ศูนย์พัฒนาอาชีพฯ เมืองคอน โชว์ของดี "ไตปลาแห้งเตาถ่าน" ฝีมือคนพิการ
ศูนย์พัฒนาอาชีพคนพิการ เมืองคอน โชว์ของดี "ไตปลาแห้งเตาถ่าน" ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารของคนพิการ สร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างเครือข่าย ชุมชน สถาบันการศึกษา ช่วยออกแบบแนวทางการศึกษาแบบใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเป็นสังคมใหม่ที่อบอุ่น
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 65 น.ส.อรอนงค์ คำแหง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ไตปลาแห้งเตาถ่าน” เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้รับทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารของผู้พิการ
"เป้าหมายของเราคือ การฝึกอาชีพเพื่อให้เขาเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ และสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ ดังนั้นการจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกสร้างอาชีพด้วยตนเอง เราก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อเขาออกไปแล้วเขาจะไม่เป็นภาระของใคร ซึ่งในโครงการระยะที่สองที่จะมีการพัฒนาทักษะทางด้านสังคมมากขึ้น จะเน้นเปิดกับสังคมมากขึ้น" น.ส.อรอนงค์ กล่าว
น.ส.อรอนงค์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้ตอนนี้คือเยาวชนคนพิการได้เรียนรู้ การทำแปรรูปอาหารได้อย่างถูกต้องส่วนเจ้าหน้าที่ก็ได้ เรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กมากขึ้น ทั้งในส่วนของการใช้ทักษะทางสังคมและการใช้ชีวิต ร่วมกันในศูนย์ฯ ปัญหา พฤติกรรมต่างๆ ก็ลดลง โครงการแปรรูปอาหารมีเยาวชนจากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ร่วม 50 คน จากทั้งหมด 61 คน
ด้าน นางวิสาขะ อนันธวัช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า หลังได้รับอนุมัติทุนจาก กสศ. ก็ได้ชวนนักศึกษามาร่วมทำงานด้วยพร้อมกับดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ดูเรื่องการเงิน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาดูเรื่องสุขภาวะให้เด็ก และอาจารย์ที่มีความชำนาญด้านการขาย มาให้ความรู้ในการหาตลาด และรูปแบบผลิตภัฑณ์ และดึงภาคเอกชนที่มีความถนัดในการทำอาหารมาช่วยสอน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน เมื่อผ่านการฝึกทักษะ 6 เดือน กลุ่มผู้พิการสามารถสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร และยืดอายุผลิตภัณฑ์ไตปลาแห้งได้นานขึ้น
"การให้ความรู้ฝึกทักษะกับเยาวชนที่เป็นผู้พิการก็ต้องปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน เป็นการสอนผสมผสานระหว่างกิจกรรมสันทนาการ ร้อง เต้น เล่นเกม พูดคุย กับการฝึกทักษะการทำอาหารหลากหลายชนิด ซึ่งอาหารที่ฝึกแปรรูปก็ต้องมาจากความต้องการของผู้เรียนที่เสนอมา" นางวิสาขะ กล่าว
นางวิสาขะ เปิดเผยต่อว่า การสอนต้องเริ่มจากสิ่งที่เขาชอบทำ ชอบทาน ถ้าสิ่งไหนที่เขาไม่ชอบ เขาจะไม่ทำ และการสอนต้องทำซ้ำๆ เพราะน้องจะลืม พร้อมกำชับพี่เลี้ยงว่าเด็กๆ ทุกคนต้องได้ทำเองทุกขั้นตอน อย่าไปคิดว่าน้องทำไม่ได้ และหลังจากจบโครงการสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นคือ การทำงานของผู้ช่วยวิจัยดีขึ้น ทำงานเป็น และทัศนคติที่เขามองคนพิการก็เปลี่ยน เด็กพิการ จากวันแรกที่มาสอนจนกระทั่งวันที่จบเด็กมีพัฒนาการในการเรียนรู้ และพี่เลี้ยงศูนย์ฯ ก็เปลี่ยนมุมมองในการมองเด็ก
ส่วน น.ส.ฐิตา สำเภารอด อายุ 20 ปี เยาวชนของศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลังได้รับการอบรม เรียนรู้การแปรรูปอาหาร ตนมีความมุ่นมั่นตั้งใจจะกลับไปขายไตปลาแห้งเตาถ่านที่ จ.กำแพงเพชร บ้านเกิด โดยตนเป็นหนึ่งในเยาวชนจากจำนวน 50 คนที่เข้าร่วมโครงการฯ จากเด็กในศูนย์ฯทั้งหมด 61 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ และได้รับการอบรมการแปรรูปอาหาร พร้อมกับการพัฒนาด้านทักษะอื่นๆ ที่ทำให้ตนสามารถที่จะสื่อสารกับคนภายนอก และขายสินค้าของศูนย์คนพิการฯผ่านทางออนไลน์ ได้
ขณะที่ นายสมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการหนุนเสริมและการจัดการความรู้สำหรับพัฒนาทักษะเยาวชน และแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการทำงานกับกลุ่มคนเปราะบาง คนยากจน คนด้อยโอกาส คนพิการ เด็กในสถานพินิจฯ เด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือและดูแลตัวเอง ดังนั้นการพัฒนาอาชีพจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ โดยเราสร้างเงื่อนไขให้เขาได้เรียนรู้ผ่านการทำโดยเป้าหมายเพื่อให้เขาสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้
"กรณีของศูนย์คนพิการฯ มีเด็กหลายคนถูกทิ้งไม่รู้ที่มาที่ไป เราต้องมาโอบอุ้มดูแล และจะทำอย่างไรจะสร้างเงื่อนไขเรียนรู้ ให้เขาอยู่ได้ มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่เขาจะสามารถทำได้ และอาชีพก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้และอาชีพก็เป็น เครื่องมือที่เขาจะทำมาหากินในอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่ทาง กสศ.ได้ทำมา และที่คิดว่าจะเป็นก้าวต่อไป" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวต่อว่า การทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย หรือที่เรียกว่า "ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่" คือการที่คนในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน เช่น ครูพี่เลี้ยงจากศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเครือข่าย และคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิติความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง เห็นอกเห็นใจเข้าใจ
"อย่างนี้ผมถือว่าเป็นระบบใหม่ที่จะดูแลกันและเป็นระบบใหม่สามารถที่จะเชื่อมโยงองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ที่เรามีอยู่ทั้งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ครู กศน. ชาวบ้าน ล้วนแล้วแต่มาจัดระบบความสัมพันธ์กันและมีความเชื่อมโยงกัน ดูแลกัน เป็นสังคมใหม่ที่มีความอบอุ่น".
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/local/south/2583318