กสม. สอบกรณีคนพิการถูกปฏิเสธให้ดำรงตำแหน่งใน SEAMEO เข้าข่ายเลือกปฏิบัติ
กสม. ตรวจสอบกรณีสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร ชี้เป็นการเลือกปฏิบัติ จี้ทางผู้ถูกร้องให้มีการเยียวยา ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีการขอโทษและจ่ายค่าชดเชย
11 ส.ค. 2565 ทีมสื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (11 ส.ค.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิก กสม. และ พิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 28/2565 โดยมีหนึ่งในวาระสำคัญ คือ กรณี SEAMEO ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร เป็นการเลือกปฏิบัติ
วสันต์ ภัยหลีกลี้ เผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อ ม.ค. 2565 เกี่ยวเนื่องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ กรณีสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ยกเลิกการแต่งตั้งคนพิการให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับทุนรัฐบาลสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากสหรัฐฯ ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทำงานกับสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เป็นสมาชิก และผู้ร้องได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการตอบรับเข้าทำงานแล้ว โดยองค์กรผู้ถูกร้องได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย เมื่อ พ.ย. 2564 แจ้งให้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ร้องเข้ารับตำแหน่ง แต่ภายหลังผู้บริหารองค์กรดังกล่าวนัดหมายให้ผู้ร้องเข้าพบเพื่อยืนยันความพร้อมในการปฏิบัติงานและเมื่อเห็นสภาพร่างกายของผู้ร้อง ก็ได้แจ้งยกเลิกการจ้างงานในตำแหน่งที่ผู้ร้องผ่านการคัดเลือก
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามบัญญัติห้ามมิให้กระทำการเช่นว่านั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ยอมรับได้ จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุที่ผู้ถูกร้องไม่แต่งตั้งผู้ร้องให้ดำรงตำแหน่งในองค์กร เนื่องจากพบว่าผู้ร้องมีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว โดยผู้ถูกร้องอ้างว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติทางกายภาพตามที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติของตำแหน่งงาน ทั้งที่ไม่ได้ระบุคุณสมบัติไว้อย่างชัดแจ้งตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครว่าไม่ประสงค์ให้ผู้พิการเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องใช้เหตุแห่งความพิการของผู้ร้องในการไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ถูกร้องจะแจ้งเหตุผลว่า ตำแหน่งดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องประสานกับภาคีเครือข่าย และต้องเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา จึงตัดสินใจไม่แต่งตั้งให้ผู้ร้องดำรงตำแหน่งที่คัดเลือกไว้ พร้อมกับได้เสนองานในตำแหน่งอื่นเป็นการทดแทน แต่ กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องย่อมสามารถใช้วิธีการอื่นในการพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งงานของผู้ร้องก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและสภาพการจ้างงานผู้ร้อง เช่น การให้ทดลองปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่กำหนดและประเมินผล เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะในการทำงานตำแหน่งนั้นๆ แต่เมื่อผู้ถูกร้องไม่ได้กระทำการดังกล่าว และกลับใช้ดุลยพินิจตัดสินจากสภาพทางกายของผู้ร้องว่าไม่อาจปฏิบัติงานในตำแหน่งที่คัดเลือกเข้ามาได้ จนนำไปสู่การถอนข้อเสนองานในเวลาต่อมา การกระทำของผู้ถูกร้องเช่นนี้ จึงเป็นการตอกย้ำในเหตุแห่งความไม่เท่าเทียม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความพิการของบุคคลและไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ถูกร้อง) กระทรวงศึกษาธิการ และสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปได้ ดังนี้
1) ให้สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดมาตรการในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องตามสมควร โดยอย่างน้อยจะต้องมีการขอโทษผู้ร้องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอบสวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใต้กฎระเบียบของผู้ถูกร้อง รวมถึงการชดเชยเป็นค่าเสียหายจากการที่ผู้ร้องไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ผ่านการคัดเลือก
2) ให้สภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของผู้ถูกร้อง นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ไปใช้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้อีก
3) ให้กระทรวงศึกษาธิการแจ้งองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในกรณีจะต้องมีการประชาสัมพันธ์การรับสมัครบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรนั้นๆ โดยจะต้องมิให้กำหนดเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังเช่นกรณีตามคำร้องนี้อีก
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้