คนพิการปลื้ม ฝึกซ่อมรถเข็นแล้วมีงานทำรับรายได้กว่า 9,500 บาท
คนพิการปลื้ม ฝึกซ่อมรถเข็นแล้วมีงานทำรับรายได้กว่า 9,500 บาท
รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ห่วงใยคนพิการ สั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งฝึกทักษะอาชีพ มีงานทำ สร้างรายได้กว่า 9,500 บาทต่อเดือน ตามนโยบายรัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะให้แก่แรงงานกลุ่มดังกล่าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาส ให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ปี 2565 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการฝึกอบรมแรงงานคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เป้าหมาย 300 คน ดำเนินการแล้ว 274 คน ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี เพชรบุรี อุตรดิตถ์ สุโขทัย ระนอง สตูล กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และภูเก็ต นอกจากจังหวัดดังกล่าวแล้ว ยังมีจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดเพื่อดำเนินการฝึกอบรมให้แก่คนพิการอีกด้วย เช่น จังหวัดน่าน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน ได้รับงบประมาณจากจังหวัดให้จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ 5 รุ่น จำนวน 100 คน ในหลักสูตร การทำขนมอบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และหลักสูตรช่างซ่อมรถเข็นคนพิการ ได้มีการติดตามผลหลังจากฝึกจบแล้วพบว่า คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ทั้งอาชีพส่วนตัวและเป็นลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ จึงขอยกตัวอย่างจากการส่งทีมตามติดตามผลการฝึก ซึ่งมีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมการซ่อมรถเข็นคนพิการ แล้วบริษัทจ้างให้ทำงานตามมาตรา 35 เดือนละ 9,500 บาทประจำอยู่ที่ศูนย์ซ่อมรถเข็นคนพิการจังหวัดน่าน
นายโชค มูลถี (ช่างโชค) อายุ 47 ปี เป็นหัวหน้าศูนย์ซ่อมรถเข็นคนพิการจังหวัดน่าน เล่าว่า เมื่อปี 2545 เคยเข้ารับการฝึกอบรม ช่างซ่อมรถเข็นคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 165 ชั่วโมง กับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน พอมีพื้นฐานความรู้ด้านการซ่อมรถเข็นคนพิการมาบ้าง เพราะเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนพิการของสมาคมคนพิการของจังหวัดน่าน ต้องการมีความรู้และทักษะเพิ่มเติมจึงมาเข้าอบรม เมื่อจบจากการฝึกได้ชักชวนเพื่อนๆ ที่เคยอบรมด้วยกัน มาเป็นสมาชิกของศูนย์ซ่อมดังกล่าว เพื่อให้บริการซ่อมรถเข็นให้คนพิการด้วยกัน โดยศูนย์ซ่อมแห่งนี้จะคิดค่าซ่อมจากวัสดุอุปกรณ์บวกกับค่าแรงเพียง 100-200 บาท ต่อการซ่อมรถเข็น 1 คัน รายได้ที่สมาชิกทั้ง 6 คน ได้รับเป็นเงินเดือนที่บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไล แอนซ์ จำกัด และบริษัท เดอะวันเซ็นทรัล จำกัด จ่ายแป็นค่าจ้างตามมาตรา 35 ตามโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการ พ.ศ.2564 ในอัตราเดือนละ 9,500 บาท จึงรู้สึกปลื้มใจที่สามารถนำความรู้มาช่วยเหลือคนพิการด้วยกันในการให้บริการที่ศูนย์ซ่อมแห่งนี้ และขอบคุณทุกน่วยงานที่ร่วมกันให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนพิการให้มีความรู้ และประสานกับภาคเอกชนให้มีการจ้างงานคนพิการทำให้มีรายได้ดูแลตัวเองและไม่เป็นภาระของครอบครัว
“การช่วยเหลือคนพิการให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้นั้น จะต้องช่วยให้เขามีความรู้ ทักษะก่อนอันดับแรก นอกจากนั้น สังคมต้องให้โอกาส และยอมรับในความสามารถของกลุ่มแรงงานดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน บูรณาการร่วมกันให้ความช่วยเหลือคนพิการได้ทำงานอย่างมั่นคงพร้อมเป็นพลังในการสร้างเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อธิบดี กพร.กล่าวทิ้งท้าย