพิการก็ยังเผชิญความเหลื่อมล้ำ ซึ่งธันย์ยก 2 ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่อยากให้มีการแก้ไขคือ การศึกษา และโอกาสในการทำงาน
ธันย์ เล่าว่า อย่างการศึกษา แน่นอนภาครัฐให้คนพิการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี แต่สุดท้ายก็ยังมีความเหลื่อมล้ำสำหรับคนพิการที่ฐานะไม่ดี หรือทางบ้านไม่ซัพพอร์ต ทำให้เขาไม่มีโอกาสที่จะไปสมัครมหาวิทยาลัย แม้จะมหาวิทยาลัยในตัวจังหวัดเอง หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย มันมีความยากลำบากมาก
“ธันย์เคยเจอเคสนึง น้องคนพิการและเป็นชาวชนเผ่าห่างไกลในภาคเหนือ น้องมีบัตรประชาชน และสามารถผลักดันตัวเองให้ได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จากการสอบถามพบว่าน้องต้องต่อสู้เยอะมาก ตั้งแต่สังคมในชนเผ่าเอง การเดินทางมาเรียนที่ยากลำบากมาก ซึ่งน้องพิการทางการเคลื่อนไหว ก็ทำให้ธันย์เห็นว่ายังมีคนพิการอีกเยอะมากที่เรายังไม่เห็น และเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา สุดท้ายต้องเรียนจากชีวิตประจำวัน ก็เลยมองว่าสำคัญและควรทำให้เข้าถึงจริงๆ จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนแล้วทำมาตรฐานให้ดี เพื่อทำให้คนพิการเข้าถึงได้จริงๆ หากไม่สามารถออกมาเรียนข้างนอกได้”
ส่วนการจ้างงาน ธันย์มองว่าคนพิการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง แม้กระทั่งข่าวสารว่าโอกาสในการจ้างงานคนพิการเกิดขึ้นแล้ว มีกฎหมายบังคับจ้างแรงงานพิการ 1 คนต่อแรงงานทั่วไป 100 คน แม้จะมีการจ้างงานคนพิการเกิดขึ้นจริง แต่ก็พบความเหลื่อมล้ำอยู่ดี พบว่าหลายองค์กรจ้างเฉพาะคนพิการทางการเคลื่อนไหว และพิการทางการได้ยินเท่านั้น เนื่องจากเป็นประเภทความพิการที่กระทบกับการทำงานน้อยสุด
“นี่เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม อาจไปมองว่าก็ให้โอกาสคนพิการทำงานแล้ว นี่เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องเฟอร์เฟ็กซ์ แต่จริงๆ ควรมองการจ้างงานคนพิการที่ครอบคลุมทุกประเภท ต้องรับทำงานให้เท่าเทียมกัน และมีตำแหน่งงานที่สอดคล้องกับประเภทความพิการนั้นๆ”
ธันย์ยกกลุ่มคนตาบอดที่มักไม่ถูกจ้างงานเลย เนื่องจากต้องมีโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นด้านเสียงช่วยเหลือ ต้องใช้อักษรเบรล ซึ่งพอบริษัทหรือองค์กรไม่มีงบ ไม่ลงทุน ก็เหมือนปิดประตูจ้างงานคนตาบอดไปเลย แล้วไปรับคนพิการประเภทอื่นๆ ที่อ่านออกเขียนได้แทน
“คนตาบอดบางคนเก่งมาก มีความจำดี บางคนเรียนจบเฉพาะทางสูงมาก อย่างจบด้านนิติศาสตร์ แต่สุดท้ายต้องไปทำอาชีพอื่น หรือขายล็อตเตอรี่ นี่เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง เพราะองค์กรไม่รับเป็นนิติการ แม้คนตาบอดนั้นจะอ่านอักษรเบรลออก เขียนได้ แต่องค์กรจะไปแปลอย่างไร หากไม่มีเครืองมือและความรู้ ฉะนั้นก็เป็น 2 ประเด็นที่อยากเรียกร้อง ซึ่งนี่ได้จากการพูดคุยกับเพื่อนคนพิการจริงๆ”
ส่งต่อกำลังใจ-แรงบันดาลใจ
เพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ นอกจากต้องเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ยังต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ธันย์จึงชอบพูดให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจแก่คนพิการด้วย เป็นความเหนื่อยที่เธอรักและทุ่มเทกับมันมาก
“เวลาทำมันเหนื่อยมาก ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย ความคิด ไอเดียต่างๆ ในการต่อยอด แต่พอไปดูผลลัพธ์สิ่งที่ทำแล้ว มันดูมีคุณค่า ก็เหมือนธันย์ที่เคยเป็นผู้รับโอกาสและความช่วยเหลือต่างๆ สุดท้ายธันย์ได้เป็นผู้ให้ ด้วยการให้แรงบันดาลใจผู้อื่น มันเป็นจุดเล็กๆ เอง เมื่อเทียบกับอนาคตที่เขาได้รับ และไปต่อยอดให้กับคนอื่น ก็เหมือนๆ กับคนที่ให้กำลังใจธันย์ตอนนั้น เขาก็รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเหลือธันย์จนสุดท้ายส่งต่อให้ผู้อื่นได้”
เรื่องนี้สำคัญมาก ธันย์ยกตัวอย่างเคสประทับใจ ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งกระดูก ต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกที่ขา ทำให้ขาไม่เท่ากัน และต้องพิการแบบไม่ตั้งใจ เธอนัดพูดคุยให้กำลังใจและแนะนำถึงเส้นทางชีวิต การเรียน และการทำงานที่คนพิการสามารถไปต่อได้ ยังมีโอกาสอื่นๆ อยู่ โอกาสไม่ได้หายไปเพราะพิการ ด้วยประสบการณ์รุ่นพี่พิการคนหนึ่ง จนสุดท้ายเขาสามารถพัฒนาตัวเอง เรียนจบปริญญาโท และมีหน้าที่การงานดี ไม่ใช่หน้าที่การงานทั่วไปที่สังคมให้บรรทัดฐานว่าคนพิการทำได้แค่อาชีพนี้ ก็ทำให้เธอรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก
พิการก็มีศักยภาพได้
ความพิการตั้งแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่ยากทำใจ แต่ความพิการภายหลัง ทำใจยากสุดๆ
ธันย์ ให้กำลังใจว่า อยากบอกว่าความพิการไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด จริงๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดแบบไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ฉะนั้นมันอยู่ที่การเรียนรู้และเปิดใจ และเมื่อเราเข้าใจความพิการแล้ว ความพิการมันก็สอนอะไรให้กับชีวิตเรา อย่างที่ธันย์เจอคือ ความพิการเป็นประตูบานแรกที่ทำให้ธันย์รู้ศักยภาพคนพิการ ว่าสามารถเป็นผู้ให้ได้ และไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ไม่จำเป็นต้องรวยที่สุด เก่งที่สุด ไม่ต้องเดินไปหาเขา แต่สามารถนั่งวีลแชร์ หรือจะมองไม่เห็นก็ได้ เพียงแต่สามารถใช้ศักยภาพที่เหลืออยู่ต่อยอดได้
“ต้องให้โอกาสตัวเองเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ วันหนึ่งเมื่อเราแข็งแรงพอ เราจะขอบคุณความพิการนั้น ที่ทำให้เราเติบโตมากขึ้น ทำให้เราได้ต่อยอด ช่วยเหลือคนอื่นๆ อย่างธันย์เอง หากไม่ได้มานั่งวีลแชร์ คงจะไม่มีโอกาสช่วยคนพิการได้ขนาดนี้ ความรู้และประสบการณ์ของของธันย์มีประโยชน์ต่อคนพิการด้านการเคลื่อนไหว และรุ่นน้องคนอื่นๆ ทำให้คิดว่าถ้าวันนั้นธันย์ไม่เป็นคนพิการ ธันย์อาจเป็นเพียงคนๆ หนึ่ง ที่ไม่ได้เข้าใจคนพิการจริงๆ ก็ได้”
ตามงานพูดส่วนใหญ่ธันย์จะอยู่กับคุณพ่อ แต่ในใช้ชีวิตปกติ ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน หรือออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เธอสามารถใช้ชีวิตคนเดียวได้ ไม่ว่าจะขับรถเองคนเดียว อยู่บ้านคนเดียว ออกไปเที่ยว ไปเจอเพื่อนมีทั้งกลุ่มเพื่อนทั่วไป และกลุ่มเพื่อนพิการ วันว่างๆ ธันย์ชอบไปทำกิจกรรม เช่น ดำน้ำ กระโดดร่ม ซึ่งเป็นร่มร่อนลงจากเทือกเขา การออกไปเจอผู้คน ออกไปใช้ชีวิต ทำให้เธอรับรู้ว่าจริงๆ แล้วคนพิการก็มีศักยภาพกว่าที่คิด เป็นศักยภาพในรูปแบบของตัวเอง
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_3524101