รณรงค์ ‘3 ธ.ค. วันคนพิการสากล’ สปสช. ร่วมดูแลคนพิการ เพิ่มคุณภาพชีวิตสู่ความเท่าเทียม
3 ธันวาคม “วันคนพิการสากล” กองทุนบัตรทอง ร่วมดูแลสุขภาพคนพิการ จัดสิทธิประโยขน์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ช่วยฟื้นฟูความพิการ เพิ่มศักยภาพและคุณภาพชีวิตสู่ความเท่าเทียม เผยปี 2564 มีคนพิการลงทะเบียนบัตรทอง ท.74 กว่า 1.3 ล้านคน ได้รับอุปกรณ์ช่วยความพิการ 2.48 หมื่นคน รับบริการฟื้นฟูฯ กว่า 5.4 แสนครั้ง พร้อมเดินหน้ากองทุนฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัด 58 แห่ง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันคนพิการสากล” (International Day of Persons with Disabilities IDPD) เริ่มตั้งแต่ปี 2535 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจปัญหาความพิการ ยกระดับการสนับสนุนเพิ่มศักดิ์ศรี สิทธิและความเป็นอยู่ดีของผู้พิการ โดยในปี 2565 นี้ได้รณรงค์ในประเด็น “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล : พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม” มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมของทุกคนในสังคม
ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท ให้ความสำคัญต่อการดูแลและเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ ที่ผ่านมาได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ และการเข้าถึงบริการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งกองทุนฯ และดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้คนพิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์ และบริการที่เป็นสิทธิเฉพาะสำหรับคนพิการ ได้แก่ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดการประเมิน/แก้ไขการพูด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการเห็น การกระตุ้นพัฒนาการ และการได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ เป็นต้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพิการ ทั้งนี้คนพิการที่ได้รับการลงทะเบียน ท.74 สามารถเข้ารับบริการสถานพยาบาลรัฐในระบบบัตรทองได้ทุกแห่ง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการจัดสรรงบประมาณสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลคนพิการ สปสช. ดำเนินการอยู่ในรายการ “บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์” โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากปีงบประมาณ 2560 มีคนพิการลงทะเบียน ท.74 ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท จำนวน 1,233,555 คน และในปี 2564 เพิ่มเป็นจำนวน 1,309,552 คน หรือเพิ่มขึ้น 75,997 คน ทำให้คนพิการเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ จากข้อมูลปี 2564 พบว่ามีคนพิการได้รับอุปกรณ์ทางการเครื่องไหว แขนเทียม ขาเทียม จำนวน 5,559 คน อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง 5,540 คน ไม้เท้าสำหรับคนตาบอด 243 คน และเครื่องช่วยความพิการอื่นๆ จำนวน 24,842 คน โดยรวม สปสช. ได้ดูแลคนพิการให้ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการทั้งสิ้น 24,842 คน ขณะที่ในส่วนของการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ปี 2564 มีคนพิการได้รับบริการจำนวน 163,766 คน หรือจำนวน 544,430 ครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ที่จำเป็นให้กับคนพิการ และได้รับบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้พิการ ในปี 2562 บอร์ด สปสช. มีมติให้เพิ่ม “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การรับรองร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทั้งเป็นการสนับสนุนให้องค์กรคนพิการที่มีความประสงค์ที่จะเพิ่มพูลทักษะ ความรู้ ความสามารถในการจัดบริการได้เข้ามาร่วมดำเนินการจัดบริการอีกด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีการดำเนินการ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงให้กับคนพิการ โดยเป็นการร่วมสมทบงบประมาณดำเนินงานกองทุนฯ ระหว่าง สปสช. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ล่าสุดมี 58 จังหวัดที่ร่วมจัดตั้ง ทำให้คนพิการที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ได้รับการดูแลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“กองทุนบัตรทอง 30 บาท ให้ความสำคัญต่อการดูแลคนไทยทุกคน รวมถึงคนพิการ โดยในปีงบประมาณ 2566 ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 17.23 บาท/ประชากร ในงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ สปสช. ดำเนินการอยู่นี้ จะทำให้คนพิการเข้าถึงบริการสุขภาพอันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้พิการ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ