ถ้าเสี่ยง…ต้องไม่ทำ วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ถ้าจะถามว่า “คาถาเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุอันตราย” ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งสามารถจะป้องกันการบาดเจ็บพิการหรือตายอย่างได้ผลด้วย คืออะไร ผมตอบได้เลยว่า หนึ่งในคาถาที่ได้ผลและควรท่องให้ขึ้นใจ ในวันนี้ ก็คือ "ถ้าเสี่ยง…ต้องไม่ทำ !”
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่า รอบตัวเรามีอะไรที่เสี่ยงถึงขนาดต้องไม่ทำบ้าง สถานที่ทำงาน หรือในโรงงานของเรานั้น คนงานจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอะไรเสี่ยงๆ บ้าง มีจุดไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษบ้าง”
ถ้าเราทุกคนรู้ว่า เรากำลังทำงานที่เสี่ยง หรือ กำลังใช้ชีวิตที่เสี่ยง เราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า จะมีความสูญเสียหรือความบาดเจ็บพิการอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง เราก็ต้องไม่ทำงานนั้นและไม่ใช้ชีวิตที่เสี่ยงๆ แบบนั้นต่อไป
ถ้าไม่ได้ทำงานที่เสี่ยง คนงานก็จะทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งอาจจะเป็น
(1) การจับต้องสิ่งของอันตราย (ที่อาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นผื่นแสบคัน แสบจมูกหาย ใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ มึนงง อาเจียน เป็นต้น)
(2) การทำงานทั้งที่ไม่รู้วิธีการทำงานอย่างปลอดภัย (การเทผสมสารเคมี การเดินเครื่องจักรกล การเชื่อมต่ออุปกรณ์และสายไฟฟ้า การไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การไม่มีคู่มือ หรือ มาตรฐานการทำงาน เป็นต้น)
(3) การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (เสียงดัง ฝุ่นลอยฟุ้งทั่วห้อง ร้อนหนาวเกินไป เป็นต้น)
“ความเสี่ยง (อันตราย)” จึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็น “จุดกำเนิด” ของความสูญเสียต่างๆ (ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน) ในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องศึกษาเรียนรู้และสังเกตุว่า รอบตัวเรามีอะไรที่เสี่ยงหรือมีจุดอันตรายอะไรบ้าง ทั้งที่พักอาศัยอยู่บ้าน เดินทางท่องเที่ยว ทำงานในสำนักงาน และในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อรู้ว่าเสี่ยง ก็ต้องหยุดทำ
ถ้าจะพูดอย่างง่ายที่สุด ก็พอจะประมาณได้ว่า “ความเสี่ยง” ก็คือ สิ่งที่มีโอกาสทำให้เราบาดเจ็บ พิการ หรือ ตายได้ จากการสัมผัสสิ่งนั้นหรือทำงานนั้น
ดังนั้น เราจึงต้องขยันตรวจสอบและหมั่นถามตัวเองว่า รอบตัวเรา หรือ งานที่ทำๆ อยู่นั้น มีอะไรที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พิการได้บ้าง ถ้ามี เราก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุอันตรายเกิดขึ้น อาทิ การไม่ใช้มือจับโดยตรง การไม่สูดหายใจเข้าปอดโดยตรง การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ การทำตามคู่มือและมาตรฐานความอย่างปลอดภัย
ในความเป็นจริงแล้ว “ความเสี่ยงในการทำงาน” ต่างจาก “ความเสี่ยงในการลงทุน” เพราะความเสี่ยงในการลงทุนทางธุรกิจอุตสาหกรรม มีได้มีเสีย แต่ความเสี่ยงในการทำงานจะไม่มีได้เลย เพราะมีแต่เสียอย่างเดียว
คือ มีโอกาสบาดเจ็บเล็กน้อย (แผลถลอกปอกเปิด เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ) หรืออาจถึงขั้นพิการก็ได้ (สูญเสียอวัยวะ นิ้วขาด แขนขาด ตาบอด) หรืออาจเป็นโรคจากการทำงาน (ปอดฝุ่นทราย หอบหืด) หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยก็มี
กรณีตัวอย่างในโรงงาน จึงต้องเริ่มต้นด้วย “การค้นหา” หรือ “การชี้บ่ง” ว่ามีอันตราย ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง และควรจะประเมินความเสี่ยงของงานที่ต้องทำ และสภาพแวดล้อมภายในโรงงานให้ครอบคลุมทั้งงานหรือกิจกรรมที่ทำเป็นประจำและที่ไม่ได้ทำเป็นประจำด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าความเสี่ยงนั้นๆ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บพิการได้ รุนแรงมากน้อยเพียงใด และบ่อยครั้งหรือไม่
ปกติแล้ว เราควรจะมีการค้นหาหรือชี้บ่งจุดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน (ก่อนเรื่องอื่นๆ ด้วยซ้ำไป) รวมถึงการประเมินขีดความสามารถหรือความพร้อมทำงานของพนักงาน และการตรวจพิจารณาดูว่าท่าทางในการทำงานนั้นๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ด้วย
นอกจากนี้ เราควรจะต้องค้นหาหรือชี้บ่งจุดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับบริเวณพื้นที่ทำงาน สถานที่ตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ และความเพร้อมต่อการใช้งานอย่างปลอดภัยด้วย
การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยงนั้น ควรกระทำเป็นประจำ หรือ ตามช่วงเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ และต้องแจ้งผลเพื่อสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ทราบ เพื่อจะได้ระวังอันตรายจากความเสี่ยงที่พบ และหาทางแก้ไขป้องกันล่วงหน้า
เรื่องนี้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการโรงงาน ผู้ควบคุมงาน หัวหน้างาน วิศวกรและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย จะต้องบอกต้องสอนต้องอธิบายถึง จุดเสี่ยง จุดอันตราย วิธีการทำงานที่ปลอดภัย และวิธีการแก้ไขป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บพิการจากการทำงานนั้นๆ และต้องเป็นการสอนที่หน้างานด้วย (OJT)
ทุกวันนี้ ผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการทำงาน จึงต้องเรียนรู้ถึงจุดเสี่ยงภัยและจุดอันตรายต่างๆ ในงานที่ทำตลอดกระบวนการผลิต และต้องสั่ง “หยุด” พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหมด
คือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ “การกระทำที่ไม่ปลอดภัย” หรือ “สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย” ก็ต้องท่องคาถาว่า “ถ้าเสี่ยง…ต้องไม่ทำ !” ครับผม!
ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/news/news_update/1024098