กทม. รับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากเครือข่าย We Watch และพันธมิตรคนพิการ
กทม. รับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากเครือข่าย We Watch และพันธมิตรคนพิการ ผู้ว่าฯ ย้ำเป็นหน้าที่ของเมืองที่ต้องดูแลให้ดีที่สุด เล็งขยับการจ้างงานผู้พิการในสังกัด กทม. สู่ 600 คน
ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมร่วมเครือข่าย We Watch และพันธมิตรคนพิการ รับฟังข้อเสนอเชิงนโยบาย “ชัชชาติ” ย้ำเป็นหน้าที่ของเมืองที่ต้องดูแลให้ดีที่สุด
(9 ส.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์เลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) และพันธมิตรคนพิการ เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับคนพิการ โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ในวันนี้ เครือข่าย We Watch และพันธมิตรคนพิการได้นำข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวน 45 ข้อ ซึ่งได้มาจากการระดมความคิดเห็นของคนพิการรวม 43 คน มาเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีเรื่องหลัก 4 ข้อที่ผ่านการโหวตมาแล้วว่าอยากให้ดำเนินการก่อน ได้แก่ 1. ให้คนพิการและผู้ติดตามสามารถขึ้นรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินฟรี 2. การสร้างเครือข่ายผู้ปกครองเยาวชนคนพิการ รวมถึงการจ้างงานผู้ปกครองของคนพิการ 3. การจ้างงานคนพิการ 4. ตลาดนัดเพื่อให้คนพิการสามารถร่วมนำสินค้ามาขายได้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องหลัก 4 เรื่อง ว่า สำหรับเรื่องแรก ปัจจุบันคนพิการสามารถขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดินได้ฟรีอยู่แล้ว แต่ผู้ติดตามยังคงคิดราคาอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูความเป็นไปได้อีกครั้งว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เรื่องที่สอง การสร้างเครือข่ายผู้ปกครองเยาวชนคนพิการ ก็เป็นเรื่องที่ทาง กทม. เห็นด้วยอย่างมาก เพราะพ่อแม่ที่มีลูกพิการถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ทางภาครัฐอาจจะให้ความช่วยเหลือได้ไม่ตรง แต่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองคนพิการจะมีความเข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน มีประสบการณ์ซึ่งแบ่งปันกันได้ และจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการช่วยดูแลซึ่งกันและกัน โดยทาง กทม. จะเป็นตัวกลางในการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มนี้ รวมถึงการดูแลเรื่องการจ้างงานผู้ปกครองคนพิการต่อไป จะเห็นได้ว่าช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและเปราะบางมากที่สุด คือกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกพิการ เพราะต้องมีคนดูแลลูกพิการตลอดเวลาแล้ว 1 คน และออกไปทำงานได้เพียง 1 คน ซึ่งหมายถึงจะมีคนทำงานเพียงคนเดียวแต่ต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวอย่างน้อย 3 คน เราจึงคิดว่าการพัฒนาเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกพิการคล้าย ๆ กัน ก็จะสามารถช่วยให้เขาสามารถมีคำตอบกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งกทม.จะต้องช่วยสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกกับบริษัทที่มีการจ้างงานคนพิการ เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากกรุงเทพมหานครก่อน เพราะที่ผ่านมา กทม. มีการจ้างงานคนพิการน้อย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการจ้างงานคนพิการประมาณ 150 คน ซึ่งจะเพิ่มให้เป็น 300 คน และตั้งเป้าไว้ว่าจะจ้างงานคนพิการอย่างน้อย 600 คน การจ้างงานคนพิการมีข้อดีคือ ทำให้เรารู้ว่าเราขาดอะไรในที่ทำงานบ้าง เพราะประชาชนที่มีความพิการต้องมาติดต่อเขตอยู่แล้ว หากมีคนพิการซึ่งทำงานอยู่ในเขต ก็จะสามารถเตรียมสถานที่ให้พร้อมขึ้นได้ อีกทั้งจะทำให้เจ้าหน้าที่ กทม. เห็นว่า ยังมีคนที่มีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้เข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างกันของเพื่อนร่วมงานและประชาชนที่มีความพิการด้วย
อีกเรื่องคือการสร้างพื้นที่ให้คนพิการสามารถมาขายของได้ เช่น ตลาดนัด เป็นนโยบายที่ได้แจ้งกับ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ไว้แล้วว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ตลาดต่าง ๆ ของ กทม. หรือตลาดนัด จัดพื้นที่ให้คนพิการมีโอกาสนำสินค้ามาขาย พร้อมได้เน้นกับทางเครือข่าย We Watch ว่า เราไม่ต้องการให้ขายของได้จากความสงสาร เพราะความสงสารอยู่ไม่จีรัง ไม่ยั่งยืน ดังนั้นสินค้าที่จะนำมาขายจะต้องเป็นสินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาดและมีคุณภาพด้วย ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้บริโภค และจะทำให้อยู่ได้ระยะยาว เพราะฉะนั้น ทาง กทม. ก็จะต้องมีการอบรมวิชาชีพ การตลาด (marketing) ต่าง ๆ เพื่อให้คนพิการสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระยะยาว
จากนั้น รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวเสริมว่า กทม. จะมีการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อมาช่วยใน 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องการศึกษา ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าการศึกษาสำหรับคนพิการเข้าถึงยากมาก เราจึงคิดว่าการใช้แพลตฟอร์มจะทำให้เขาสามารถเรียนที่บ้านได้ โดยจะต้องมีหลักสูตรที่ตรงกับความพิการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และ 2. เรื่องการจ้างงาน ซึ่งแพลตฟอร์มไม่ได้ช่วยแค่ในเรื่องการศึกษา แต่ยังสามารถต่อยอดไปถึงอาชีพได้ สำหรับเดือนสิงหาคมเป็นเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเรามีเทคโนโลยีที่จะบูรณาการร่วมกับ กทม. หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งหนึ่งในแพลตฟอร์มนั้นจะเกี่ยวกับคนพิการ โดยช่วงปลายเดือนนี้จะมีการ hack (การสร้างสรรค์คิดค้นไอเดียและนวัตกรรมใหม่) กัน และคาดว่าภายในสิ้นเดือนจะมีการทดลองใช้กับคนพิการจริง
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องโครงสร้างต่าง ๆ ซึ่ง กทม.จะรับเรื่องไป อาทิ การปรับปรุงทางเท้า ปรับปรุงพื้นที่ให้มีความเชื่อมต่อกัน ส่วนเรื่องของกิจกรรมและงานที่ กทม. จัด เช่น บางกอกวิทยา จะมีการเชิญกลุ่มคนพิการเข้ามาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีทั้งเดือน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้คิดแค่ให้เข้าได้บางคน แต่ต้องเข้าได้ทุกคน ยกตัวอย่าง เช่น กรุงเทพกลางแปลง ที่เราได้นำแอปพลิเคชัน Pannana (พรรณนา) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถร่วมดูหนังได้ ซึ่งผู้พิการทางสายตาสามารถที่จะใส่หูฟัง รับฟังการบรรยาย และได้ความรู้สึกเหมือนเห็นภาพไปพร้อมกับทุกคน หรือกิจกรรมดนตรีในสวน ที่มีนักดนตรีคนพิการหรือเด็กพิเศษมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก ทั้งนี้ กทม. มีท่านภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลเรื่องนี้โดยตรง เรามีคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียง event แต่เป็นนโยบายหลักที่จะทำงานร่วมกันในอนาคต
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่อง พื้นที่ของออทิสติก ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) ระหว่างคนทั่วไปกับคนพิการ เพราะคนพิการไม่ได้มีแค่วีลแชร์ แต่มี 7 ประเภท ซึ่งประกอบด้วย ความพิการทางการเห็น ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ความพิการทางสติปัญญา ความพิการทางการเรียนรู้ และความพิการทางออทิสติก เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจคนพิการทุกประเภท โดยอาจจะมีกิจกรรมส่งเสริมให้คนทั่วไปได้มารับรู้ร่วมกับคนพิการแต่ละประเภท ซึ่งกลุ่มออทิสติกก็เป็นกลุ่มที่เครือข่าย We Watch อยากจะจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อมาคุยกันและเชิญคนทั่วไปมาเข้าใจ ซึ่งจะได้มีกิจกรรมต่อเนื่องกันต่อไป
ในโอกาสนี้ ผู้แทนเครือข่าย We Watch ผู้พิการวีลแชร์ และผู้พิการทางสายตา ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและทีมงาน ที่เปิดโอกาสให้ได้เข้ามาพูดคุยและยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้คนพิการได้มีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมออกแบบชีวิตของตนเอง สนับสนุนอาชีพแก่พ่อแม่ผู้ปกครองคนพิการ เพื่อให้สามารถดูแลครอบครัวได้ พร้อมส่งเสริมในเรื่องของการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับความพิการแต่ละประเภทเพื่อให้คนทั่วไปทราบ สนับสนุนด้านการศึกษา รวมถึงการนำแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาใช้ และขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
“นโยบายของกรุงเทพมหานครมีความชัดเจนว่า ต้องการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งกลุ่มคนพิการถือว่าเป็นพลเมืองสำคัญของเมือง เราต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะเขาคือกลุ่มคนเปราะบางที่สุดของคนในเมือง และผมเชื่อว่า ถ้าทำให้พี่น้องที่พิการสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ คนทั่วไปก็เดินทางได้ดีขึ้นแน่นอน ถ้าเราให้บริการและดูแลคนพิการได้ดี คนทั่วไปก็จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้นด้วย นี่ก็เป็นนโยบาย เป็นหน้าที่ของเมืองที่ต้องดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีที่สุด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย