รวบตึง! 9 ด้าน 9 ดี ผลงานกทม. 6 เดือน ก้าวสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่
กรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าว 9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ โดย 4 รองผู้ว่าฯ กทม. ประกอบด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวช, นายวิศณุ ทรัพย์สมพล, นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ
*ศูนย์บริการคนพิการ/สุขภาพ/BKK Risk Map
น.ส.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการทำงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า จากนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ในเรื่อง 9 ด้าน 9 ดี มารวมกับยุทธศาสตร์พัฒนา กทม. ใน 7 มิติ ออกมาเป็นเป้าหมาย 74 เรื่อง และได้มีการถ่ายทอดไปทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับของ กทม.แล้ว
ปัจจุบัน กทม.ได้สนับสนุนงานด้วยการจ้างคนพิการแล้ว 323 คน และภายในมี.ค.66 จะเพิ่มอีก 4 ตำแหน่ง 11 อัตรา และได้มีการพัฒนาการเพิ่มเติมทักษะใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักจัดการเมือง นักสุขภาพเมือง นักสิ่งแวดล้อมเมือง นักปลอดภัยเมือง และวิศวกรเมือง ขณะเดียวกัน กทม.ยังได้มีการกระจายอำนาจ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสังคม และคุณภาพชีวิตของสำนักงานเขตสู่ประชาชนในพื้นที่ (Sandbox) ในเขตคลองเตย และบางเขน
สำหรับด้านสุขภาพดี มีการดำเนินการเรื่อง One Stop Service ซึ่งมีการปรับปรุงการขึ้นทะเบียนคนพิการผ่านระบบ One Stop Service ให้ดำเนินการได้เสร็จภายในครึ่งวัน โดยมีโรงพยาบาลให้บริการ 9 แห่ง สามารถดำเนินการออกบัตรประจำตัวคนพิการไปแล้ว 2,345 ราย และในปี 66 จะเปิดให้บริการได้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาล รวมทั้งมีการดำเนินการเรื่อง Telemedicine เป็นระบบที่ให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจรักษา ตรวจสอบสิทธิ นัดหมาย จองคิว และมีการส่งต่อข้อมูล เปิดใช้แล้ว 9 แห่ง มีผู้รับบริการ 45,583 ราย และในปี 66 จะเปิดให้ครบ 11 แห่ง
นอกจากนี้ มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) ซึ่งจะเปิดบริการได้เต็มรูปแบบในเดือนม.ค. 66 ในทุกโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยระบบนี้จะประหยัดเวลาได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น ลดเวลาการตอบรับนัดเหลือไม่เกิน 30 นาที
น.ส.ทวิดา ยังกล่าวถึงการพัฒนา BKK Risk Map เป็นการแสดงแผนที่เสี่ยงภัยในกทม. พร้อมเปิดข้อมูล 5 ภัย ทั้งเรื่องอุทกภัย อัคคีภัย จุดเสี่ยงและอันตราย ความปลอดภัยทางถนน มลพิษทางอากาศ PM2.5 ซึ่งสามารถใช้งานได้แล้ว ตลอดจนมีการยกระดับศักยภาพให้ชุมชนปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มประปาหัวแดง 248 จุดในพื้นที่เสี่ยงสูง เพิ่มเครื่องดับเพลิงในชุมชนแออัด 451 ชุมชน และเพิ่มรถกู้ภัยทางถนน 15 คัน และมีการจัดระบบเชื่อมโยงกับมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย 7 แห่ง มีการแบ่งโซนการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีเอกภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
*บริหารจัดการน้ำ/ปรับปรุงทางเท้า/จัดระเบียบสายสื่อสาร/จราจร
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการทำงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ด้านงานโครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนของน้ำท่วม พบว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมค่าเฉลี่ย 30 ปี (ปี 34-63) พบว่ามากขึ้น 40% ทำให้ศักยภาพการระบายน้ำของกทม.ต้องมีการปรับปรุงตามไปด้วย
โดยได้ดำเนินตามนโยบายเส้นเลือดฝอย ด้วยการลอกท่อไปแล้ว 3,357 กม. ตั้งเป้าหมายปี 66 จะลอกท่อให้ได้ 3,875 กม. มีการปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 12 แห่ง เพิ่มปั้ม 18 ตัว และในปี 66 จะปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 69 แห่ง เพิ่มปั้ม 124 ตัว มีการขุดลอกคลองไปแล้ว 159 กม. และตั้งเป้าปี 66 จะลอกคลองให้ได้ 183 กม. และมีการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ 23 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำ และในปี 66 มีการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน่ำ 39 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มปั๊ม 30 ตัว และเชื่อว่าการระบายน้ำของกทม.น่าจะทำได้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา มีการซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมและแนวฟันหลอไปแล้ว 21 แห่ง ในปี 66 จะดำเนินการเพิ่มอีก 25 แห่ง และมีแผนบรรเทากรณีน้ำซึมผ่านอีก 73 แห่ง
ส่วนแผนการปรับปรุงทางเท้า 1,000 กม. ดำเนินการแล้วเสร็จ 150 กม. และในปี 66 จะดำเนินการอีก 250 กม. และการปรับปรุงทางเท้าจากการรายงานของประชาชนผ่าน Traffy Fondue ที่มีการร้องเรียนเข้ามา 836 รายการ ดำเนินการไปแล้ว 624 รายการ และมีการปรับปรุงทางวิ่ง 500 กม. ดำเนินการแล้วเสร็จ 20 กม. ใน 2 เส้นทาง และในปี 66 จะดำเนินการอีก 100 กม.ใน 10 เส้นทาง
สำหรับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว 161.56 กม. ใน 37 เส้นทาง และในปี 66 จะดำเนินการอีก 442.62 กม. ส่วนการนำสายสื่อสารลงดิน ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว 6.3 กม. และในปี 66 จะดำเนินการอีก 29.2 กม.
นายวิศณุ ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหารถติดว่า กทม.ได้วิเคราะห์จุดรถติด เพื่อมาดูว่าตำแหน่งที่รถติดอยู่ตรงไหนบ้าง พบว่ามีอยู่ 266 จุด ซึ่งได้ส่งทีมไปหาแนวทางแก้ไข ทั้งเรื่องการกวดขัดวินัยจราจร ปรับปรุงเชิงกายภาพ และใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการจราจร และได้มีการทำงานใกล้ชิดกับตำรวจนครบาลมากขึ้น
นายวิศณุ ยังกล่างถึงการกำกับงานของกรุงเทพธนาคมว่า ที่ผ่านมา พบปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูล จึงให้นโยบายว่าให้นำสัญญาที่มีอยู่เปิดเผยให้มากสุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และได้สั่งการให้มีการบันทึกบัญชีแบบบริษัทมหาชน เปิดเผยข้อมูลที่เข้มข้นกว่าบริษัททั่วไป และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องออกระเบียบบริษัทให้โปร่งใสขึ้น
สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว การจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ทางกทม.ยังไม่ได้รับมอบจากกระทรวงคมนาคม จึงยังเกิดคำถามว่าจะเก็บค่าโดยสารได้ขนาดไหน ส่วนเรื่องคดีในศาล ยังอยู่ระหว่างการยื่นอุทรณ์ แต่ในระหว่างนี้ กทม.ก็ดูเรื่องค่าจ้าง ค่าโดยสารว่าค่าจ้างที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร ซึ่งกรุงเทพธนาคมได้มีการจ้างที่ปรึกษา เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบค่าใช้จ่าย และอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชน
สำหรับแผนการหารายได้เข้า กทม.นั้น นายวิศณุ กล่าวว่า ต้องจัดเก็บรายได้เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีการปรับปรุงระบบทะเบียนภาษีให้ครบถ้วนขึ้น เรื่องภาษีป้ายให้มีการจัดเก็บตามอำนาจหน้าที่กทม.ให้รัดกุมขึ้น และเพิ่มช่องทางหารายได้ เช่น การจัดเก็บค่าน้ำเสีย โดยจะเริ่มจากพื้นที่พาณิชย์ก่อน
*ฝุ่น PM2.5/สวน 15 นาที/จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย/ปัญหาขยะ
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการทำงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า ได้ดำเนินการตรวจสถานที่ต้นทางรถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 58,711 คัน โรงงาน แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง และถมดิน 1,900 แห่ง มีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทุกแห่งอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน มีจุดวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ กทม. 70 จุด ผ่าน App AirBKK และแจ้งผ่าน Traffy Fondue
สำหรับแนวทางแก้ไข ได้มีการสั่งแก้ไข-ห้ามใช้รถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก แล้ว 1,020 คัน และสั่งปรับปรุงโรงงาน แพลนท์ปูน ไซด์ก่อสร้าง ถมดิน 41 ครั้ง และในอนาคตสามารถแจ้งปัญหาผ่านทางไลน์ได้ด้วย และกทม. มีเป้าหมายกำหนดให้ค่ามาตรฐาน PM2.5 ต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงการเปิดสวน 15 นาที (Pocket Park) ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงนั้น สามารถจัดหาพื้นที่ได้แล้ว 98 แห่ง มีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำ 641 ไร่ และสามารถเปิดให้บริการได้แล้ว 13 แห่ง
สำหรับเรื่องปัญหาหาบเร่-แผงลอย ในปัจจุบัน กทม.มีจุดผ่อนผัน 95 จุด มีผู้ค้า 4,000 ราย และนอกจุดผ่อนผัน 618 จุด มีผู้ค้า 13,964 ราย ส่วนการจัดระเบียบต้องอยู่ในขอบเขตที่ส่วนราชการกำหนด และกทม.มีการเก็บข้อมูลผู้ค้าแต่ละรายด้วย และมีการขอความร่วมมือจากผู้ค้าในการช่วยกันทำความสะอาด และดูแลทางเท้าที่ประกอบกิจการด้วย
ขณะที่การพัฒนาศูนย์อาหาร Hawker Center มีการสำรวจพื้นที่แล้ว 125 จุด เน้นพื้นที่สะดวก สะอาด และสนุก โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 จุด คือ ที่เขตมีนบุรี และสวนลุมพินีประตู 5
สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะ มี 2 แนวทางคือ การศึกษาเตาเผาขยะ แต่ขณะนี้หารือกันว่างบประมาณที่ใช้ในการเผาขยะมีราคาสูง จะต้องมีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ คือ น่าจะมีการนำขยะไปเผาที่สายไหม และมีการศึกษาไปเผานอกสถานที่ แต่สิ่งที่ต้องการมากสุด คือ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรในแนวคิดการกำจัดขยะ
*สวัสดิการสังคม/พัฒนาชุมชน/ส่งเสริมการเรียนรู้/เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการทำงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ในเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ว่า เน้นการทำเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยทำสวัสดิการทั่วถึงสำหรับเด็ก ทั้งเรื่องการเพิ่มค่าอาหาร 20 บาทเป็น 32 บาท และเพิ่มอุปกรณ์ศูนย์เด็กเล็ก 100 เป็น 600 บาท มีอาหารเช้าและกลางวันฟรี มีการจัดชุดนักเรียนและผ้าอนามัยฟรี ลดการใส่เครื่องแบบ
สำหรับคนไร้บ้าน ได้มีการเพิ่มจุด drop-in 4 จุด และจัดระเบียบการแจกอาหาร และจัดที่อยู่อาศัย ส่วนคนพิการ ได้จ้างงานคนพิการ 323 คน พัฒนาระบบ Live Chat Agent โรงเรียนเรียนร่วม 158 โรงเรียน นำร่องอบรมครูเรียนรวม 2 โรงเรียน มีการทำฐานข้อมูลและสิทธิประโยชน์ สำหรับคนพิการ และมีรถรับส่งคนพิการ โดยกรุงเทพธนาคม ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชุม 266 คน จาก 31 เขต มีการจัดทำ Food bank ดูเรื่องการส่งเสริมอาชีพ สร้างแรงงาน ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และสร้างผู้ประกอบการ
ด้านการเรียนรู้ ในห้องเรียน มีการคัดกรองเด็กยากจนพิเศษ เพื่อขอรับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 6,159 คน มีการปลดล็อกครู เพิ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและการเงินโรงเรียน เพื่อลดภาระงานเอกสารครู และมีการปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ ให้เป็นมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ มีการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 54 โรงเรียน และพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา เช่าระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ทุกโรงเรียนในรอบ 7 ปี มีพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 5 แสนคน
ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน มีตลาดนัดชุมชน ของดี 50 เขต มีย่านสร้างสรรค์ในแต่ละโซน รวมถึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ กลางแปลง ส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนต์ในกทม. / BKK เรนเจอร์ เป็นสภาเมืองคนรุ่นใหม่ / ดิปาวาลี พัฒนาย่าน Little India / ดนตรีในสวน ปลดล็อกสวนเพื่อกิจกรรมการแสดงสาธารณะ เป็นต้น
ขอบคุณ... https://www.ryt9.com/s/iq01/3384073