สปสช. เยี่ยมชมกองทุนฟื้นฟูฯ จ.พิจิตร ที่สามารถบริหารงบดีมีงบคงเหลือน้อยสุดในเขตสุขภาพที่ 3
สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตร หลังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ดี มีเงินคงเหลือน้อยที่สุดในเขตสุขภาพที่ 3
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.ภญ. ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ จ.พิจิตร เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตร โดยมีพันตำรวจเอกกฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกอบจ.พิจิตร นายสุรพล สิริปิยานนท์ สสอ.วชิรบารมี พญ.ผกามาศ เพชรพงศ์ ผอ.วชิรบารมี และนายวรพล เลือดทหาร ผอ.รพ.สต.บ้านนา จ.พิจิตร ร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูฯ จ.พิจิตร ที่วัดบ้านนาซึ่งมีโครงการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ผู้ป่วยผู้สูงอายุและคนพิการที่ทำโดยพระเป็นหลัก
ดร.ภญ. ยุพดี กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดเป็น Matching fund รูปแบบหนึ่งที่ สปสช. สมทบงบประมาณร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและ จัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งปัจจุบันมี อบจ. ที่จัดตั้งกองทุนนี้แล้วกว่า 58 จังหวัด ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯในหลายจังหวัดติดขัด ดำเนินโครงการล่าช้า บางจังหวัดมีเงินคงเหลือมากกว่า 90%
ดร.ภญ. ยุพดี กล่าวต่อว่า ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดพิจิตร เป็นกองทุนหนึ่งที่สามารถบริหารงบประมาณได้ดี โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ย. 2565 กองทุนฟื้นฟูฯ จ.พิจิตร สามารถเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อจัดบริการแก่กลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุดในเขตสุขภาพที่ 3 โดยสามารถใช้จ่ายงบได้ 4.89 ล้านบาท จากรายรับ 6.57 ล้านบาท ทำให้เป็นกองทุนที่มีเงินคงเหลือน้อยที่สุดในเขต คือ 41% ซึ่งการเยี่ยมชมในครั้งนี้ สปสช. จะได้ถอดบทเรียนวิธีการบริหารงบประมาณภายใต้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ และเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯจังหวัดอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางประกอบการบริหารงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 ต่อไป
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ จ.พิจิตร ในปีงบประมาณ 2565 มีหลายโครงการ อาทิ โครงการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ จำนวน 1.8 แสนบาท โครงการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการจัดตั้งศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์ฯ จำนวน 9 รายการ รวม 2.4 ล้านบาท โครงการสุขาน่าใช้ ใส่ใจคนพิการและผู้สูงอายุ มีผู้ขอความช่วยเหลือ 15 ราย รวมงบประมาณ 49,650 บาท โครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย มีผู้ขอรับความช่วยเหลือ 35 ราย รวมงบประมาณ 1.5 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านนายวรพล เลือดทหาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เล่าว่า รพ.สต. เข้ามามีบทบาทเรื่องประสานงานในระดับพื้นที่ องค์กรต่างๆ รวมถึงภาครัฐด้วยที่เข้ามาช่วยให้สามารถดำเนินการทำงานไปได้อย่างราบรื่น ทำงานในรูปแบบทีมงานที่ประกอบด้วย หมู่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ และวัด ที่ได้ตั้งศูนย์ซ่อมนี้ขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 โดยการทำงานได้เริ่มไปสำรวจผู้ป่วยตามชุมชนและหมู่บ้านว่า ขาดการอุปกรณ์อะไรบ้างที่ต้องการนำมาดำรงชีวิตให้ดีขึ้น เราเองมองเห็นความลำบากของผู้ป่วยด้วย และคิดว่ามีอุปกรณ์กายแบบไหนบ้างที่สามารถนำมาซ่อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย และยังทำให้ลดค่าใช่จ่ายของชาวบ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการขอบริจาคตามองค์กรต่างๆด้วยเพื่อจะนำมายังศูนย์ซ่อม และส่งมอบให้กับประชาชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ต้องการต่อไป
ซึ่งการทำตรงนี้ถือว่าช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินที่ต้องไปซื้อกายอุปกรณ์ด้วย ทำงานครั้งนี้ยังได้ความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน อสม. ที่เข้ามาช่วยเหลือตลอด เราได้ประสานการทำงานกันตลอดได้วางแผนร่วมกับ อสม.ที่อยู่ในพื้นที่ ว่าหลังคาเรือนไหนที่มีอุปกรณ์ อาทิ ไม่เท้า วีลแชร์ ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ทางวัดยินดีที่จะรับบริจาคเพื่อนำมาซ่อมแล้วส่งมอบให้กับผู้ที่ต้องการใช้กายอุปกรณ์ด้วย เราได้รับความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด
ซึ่งเดิมยังไม่มีงบประมาณเข้ามา ทางวัดได้ทำการตั้งกองผ้าป่าเกือบ 31 วัด ตั้งกองผ้าป่าขึ้นในช่วงวันปีใหม่ เมื่อเสร็จแล้วเอาเงินมารวมที่กองทุนกายศูนย์ซ่อมอุปกรณ์ของวัดบ้านนา รวมทั้งยังได้รับบริจาคจากพี่น้องประชาชนที่บริจาคเข้ามาอีกด้วย
จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมชมบ้านผู้พิการที่ได้รับการสนับสนุนงบกองทุนฟื้นฟูจังหวัดพิจิตร ภายใต้โครงการ “สุขาน่าใช้ใส่ใจคนพิการและผู้สูงอายุ” คือ นางสมคิด น้อยพันธ์ อายุ 60 ปี ผู้พิการขาตั้งแต่กำเนิด ที่ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร โดย ได้สร้างห้องชั้นบน จากเดิมต้องเข้าห้องน้ำข้างล่าง และบ้านนายหลง สระทองแก้ว อายุ63 ปี ที่พิการขาเช่นกัน โดยอยู่กับภรรยาที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและได้เสียชีวิตหลังทำเสร็จปัจจุบันอยู่คนเดียวโดยทำพื้นบ้าน ฝาผนัง และห้องน้ำให้ใหม่เพื่อความสะดวกมากขึ้น