'ผู้ป่วยจิตเวชกับลักษณะต้องห้ามในการทำงาน' ผลบวก-ลบ ที่ต้องตีความบนหลักความเสมอภาค
หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) : รายงาน
'ผู้ป่วยจิตเวชกับลักษณะต้องห้ามในการทำงาน' ผลบวก-ลบ ที่ต้องการการตีความบนหลักความเสมอภาค และดำเนินการด้วยองค์ความรู้เชิงประจักษ์เพื่อคุณภาพชีวิต ความเป็นธรรม และประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
ปัจจุบันเรื่องสุขภาพจิต กลายเป็นประเด็นที่สังคมมีความตระหนักถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่สถานการณ์หลายอย่าง ล้วนเป็นสิ่งเร้าที่อาจทำให้เกิดการสะสมความเครียดในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาครอบครัว การงาน การเจ็บป่วยหรือโรคภัยต่างๆ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งหากใครจัดการความเครียดต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ อาจมีแนวโน้มภาวะทางอารมณ์ผิดปกติ หรือต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตค่อนข้างสูง จนบางคนอาจถึงขั้นกลายเป็น “ผู้ป่วยโรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติ” ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าปีงบประมาณ 2564 มีการให้บริการผู้ป่วยจิตเวช จำนวน327,527 คน เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2563 ที่มีจำนวน 265,202 คน (ข้อมูลจากเว็บกรมสุขภาพจิต) รวมถึงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วย โรคทางจิตที่มักเกิดปัญหากับการทำงาน ที่มารับบริการด้านจิตเวช ประจำปีงบประมาณ 2564 อาทิ โรคจิตเภท 284,273 คน โรคอารมณ์สองขั้ว 34,675 คน โรคซึมเศร้า 353,267 คน และโรคจิตอื่นๆ 102,703 คน(ข้อมูลจากเว็บกรมสุขภาพจิต)
นอกจากนี้จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ยังพบอีกว่า ประชากร 1 ใน 8 คน หรือ 970 ล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญกับความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิต อาทิ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา(ข้อมูลจาก WHO) ส่วนรายงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปีงบประมาณ 2564 พบว่า มีการขึ้นทะเบียนคนพิการประเภท 4 ด้านจิตใจหรือพฤติกรรม จำนวน 164,230 คน คิดเป็นร้อยละ 7.84 ของคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด และส่วนใหญ่อายุ 15-59 ปี ซึ่งยังอยู่ในวัยทำงาน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ทั้งนี้ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวยิ่งตอกย้ำว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับประเทศและโลกที่สังคมมิอาจเพิกเฉย