‘ผู้พิการทางสายตา’ กับ ‘โอกาสใหม่’ ในกีฬาวิ่งทางไกล
นักกีฬาที่บกพร่องทางสายตาทั้งที่เห็นภาพเพียงบางส่วน รวมไปถึงผู้พิการทางสายตาจำนวนไม่น้อย เพิ่งมีโอกาสที่จะเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกลได้ ด้วยด้วยความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากบุคคลรอบข้าง
และนักวิ่งเหล่านี้สามารถทำฝันของตนให้เป็นจริงได้ เพราะองค์กร United in Stride ที่ก่อตั้งโดย ริชาร์ด ฮันเตอร์ นักกีฬาจากเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย
ฮันเตอร์กล่าวว่า “ในช่วงเริ่มต้น ไม่รู้จักใครเลย จึงตัดสินใจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในจุดนี้ เพราะต้องการช่วยคนอื่น และทำให้คนที่เจอปัญหาเดียวกัน ไม่ต้องเสียเวลาเยอะเพื่อที่จะเรียนรู้”
ในขณะที่ฮันเตอร์ อายุ 22 ปี และกำลังรับใช้ในหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ เขาถูกวินิจฉัยว่า เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมซึ่งถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม (Retinitis Pigmentosa หรือ RP) ที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์รับแสงของจอประสาทตา โดยการค้นพบอาการป่วยนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ฮันเตอร์กำลังสนใจในกีฬาที่ใช้ความทนทานของร่างกาย ซึ่งรวมถึงการวิ่ง ด้วย
เขากล่าวว่า “การหันมาสนใจการวิ่งเป็นวิธีการที่เขาใช้เพื่อรับมือกับภาวะสูญเสียการมองเห็น และเพื่อตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต ทำให้สุขภาพ สุขภาพจิตดีขึ้น และร่างกายโดยรวมแข็งแรงขึ้นด้วย”
ในปี 2007 ฮันเตอร์ประสบความสำเร็จในการประสานงานกับผู้จัดการแข่งขันการวิ่งมาราธอนประจำปี California International Marathon ให้เพิ่มกลุ่มนักวิ่งที่มีความบกพร่องทางสายตาเข้าร่วมแข่งด้วย และในปี 2015 ฮันเตอร์ได้ร่วมมือกับ สมาคมผู้พิการทางสายตาแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ ก่อตั้งองค์กร United in Stride เพื่อช่วยจับคู่นักวิ่งที่บกพร่องทางสายตา รวมถึงผู้พิการทางสายตากับนักวิ่งผู้ช่วยนำทาง โดยความช่วยเหลือในรูปแบบดังกล่าวได้กระจายไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือแล้ว
ฮันเตอร์ ผู้ก่อตั้งองค์กร United in Stride อธิบายว่า “ในความเป็นจริง เป้าหมายของคนที่มีความบกพร่องทางสายตาไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่สนใจกีฬาด้านความอดทน แต่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด คือจะมีคนมาอยู่เคียงข้างไหม เพราะพวกเขาต้องการคนมาช่วย เพื่อที่จะทำให้สามารถออกไปวิ่งข้างนอกได้”
อย่างไรก็ดี ฮันเตอร์กล่าวว่า นักกีฬาที่ตาบอดหรือมองเห็นได้เพียงบางส่วน มักจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องจับคู่กับนักวิ่งผู้ช่วยนำทางเพราะพวกเขาไม่ต้องการเป็นภาระ ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกของ เพจ ไมเยอร์พีเตอร์ ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว
ไมเยอร์พีเตอร์ เผยว่า “ตอนที่ฉันสูญเสียการมองเห็น ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเล่นกีฬาต่อไปได้หรือไม่ และรู้สึกว่า อาจจะต้องทิ้งกีฬาทุกอย่าง รวมถึงการเป็นคนกระฉับกระเฉง ในแบบที่เคยเป็น”
เจนนี อิสคานเดอร์ อาสามัครที่ทำหน้าที่เป็นนักวิ่งผู้ช่วยนำทางขององค์กร United in Stride กล่าวว่า เธอไม่ได้รู้สึกว่า นักวิ่งที่พิการทางสายตาหรือมีความบกพร่องในการมองเห็นเป็นภาระแม้แต่น้อย
อิสคานเดอร์ กล่าวว่า ตัวเธอ “ได้เรียนรู้มากมายจากนักวิ่งที่มีปัญหาด้านสายตา พวกเขามีแรงขับเคลื่อน มีแนวทางที่ต้องการมุ่งไปและมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน แม้คนเหล่านี้อาจมีข้อจำกัดด้านสายตา แต่ไม่อยากที่จะนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ ไปทั้งวัน”
แม้จะการวิ่งนำทางร่วมไปกับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความรู้สึกของนักวิ่งที่มองไม่เห็นเส้นทาง กลับเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น
ไมเยอร์พีเตอร์ เล่าว่า “ครั้งแรกที่วิ่งฮาล์ฟมาราธอนเสร็จด้วยสายตาที่เลือนลาง แต่ความรู้สึกในใจคือ นับจากนี้ ทุกอย่างในชีวิตล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น”
จำนวนนักวิ่งที่มีความบกพร่องทางสายตาไปจนถึงความพิการทางสายตานั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการวิ่งมาราธอนของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เริ่มต้นจากเพียงไม่กี่คนในปี 2007 มาเป็น 50 คน ในปี 2021 เช่นเดียวกับการเติบโตของสมาชิกในองค์กร United in Stride ที่มีนักวิ่งและผู้ช่วยนักวิ่งจำนวนมากกว่า 5,000 คนแล้ว
ขอบคุณ... https://bit.ly/3E483pS (ขนาดไฟล์: 156)