ยากที่จะสู้ในตลาดแรงงาน พบ ‘คนพิการ’ 7 ใน 10 คนจากทั่วโลก ‘ไม่มีงานทำ’
องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้มี ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ’ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD) มาตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งอนุสัญญาฯ นี้ได้ครอบคลุมถึงสิทธิการมีงานทำของคนพิการไว้ด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันคนพิการยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ข้อมูลจากฝ่ายสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILOSTAT) ชี้ว่า คนพิการทั่วโลกกว่า 7 ใน 10 คนไม่มีงานทำ โดย ‘ผู้หญิงพิการ’ ต้องเผชิญกับความยากลำบากที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 สถานการณ์การจ้างงานคนพิการ ก็ยังมีแนวโน้มแย่ลง
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีกฎหมายที่สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานคนพิการ แต่พบว่างานที่คนพิการทำอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และความท้าทายจาก Digital Disruption ก็อาจส่งผลกระทบต่องานของคนพิการในรูปแบบเก่า ยกตัวอย่างเช่น การจัดจำหน่ายสลากฯ ดิจิทัล ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อคนพิการที่มีอาชีพขายสลากฯ แบบเดิม ที่ไม่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้บ้างแล้ว เป็นต้น
ประมาณการกันว่า ในปัจจุบัน มี ‘คนพิการ’ เป็นสัดส่วนราว 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก หรือประมาณ หนึ่งพันล้านคน
และแม้องค์การสหประชาชาติ (UN) จะประกาศให้มี ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ’ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD) มาตั้งแต่ปี 2007 โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 มี 185 ประเทศ ให้การรับรอง และมี 164 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้แล้ว
อนุสัญญาฉบับนี้ฯ นี้เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริมพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิการมีงานทำของคนพิการไว้ด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันพบว่าคนพิการยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านร่างกาย อุปสรรคด้านทัศนคติ และอุปสรรคด้านข้อมูล ที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ถูกปฏิเสธสิทธิในการทำงานอย่างเท่าเทียมกันกับผู้อื่น คนพิการส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสในการจ้างงานในระดับเดียวกับผู้ไม่พิการ และบ่อยครั้งคนพิการมักจะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่สูญเสียงาน เมื่อเกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในสถานการณ์การจ้างงานที่เปราะบางในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย
สถิติชี้ ‘คนพิการ’ ทั่วโลกกว่า 7 ใน 10 คน ‘ไม่มีงานทำ’
ข้อมูลที่รวบรวมโดยฝ่ายสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILOSTAT) ที่เผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2022 ให้ตัวเลขที่สะท้อนว่า คนพิการยังคงเผชิญอุปสรรคมากมายในโลกแห่งการทำงาน
ILOSTAT ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการจ้างงานคนพิการ และตลาดแรงงานของ 61 ประเทศ/เขตการปกครอง ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก (ข้อมูลระหว่างปี 2007-2021) พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานของคนพิการต่ำมาก เพราะในระดับทั่วโลก พบว่าคนพิการ 7 ใน 10 คน ไม่มีงานทำหรือกำลังตกงาน แปลว่าจากกว่าครึ่งของทั้ง 61 ประเทศนั้น พบว่าอัตราการว่างงานของคนพิการ สูงกว่ากลุ่มที่ไม่พิการ ทั้งนี้อัตราการว่างงานเฉลี่ยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ อยู่ที่ 7.6 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับ 6 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้ไม่พิการด้วยกันเอง
ดังนั้น จึงมีคนพิการประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีงานทำ ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้ไม่พิการ โดยช่องว่างในการจ้างงานระหว่างคนพิการกับผู้ที่ไม่พิการนี้ เพิ่มขึ้นตามอายุด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนพิการส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา มักทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะเป็นงานที่ขาดความปลอดภัยและขาดสวัสดิการ และกว่า 3 ใน 4 จาก 61 ประเทศ พบว่าคนพิการมีแนวโน้มมากกว่าผู้ที่ไม่พิการที่จะได้รับการจ้างงานนอกระบบ – นี่หมายความว่า พวกเขาประสบปัญหามากขึ้นในการเข้าถึงงานที่ดี เนื่องจากแรงงานนอกระบบนั้น ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานหรือประกันสังคม คนพิการที่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ จึงอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางยิ่งขึ้น
คนพิการมีแนวโน้มมากกว่าผู้ที่ไม่พิการ ในการประกอบอาชีพอิสระ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นโอกาสอันน้อยนิดที่พวกเขาจะได้รับการว่าจ้างจากผู้ประกอบการ จึงต้องหันมาประกอบอาชีพด้วยตนเองแทน นอกจากนี้ ยังพบว่าคนพิการมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าผู้ที่ไม่พิการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและมาตรฐานการครองชีพ
รายได้ต่อเดือนที่ต่ำของคนพิการ จะจำกัดความสามารถในการบริโภคและทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะตกเข้าสู่ภาวะความยากจน
ผู้หญิงพิการลำบากที่สุด และอุปสรรคในการศึกษาและการฝึกอบรม
อัตราการว่างงานในผู้หญิงที่พิการ ก็ยังสูงเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นว่าพวกเธอต้องเผชิญกับความเสียเปรียบถึง 2 เท่าในตลาดแรงงาน เนื่องจากทั้งเพศสภาพและความพิการของพวกเธอ โดยใน 61 ประเทศที่มีข้อมูล พบว่า อัตราการว่างงานของผู้หญิงพิการไม่เพียงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่พิการเท่านั้น แต่ยังสูงกว่าอัตราของผู้ชายทั้งที่พิการและไม่พิการอีกด้วย
อุปสรรคที่คนพิการเผชิญนั้น พบตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว โดยคนพิการที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี มีแนวโน้มที่จะ “อยู่นอกระบบการศึกษารวมทั้งไม่ได้อยู่ในระหว่างการทำงานหรือฝึกอบรมใดๆ” (Not in Education, Employment, or Training หรือ NEET) สูงกว่าผู้ไม่พิการถึง 5 เท่า นอกจากนี้อัตรา NEET ผู้หญิงพิการก็ยังสูงกว่าผู้ชายพิการด้วย
แม้จะได้รับการศึกษา แต่ข้อมูลของ ILOSTAT ยังแสดงให้เห็นว่า คนพิการมีโอกาสเป็น 2 เท่าที่จะได้รับการศึกษาเพียงระดับขั้นพื้นฐานเท่านั้น พวกเขามีแนวโน้มได้รับการศึกษาขั้นสูงเพียงครึ่งเดียว โดยการค้นพบนี้ยืนยันว่า คนพิการต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งรวมถึงอุปสรรคในการศึกษาอันเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของชีวิต สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์ของตลาดแรงงานที่ตามมา เนื่องจากอัตราการจ้างงานสำหรับทั้งผู้พิการและไม่พิการนั้น จะสูงขึ้นตามระดับการศึกษา
นอกจากนี้ ความสำเร็จทางการศึกษายังสัมพันธ์กับระดับทักษะของอาชีพ จึงทำให้คนพิการมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ทำงานในอาชีพที่มีทักษะสูง
ช่วงโควิด-19 สถานการณ์การจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มแย่ลง
ภายหลังการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการจนถึงก่อนการระบาดของโควิด-19 แม้จะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการลดอุปสรรคที่คนพิการต้องเผชิญในตลาดแรงงาน เป็นผลให้มีการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ในช่วงการระบาดใหญ่ ความก้าวหน้านี้ต้องหยุดลงหรือถดถอยลงไป
ข้อมูลของ ILOSTAT ระบุว่าจาก 11 ใน 12 ประเทศที่มีข้อมูล ณ ช่วงเวลานั้น พบว่า สัดส่วนการจ้างงานคนพิการในปี 2020 ลดลงจากปี 2019 สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ คือการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมากระหว่างการระบาดใหญ่นั้น อยู่ในภาคการค้าปลีกและการบริการ ที่คนพิการจำนวนมากมักจะทำงานในภาคนี้ ทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่า คนพิการไม่เต็มใจที่จะกลับไปทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
ส่วนข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ชี้ว่า แม้จะยังไม่มีการศึกษาตัวเลขที่ชัดเจน ว่าคนพิการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องสูญเสียงานในช่วงโควิด-19 ไปเป็นจำนวนเท่าใด แต่ก็มีกรณีตัวอย่างในหลายประเทศ ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อคนทำงานพิการ
เช่น ในอินเดีย คนพิการใน 10 ท้องถิ่น ต้องตกงานเพียงชั่วข้ามคืนเนื่องจากการปิดกิจการของโรงงานในท้องถิ่นนั้นๆ และจากการสำรวจโดยศูนย์ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการของอินเดีย พบว่า 73 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสำรวจประสบกับความยากลำบากอย่างหนัก โดยเฉพาะด้านการเงิน การเข้าถึงอาหาร และการดูแลสุขภาพ ในช่วงการระบาดใหญ่, ในประเทศจีน 81.5 เปอร์เซ็นต์ ของร้านนวดที่มีคนตาบอดทำงานอยู่นั้น ต้องปิดตัวลงในช่วงการระบาดใหญ่ ส่งผลให้พวกเขาต้องสูญเสียอาชีพและรายได้, ส่วนในฟิลิปปินส์ คนพิการกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าพวกเขาได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพในช่วงโควิด-19 เป็นต้น
ส่วนการสำรวจโดยเครือข่ายธุรกิจและผู้พิการของ ILO พบว่า บริษัท 38 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกระบุว่าในช่วงโควิด-19 พวกเขาได้ใช้แนวทางปกป้องและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานที่พิการ ทั้งจัดให้ทำงานทางไกล มีการจัดหาที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมเพื่อให้พนักงานพิการสามารถทำงานจากที่บ้าน จัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้ รวมทั้งให้คำปรึกษาหารือแก่พนักงานพิการเหล่านั้น
สถานการณ์การจ้างงานคนพิการในไทย
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 และอนุสัญญาฯ นี้ก็มีผลบังคับใช้ในไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยก็มีกฎหมายส่งเสริมการจ้างงานคนพิการโดยเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดเข้าทำงาน ตามสัดส่วนพนักงานที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อพนักงานพิการ 1 คน โดยหากนายจ้างไม่รับคนพิการเข้าทำงาน ก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี
การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ได้สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานคนพิการในตลาดแรงงานไทยมากขึ้นกว่าในอดีต โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ เดือนมิถุนายน 2565 ไทยมีตัวเลขคนพิการทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ราว 850,000 คน ในจำนวนนี้ มีกลุ่มคนพิการในวัยทำงานซึ่งมีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานแต่เป็นผู้ว่างงานถึง 81,500 คน หรือคิดเป็นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด ขณะที่ตัวเลขคนพิการซึ่งประกอบอาชีพ มีทั้งสิ้น 313,000 คน คิดเป็นประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด โดยส่วนใหญ่คนพิการที่มีงานทำในประเทศไทยนั้น ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมาคือการรับจ้างทั่วไป
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่าสถานประกอบการหลายแห่งต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง หรือยิ่งไปกว่านั้นคือต้องปิดตัวอย่างถาวร จึงทำให้อัตราส่วนการจ้างงานคนพิการลดลงตามไปด้วย โดยมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการได้ประเมินว่า ในปี 2564 ตำแหน่งงานคนพิการได้หายไปถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว นอกจากนี้ ในช่วงโรคระบาดใหญ่ แม้พนักงานพิการได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับพนักงานที่ไม่มีความพิการ แต่ข้อจำกัดทางด้านร่างกายทำให้พนักงานพิการต้องตกอยู่ในสถานะเปราะบางกว่าคนทั่วไป
ปัจจุบัน สถานการณ์ของการระบาดใหญ่จะคลี่คลายลงไปมากแล้ว แต่คนพิการในไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในตลาดแรงงานและการประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวรวมทั้งภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ก็อาจส่งผลกระทบต่องานของคนพิการในรูปแบบเก่า ตัวอย่างเช่นการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลทางช่องทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อคนพิการที่มีอาชีพขายสลากฯ แบบเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้บ้างแล้ว เป็นต้น
สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น คนทำงานจะต้องมีทักษะสูงและอัปเดตองค์ความรู้ใหม่ๆ แทบจะตลอดเวลา แต่ดังข้อมูลที่นำเสนอไปในข้างต้นว่าคนพิการไทยมักประกอบอาชีพเป็นแรงงานไร้ฝีมือ (ภาคการเกษตรและรับจ้างทั่วไป)
ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ หรืออุดหนุนการพัฒนาศักยภาพคนพิการในด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้คนพิการมีศักยภาพที่จะแข่งขันในตลาดแรงงานได้