เด็กพิการเรียนไหนดี? ‘สสส.’ สานพลังภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมแนะแนวเรียนต่อให้เด็กพิการทั่วประเทศ

เด็กพิการเรียนไหนดี? ‘สสส.’ สานพลังภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมแนะแนวเรียนต่อให้เด็กพิการทั่วประเทศ

เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนบันไดที่เป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของชีวิต เกือบทุกคนต่างขวนขวายอยากมีวิชาความรู้ติดตัว เพื่อให้อย่างน้อยสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้

แต่ในความเป็นจริง พื้นที่เรียนในสังคมจำนวนหนึ่งอาจไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดือนกันยายน ปี 2565 พบคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการในประเทศไทย 2,138,155 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา 23,645 คน

เหตุผลที่ทำให้คนพิการเข้าไม่ถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานจนถึงระดับชั้นที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมทางกาย จิตใจ อารมณ์ สภาพแวดล้อม และสถานะทางการเงินของครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงเดินหน้าต่อยอดพลังแห่งโอกาส ด้วยมหกรรมแนะแนวเรียนต่อเพื่อคนพิการ เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66 เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กพิการทั่วประเทศ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เล่าถึงสถานการณ์ด้านการศึกษาของเด็กพิการในปัจจุบันว่า โอกาสที่กลุ่มเด็กพิการจากจำนวนเด็กที่อายุถึงเกณฑ์จะสามารถเรียนจบถึงระดับอุดมศึกษา ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก เนื่องจากมีบริบทหลายอย่างที่บีบบังคับให้เด็กเหล่านี้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมที่ต้องต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคการใช้ชีวิตที่มีต้นทุนสูงกว่าเด็กปกติทั่วไปหลายเท่าตัว ยังไม่นับรวมทัศนคติและพฤติกรรมของคนรอบข้างที่อาจบั่นทอนจิตใจ จนไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาไปในที่สุด

ข้อมูลจากการรวบรวมของ สสส. พบเด็กพิการที่เข้าถึงการศึกษาเพียง 1.37% เท่านั้น วันนี้ สสส. จึงเดินหน้าสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาของเด็กพิการทุกมิติ ผ่านโครงการ เด็กพิการเรียนไหนดี ที่สนับสนุนมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากเห็นเด็กพิการได้เข้าถึงการศึกษา ไปจนถึงมีงานทำและสามารถเลี้ยงเองได้ในที่สุด

นางภรณีบอกว่า กิจกรรมเด็กพิการเรียนไหนดี หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ชุมชนคนพิการ’ ในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจมากถึง 20 หน่วยงาน มีรูปแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้รู้จักตัวตน ค้นหาแรงบันดาลใจ ค้นหาข้อมูล ไปจนถึงการพัฒนาทักษะให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ‘ชวนครุย’, ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ รวมถึงการพัฒนา 2 แอปพลิเคชันอย่าง ‘พรรณนา’ และ ‘โวหาร’ เพื่อให้เด็กพิการสามารถเรียนรู้ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ตลอดทั้งพัฒนานวัตกรรมการจ้างงานคนพิการ ที่ทำให้เกิดอาชีพของคนพิการที่ขยายโอกาสมากขึ้น

เด็กพิการเรียนไหนดี ถือเป็นการเชื่อมโยงและลดความเหลื่อมล้ำเด็กพิการ ให้สามารถเข้าเรียนและใช้ชีวิตวัยทำงานในสังคมได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไปได้

ส่วนที่เป็นไฮไลต์ของมหกรรม ‘เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66’ คือ การเปิดคอมมูนิตี้ เพื่อให้เด็กพิการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับสถาบันการศึกษาผ่านศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (DSS) ได้ฝึกทักษะการปั้นพอร์ตโฟลิโอ การสอบสัมภาษณ์เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยและเข้าทำงาน จากคำแนะนำของรุ่นพี่ที่เป็นนักศึกษาพิการและไม่พิการผู้มีประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมปั้นฝันที่ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมจัดทำขึ้น

กิจกรรมปั้นฝัน เป็นการเปิดให้เด็กพิการสำรวจความฝันและสิ่งที่ตนเองสนใจจากสายอาชีพต่างๆ อาทิ สายแพทย์ วิศวกรรม มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงสายอาชีพนิติศาสตร์ที่เป็นกลุ่มอาชีพยอดฮิตของกลุ่มเด็กพิการ ภายใต้การให้คำแนะนำของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม ตลอดทั้งรุ่นพี่คนพิการและไม่พิการจากรั้วมหาวิทยาลัยมาให้คำแนะนำและเทคนิคอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองกับเด็กพิการรุ่นน้อง

ด้าน น้องไอซ์ หนึ่งในเด็กผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการเด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66 เล่าความรู้สึกขณะเข้าร่วมงานครั้งนี้ว่า ตนเองและเพื่อนๆ เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่องานครั้งนี้ ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมงานรู้สึกดีใจและมองเห็นถึงโอกาสที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเหมือนรุ่นพี่ อีกทั้งยังได้มุมมอง ทัศนคติ และกำลังใจจากรุ่นพี่ที่เป็นคนพิการและไม่พิการ ทำให้กล้าที่เดินหน้าไปตามหาความฝันและเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

พร้อมเล่าด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้มแกมดีใจอีกว่า วันนี้ตนได้ค้นหาตัวตน ว่าที่สุดแล้วตนเองชอบเรียนตามที่คิดไว้หรือไม่ นอกจากนั้นยังได้คำแนะนำจากรุ่นพี่ถึงแนวทางว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เข้าคณะที่ตนเองตั้งใจไว้ พร้อมทั้งได้ทำแบบประเมินความถนัดในกิจกรรมปั้นฝัน ทำให้ตนมีความมั่นใจกับความฝันมากยิ่งขึ้น

“ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก วันนี้นอกจากหนูจะได้คำแนะนำ วิธีการทำพอร์ตฯ วิธีเข้าสัมภาษณ์ให้ได้เรียน และการใช้ชีวิตในรั้งมหาวิทยาลัยแล้ว หนูจะกลับไปเป็นกระบอกเสียงกับให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานครั้งนี้ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นโอกาสและประสบความสำเร็จเหมือนรุ่นพี่ที่มางานในครั้งนี้”

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เล่าต่ออีกว่า ในจำนวนเด็กพิการทั้งหมด จะถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนั้นแล้ว ปัญหาของเด็กเหล่านี้จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ข้อกังวลสำคัญที่เด็กพิการทุกกลุ่มให้ความสนใจมากที่สุด คือเรื่องความพร้อมของมหาวิทยาลัยและสื่อการเรียนการสอนที่จะสนับสนุนและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนจนจบตามความฝัน

“วันนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่หาแนวทางที่จะส่งเสริมให้กลุ่มเด็กพิการได้เรียนต่อเท่านั้น แต่ สสส. ได้ผสานภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดหาสื่อการเรียนการสอน ทั้งจากรุ่นพี่กลุ่มผู้พิการด้วยกัน รวมถึงผู้สนับสนุนและอาสาสมัครจากทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เรียนทันเพื่อนนักเรียนปกติ”

ท่ามกลางเวทีแห่งโอกาสตลอดเวลา 5 ปีมานี้ ไม่เพียงแต่ลดจำนวนเด็กพิการที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันให้ ‘เด็กพิการ’ กลุ่มคนที่เคยถูกเมินออกจากสังคม ได้มีความฝันและมีความหวังเหมือนเด็กปกติทั่วไปอีกด้วย

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะ 20 แห่งที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ พร้อมมากแล้วที่จะเปิดโอกาสให้เด็กพิการที่มีความตั้งใจเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น สามารถเข้าเรียนตามความสามารถ ผ่านการคัดเลือกช่องทางที่จัดให้เฉพาะ” นางภรณี พูดปิดท้าย พร้อมส่งเสียงถึงผู้ประกอบการด้วยว่า

“อยากขอส่งเสียงไปถึงผู้ประกอบการหรือองค์กรภาคธุรกิจ อยากให้ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่เรียนจบแล้ว ได้มีงานทำเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง เฉกเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปได้”

ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_7348081

ที่มา: khaosod.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 พ.ย.65
วันที่โพสต์: 9/11/2565 เวลา 11:11:35 ดูภาพสไลด์โชว์ เด็กพิการเรียนไหนดี? ‘สสส.’ สานพลังภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมแนะแนวเรียนต่อให้เด็กพิการทั่วประเทศ