‘กลุ่มบริษัทกัลฟ์’ สนับสนุนศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาส
โรคที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีตั้งแต่ขั้นเล็กๆ อย่างปากแหว่ง เพดานโหว่ ไปจนถึงขั้นรุนแรง เช่น มีลักษณะของกระบอกตาที่อยู่ห่างกัน ขากรรไกรผิดรูปผิดร่าง ใบหน้าแหว่ง ฯลฯ เหมือนกับเด็กชายอ๊อกกี้ ในหนังเรื่อง ‘Wonder ชีวิตมหัศจรรย์’
แม้จะโชคร้ายเกิดมาพิการ แต่เจ้าหนูยังโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะไม่ลำบาก เรียนหนังสือได้เช่นเดียวกับคนปกติ (ถึงจะโดนล้อบ้าง) แตกต่างไปจากชีวิตจริงของผู้ป่วยคนไทยส่วนใหญ่ เพราะความพิการเหล่านี้มักเกิดกับผู้ที่มีฐานะยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเต็มที่
เมื่อลูกเกิดมาแล้วพิการใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ก็ยิ่งทุกข์ทั้งกายและใจ มองไม่เห็นอนาคตว่า ลูกรักจะมีโอกาสกลับมามีสภาพร่างกายที่ปกติเหมือนกับคนอื่นๆ หรือไม่
‘ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย’ จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 เพื่อเป็นศูนย์เฉพาะทาง ด้านการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ (Craniofacial Deformities) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้นำของการนำเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ในสาขานี้ มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เช่น อุปกรณ์เพิ่มขนาดกระดูกใบหน้า การทดแทนกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะด้วยกระดูกเทียม ที่ออกแบบโดยเฉพาะ สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย มีการใช้เทคโนโลยีการสร้างต้นแบบทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว วัสดุยึดเชื่อมกระดูกแบบละลายได้ การใช้วัสดุยึดกระดูกชนิดละลายได้ เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2559 กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มต้นสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่ารักษาผู้ป่วย ฯลฯ หรือร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการคลินิกเคลื่อนที่แบบสหสาขาวิชาชีพของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ที่ทีมแพทย์ลงพื้นที่ไปตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศีรษะทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทีมจิตอาสาที่เป็นบุคลากรของกัลฟ์ พร้อมใจกันมาช่วยทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการจัดคิวเข้าพบแพทย์ จัดเตรียมอุปกรณ์ของจำเป็น รวมถึงดูแลกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งโครงการด้วยความยินดี ทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มบริษัทกัลฟ์ได้จัดตั้งโครงการทุนการศึกษา ‘หนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต’ ซึ่งเป็นการมอบทุนต่อเนื่อง 4 ปี (2563-2566) จำนวนกว่า 5 ล้านบาท เด็กแต่ละรายจะได้รับทุนการศึกษาไปจนถึงระดับการศึกษาที่ผู้ป่วยรายนั้นต้องการ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสติปัญญา
ถือเป็นการมอบอนาคตให้ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน เพราะหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก พิจารณาจากสถานะทางครอบครัวเป็นอันดับแรก ต่างจากการมอบทุนการศึกษาทั่วไปที่พิจารณาจากผลการเรียนเป็นหลัก เนื่องจากผู้ป่วยในโครงการมีปัญหาทางสมองควบคู่ไปด้วย ทุนการศึกษาก็จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่ามีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อปีที่เท่าใด โดยดูตามความเหมาะสม เพื่อให้ทุนการศึกษาก้อนนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการมีคณะทำงานติดตาม ประกอบไปด้วยนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาของโรงพยาบาลจุฬาฯ นักสังคมสงเคราะห์ประจำจังหวัด อำเภอ และตำบล ผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูประจำชั้น ติดตามทั้งผลการเรียนของผู้ป่วยแต่ละคน ตรวจสอบด้านการใช้จ่ายของครอบครัว และอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับทุน เพื่อประเมินเป็นรายปีว่า ทุนนั้นเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ อยู่ในระบบการเรียนและใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างไร หรือควรปรับและพัฒนารูปแบบการให้ทุนอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ตมน รัตนาวะดี ผู้บริหารกลุ่มบริษัทกัลฟ์ กล่าวไว้ว่า โครงการหนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต เป็นความช่วยเหลือด้านการศึกษาที่ต่อยอดมาจากความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยที่สังคมยังไม่ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร และเป็นผู้ป่วยขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีความประพฤติดี
“นอกจากนี้ โครงการหนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัท ทีมแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ครอบครัวผู้ป่วย และโรงเรียน การออกแบบโครงการจึงตอบสนองต่อความต้องการด้านการศึกษาของผู้ป่วยแต่ละรายอย่างแท้จริง โดยคาดหวังว่า จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มโอกาสในการที่จะมีชีวิตที่ดีต่อไป”
ตอกย้ำนโยบายการมุ่งพัฒนาเยาวชนไทย และสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสะท้อนพันธกิจเพื่อสังคมภายใต้แนวคิด ‘Powering the Future, Empowering the People’ ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน