กองทุนพัฒนาสื่อฯ เปิดตัวการ์ตูน “แตกต่างเดียวกัน” ชวนมองคนพิการด้วยมุมใหม่เพื่อความเข้าใจและอยู่ร่วมกัน
เชียงใหม่ - กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เปิดตัวการ์ตูนชุด “แตกต่างเดียวกัน” ผลงานโครงการรวิจัยและพัฒนาสื่อการ์ตูนชุดวัฒนธรรมความพิการด้วยการมีส่วนร่วมของคนพิการและทุกภาคส่วนในสังคม ชวนมองคนพิการรด้วยมุมมองเชิงสังคม เห็นความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ เพื่อความเข้าอกเข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรภัทร กิตติวรากูล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยพายัพ และกรรมการสมาคมวัฒนธรรมความพิการ หัวหน้านักวิจัยในโครงการรวิจัยและพัฒนาสื่อการ์ตูนชุดวัฒนธรรมความพิการด้วยการมีส่วนร่วมของคนพิการและทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 65 เนื่องในวันคนพิการสากล ทางโครงการฯ ได้ทำการเปิดตัวการ์ตูนชุด “แตกต่างเดียวกัน” เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กชื่อ “แตกต่างเดียวกัน” และเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (www.thaimediafund.or.th) โดยการ์ตูนชุดนี้เป็นการ์ตูนอ่านขนาดสั้นที่มุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของคนพิการในแง่มุมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนอ่านมองคนพิการด้วยมุมมองเชิงสังคมในมิติที่หลากหลาย นำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความเข้าอกเข้าใจ ให้เติมเต็มกันและกันได้
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการ์ตูนชุดนี้มาจาก “วัฒนธรรมความพิการ” หรือสิ่งที่ผู้คนปฏิบัติต่อคนพิการมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรม ซึ่งมีที่มาจากชุดความคิด 3 มุมมอง ได้แก่ มุมมองทางความเชื่อหรือศาสนา ที่เชื่อว่าคนพิการเกิดจากเวรกรรมติดตัวมาแต่ชาติปางก่อนหรือโชคร้าย, มุมมองทางการแพทย์ ที่เห็นคนพิการเป็นคนป่วย ต้องได้รับการรักษา จนทำให้เกิดการแยกคนพิการออกจากสังคม และมุมมองทางสังคม ที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน ที่คนทุกคนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐและสังคมอย่างเท่าเทียมกัน แต่คนพิการไม่ได้รับ ทำให้ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้ โดยทั้ง 3 มุมมองนี้ทำให้เกิดการปฏิบัติต่อคนพิการแตกต่างกัน ซึ่งการ์ตูนชุด “แตกต่างเดียวกัน” นี้ จะเน้นชวนให้มองคนพิการด้วยมุมมองทางสังคมเป็นหลัก เพราะผ่านการพิสูจน์ในหลายประเทศที่มองเห็นคนพิการในมุมมองนี้แล้วทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลง
สำหรับการ์ตูนชุด “แตกต่างเดียวกัน” นั้น เบื้องต้นมีการจัดทำขึ้นทั้งหมด 12 ตอน ครอบคลุมความพิการทั้ง 7 ประเภท และวัฒนธรรมความพิการที่เป็นวัฒนธรรมร่วม โดยเนื้อหาที่นำมาสู่การจัดทำการ์ตูนชุดนี้มาจากตัวแทนคนพิการทุกประเภทมาร่วมประชุมกันเพื่อถอดบทเรียน รวมทั้งมีการประชุมร่วมกับกลุ่มตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมด้วย กระทั่งสรุปประเด็นต่างๆ ได้มากกว่า 50 ประเด็นที่น่าจะนำไปใช้จัดทำการ์ตูนชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดได้ร่วมกันคัดกรองจัดลำดับประเด็นที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนเหลือ 12 ประเด็น เพื่อจัดทำการ์ตูนชุดในช่วงแรกเริ่ม ซึ่งเนื้อหาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมนี้เองถือว่าเป็นจุดเด่นของการ์ตูนชุดนี้
ขณะเดียวกัน การ์ตูนชุดนี้ยังมีจุดเด่นตรงที่การทำการ์ตูนให้มีความเป็นการ์ตูนจริงๆ คือ ต้องอ่านแล้วสนุก รวมทั้งยังมีจุดเด่นที่ตัวการ์ตูนมีความเป็นเอกลักษณ์ ทั้งสี รูปร่าง และไม่มีเพศ โดยเฉพาะตัวการ์ตูนที่เป็น Signature ที่เป็นรูปมือมี 4 นิ้ว ชื่อเล่นว่า “นานัป” ที่มีที่มาจากคำว่า “นานัปการ” สื่อว่ามนุษย์มีความหลากหลายแตกต่างมากมายนับไม่ถ้วน, มี 4 นิ้ว เพื่อสื่อถึงความพิการ แต่หากดูผิวเผินจะไม่ทันสังเกตเห็น, สีฟ้าเป็นสีดอกแก้วกัลยา สัญลักษณ์วันคนพิการ และสีเหลืองของรองเท้าเป็นสีเดียวกับธงคนพิการสากล ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันอ่าน ช่วยกันแชร์การ์ตูนชุดนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมความพิการและจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนจะมีการจัดทำการ์ตูนชุดนี้เพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุนพิจารณาความเหมาะสม