"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล

"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล

เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง คือ การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อให้คนพิการและผู้สูงอายุ ใช้บริการได้อย่างสะดวก โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง เป็นตัวอย่างโครงการที่พัฒนาขนส่งสาธารณะ โดยใช้หลักการออกแบบ Universal Design หรือ อารยสถาปัตย์

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลรางเดี่ยว ประกอบด้วย 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร ตัวสถานีถูกออกแบบให้เป็นสถานีขนาดเล็ก มีความโปร่ง เพื่อให้ลม ให้แสงลอดผ่านได้มากกว่าระบบรถไฟฟ้าแบบเฮฟวี่เรล ทั้งยังไม่บดบังทัศนียภาพโดยรอบพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญที่สะท้อนถึงความใส่ใจคือ การออกแบบสถานี ด้วยหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ User-friendly ใช้งานง่าย สะดวกสบาย

พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้โดยสารทุกกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก สตรีมีครรภ์ ครบครันตามมาตรฐานการออกแบบ “อารยสถาปัตย์” หรือ Universal design เพื่อให้ผู้โดยสารทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียม

โดยองค์ประกอบสำคัญของสถานีถูกวางไว้อย่างครบครัน อาทิ ทางลาดสำหรับรถเข็น จุดเตือนพื้นต่างระดับสำหรับผู้พิการทางสายตา การจัดทำทางลาดที่ปลอดภัย และเหมาะสมตามมาตรฐานทางลาดสำหรับรถเข็นและผู้สูงอายุ พื้นผิวทางลาดต้องไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำหรือฝนตก บริเวณทางเข้า–ออกสถานี มีชานพักพร้อมราวจับทั้งสองฝั่งของทางลาด เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถใช้จับ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีการออกแบบขนาดพื้นที่ให้เหมาะกับผู้ที่ใช้งานรถเข็นวีลแชร์ เพื่อให้การสัญจรไปมาสะดวก

มีการออกแบบห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร และประตูสวิงเกต เพื่อให้ผู้ใช้งานรถเข็นวีลแชร์สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก พื้นที่ภายในสถานีทุกสถานีมีการออกแบบบันไดที่เรียกว่า easy stairs ซึ่งจะมีความชันน้อยกว่า และความกว้างมากกว่าบันไดทั่วไป เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ลิฟต์ มีระบบเซ็นเซอร์ เพื่อป้องกันประตูลิฟต์หนีบผู้ใช้งาน มีแผงควบคุมลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ให้สามารถควบคุมระบบลิฟต์ได้ด้วยตนเอง มีราวจับรอบตัวลิฟต์ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถใช้จับยึดได้ ตลอดจนติดตั้งกระจกและกล้องวงจรปิดภายในลิฟต์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และมีช่องทางรองรับผู้ใช้งานรถเข็นวีลแชร์โดยเฉพาะทั้งบนชานชาลาและในขบวนรถไฟฟ้า

นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานภายในอาคารสถานีรถไฟฟ้าตามมาตรฐานแล้ว รฟม. ยังได้ติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ พร้อมระบบความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน ทั้งกล้องวงจรปิด ถังดับเพลิง สัญญาณเตือนเหตุเพลิงไหม้ ปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน จุดรองรับสำหรับผู้พิการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และห้องปฐมพยาบาล ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง มีความปลอดภัย สะดวกสบาย สำหรับผู้โดยสารทุกประเภท ทุกเพศ ทุกวัย อย่างเท่าเทียมกัน

ในช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีรถไฟฟ้าโมโนเรล เริ่มออกมาวิ่งบนรางรถไฟฟ้าแล้ว นั่นคือการทดสอบระบบ เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ของโครงสร้างานโยธากับขบวนรถไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้า โดยการทดสอบนี้จะดำเนินการซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อความพร้อมและความมั่นใจในความปลอดภัยก่อนการเปิดใช้บริการ

ขอบคุณ... https://bit.ly/3YG4TAT (ขนาดไฟล์: 114)

ที่มา: pptvhd36.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 22 ธ.ค. 65
วันที่โพสต์: 22/12/2565 เวลา 11:44:13 ดูภาพสไลด์โชว์ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล