4 มกราคม ‘วันอักษรเบรลล์’ รอยจุดเพื่อคนตาบอด
4 มกราคม วันอักษรเบรลล์โลก และวันเกิดของ ‘หลุยส์ เบรลล์’ ผู้ให้กำเนิดอักษรเบรลล์ แสงสว่างในดวงตาของคนตาบอด
ที่มาของอักษรเบรลล์
แม้วันที่ 4 ม.ค. นี้จะไม่ใช่วันเริ่มต้นการใช้ อักษรเบรลล์ เป็นครั้งแรกของโลกในกลุ่มคนตาบอด แต่ก็ไม่ใช่วันธรรมดาของคนธรรมดาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นวันเกิดของ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) นักประดิษฐ์อักษรเบรลล์ชาวฝรั่งเศสที่คิดค้นภาษาใหม่ได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี
ชีวิตของหลุยส์ เบรลล์ เริ่มต้นในฐานะคนตาปกติก่อนที่วัย 10 ขวบจะต้องปิดสนิทลงจากอุบัติเหตุสว่านเจาะอานม้ากระเด็นเข้าตาข้างขวาก่อนจะติดเชื้อลุกลามไปยังอีกข้าง นั่นจึงเป็นเหตุให้ หลุยส์ ก้าวเข้าสู่การเอาตัวรอดในฐานะผู้พิการสายตา ได้พบปะคนตาบอด และกินอยู่ร่วมกันใต้หลังคาโรงเรียนสอนคนตาบอด ท่ามกลางสภาพทรุดโทรมไม่น่าอยู่จากปัญหาสุขอนามัย
ภายในโรงเรียน หลุยส์ ได้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิตเบื้องต้นในความมืดมิดจนคุ้นชินในเวลาเพียง 1 ปี จนในอายุ 11 หลุยส์ ได้รู้จักกับชาร์ลส์ บาร์บิเยร์ (Charles Barbier) อดีตทหารผ่านศึกผันตัวมาสอนการอ่านและเขียนให้คนตาบอดขณะนั้น
ซึ่งบาร์บิเยร์นั้น คิดค้นภาษาสื่อสารของตัวเองขึ้นมาสำหรับใช้ในสมรภูมิรบตอนกลางคืนที่ไม่สามารถส่งเสียงหรือฉายแสงให้ศัตรูเห็นได้ โดยเป็นการสื่อสารผ่านกระดาษปะจุด ซึ่งจุดแต่ละชุดจะมีความหมายคำต่างกันออกไป
ทำให้ หลุยส์ เบรลล์ ซึมซับวิธีการและปรับให้ใช้งานง่ายตามหลักตัวอักษร พร้อมกับเปลี่ยนจากตารางจุดยาวๆ ให้เหลือเพียงตารางจุดขนาด 3×2 ที่แทนตัวอักษรและตัวเลขได้กว่า 64 แบบ จึงทำให้ภาษาของเบรลล์ได้รับความยอมรับและปรับใช้กับตัวอักษรอื่นทั่วโลก ไม่เพียงแต่ตัวหนังสือภาษาอังกฤษหรือไวยากรณ์ฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว
จนในภายหลัง ‘อักษรของเบรลล์’ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘อักษรเบรลล์’ สัญลักษณ์ทางความหมายของคนตาบอดและผู้พิการทางสายตาทุกคน เปิดโอกาสให้คนที่เคยด้อยโอกาสได้กลับมาเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโลกอีกครั้ง
ยังมีสาระให้อ่านเพื่อเปิดโลกใหม่อีกเพียบ ติดตามเรื่องราวย้อนวันวานต่อได้ที่ iNN Lifestyle