สสส. ตั้งเป้าให้คนพิการ มีงานทำ สุขภาวะดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ
คนพิการต้องมีงานทำ สสส. ตั้งเป้า สร้าง สุขภาวะที่ดี ให้ทุกชุมชน พร้อมวาง 15 แผนงาน 130 โครงการ ขับเคลื่อนสังคม
ประเทศไทย มีประชากรกว่า 70 ล้านคน ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชาย ทั้งผู้หญิง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะในสถานะใดก็ตาม
ในจำนวนผู้คนกว่า 70 ล้านคนนั้น ประเทศไทยมีคนพิการอีกจำนวนมาก ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมกันในสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงปัญหาในข้อนั้น และเดินหน้าก่อตั้งโครงการ และแผนงานสร้างสุขภาวะที่ดี เพื่อรองรับการแก้ปัญหาตรงนี้ขึ้นมา มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดโอกาสในการเข้าถึงการมีงานทำ ตั้งเป้าไปที่กลุ่มของผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นประชากรในกลุ่มเฉพาะ มีความเปราะบางต่อการสูญเสียสุขภาวะที่ดี
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับหลายๆภาคส่วน ในการเดินหน้า สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในระยะ 10 ปี เน้นที่ไปการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ มีการวางแผนงานไว้ 15 แผน มีโครงการกว่า 130 โครงการ ดำเนินการควบคู่กับภาคีเครือข่ายกว่า 1,932 องค์กร แผนหลักๆจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะของคนพิการ, ผู้สูงอายุ, เด็ก
ในส่วนของผู้พิการ สสส.เดินหน้า มุ่งเน้นการมีงานทำ, การอยู่ร่วมกันในสังคม, การมีส่วนร่วมในชุมชน, และการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้พิการ
ปี 2565 ที่ผ่านมา สสส. ผลักดันผู้พิการให้ได้รับการจ้างงานไปแล้ว มากกว่า 7,000 ตำแหน่งงาน สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานแล้วกว่า 20,000 โอกาสงาน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ จ้างงานคนพิการ มากถึง 300 บริษัท
และในปี 2566 สสส.ตั้งเป้าไว้ว่า จะทำให้สุขภาวะของทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุดีขึ้น และจะให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น ตอนนี้ยังมีตำแหน่งงานว่างอีก 13,000-14,000 ตำแหน่ง และ สสส. ก็ประสานงานกับทุกหน่วยงานมาตลอด และเชื่อมโยงข้อมูลกันได้มากขึ้น เชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ไม่ยาก
ในส่วนของการดำเนินงานด้านนวัตกรรมทางสังคม ก็ได้มีการจัดงานให้คนพิการมาโดยตลอด เช่น การชวนคนตาบอดไปดูหนังด้วยวิธีการพิเศษ, การจัดวิ่งสำหรับผู้พิการ, กิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งจัดการเรียนของผู้พิการร่วมกันกับคนปกติ
นอกจากนี้ยังมีการวางแนวทางการฟื้นฟูคนพิการ โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมในชุมชน และการปรับสภาพแวดล้อมในชุมชน เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ปรับปรุงที่พัก ระบบขนส่งสาธารณะ
ขณะที่ นายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ หรือ Transportation For All (T4A) กล่าวว่า ตนเองขับเคลื่อนงานด้านขนส่งสาธารณะ และขับเคลื่อนเรื่องการให้คนพิการ สามารถโดยสารรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีความสำเร็จไปเกือบทุกสถานีแล้ว
อีกด้าน ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุ นางภรณี กล่าวว่า งานผู้สูงอายุ ต้องทำทั้งระบบ ทั้งการเตรียมพร้อมส่วนบุคคล และพัฒนาระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ พัฒนาองค์ความรู้ จัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงอายุ ระบบคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์, พัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุต้นแบบ และขยายผลไปอีก 260 แห่ง จัดเวทีเสนอนโยบาย ที่มาจากการเก็บข้อมูลของ สสส., ในด้านการจัดกิจกรรมทางสังคม สสส.ก็มีเครือข่ายกว่า 40,000 คน ที่มาร่วมกิจกรรม มีผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมเป็นประจำ 5,000 คน อายุ 50 ปีขึ้นไป, มีการสื่อสารกับผู้สูงอายุ ให้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการอบรมเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ การเรียนออนไลน์ การใช้งานอินเตอร์เน็ต การดูแลตัวเองจากโรคเรื้อรัง พัฒนาหลักสูตร "เกษียณคลาส" และ "ผู้สูงวัยดิจิทัล" ทั้งหมดนี้ มุ่งเน้นให้ "ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาวะดีขึ้น"