สคร.9 นครราชสีมา รณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย 2566 “โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้”
วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็น “วันราชประชาสมาสัย” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงก่อตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อผลิตบุคลากร และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน พร้อมทั้งจัดให้มีสัปดาห์รณรงค์ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ โดยในปี 2566 มีแนวคิดในการรณรงค์ คือ “โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้” เตือนประชาชนหากมีอาการผิวหนังเป็นวงด่าง มึนชา หยิกไม่เจ็บ ผื่นหรือตุ่มนูนแดงไม่คัน มากกว่า 3 เดือน ให้รีบไปพบแพทย์
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึง สถานการณ์โรคเรื้อนในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า ในปี 2564 มีรายงานผู้ป่วยโรคเรื้อน รวม 9 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 3 ราย 2) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3 ราย 3) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 1 ราย และ 4) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 2 ราย ส่วนในปี 2565 มีรายงานผู้ป่วยโรคเรื้อน รวม 10 ราย คือ จังหวัดสุรินทร์ 8 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 2 ราย
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium leprae สามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อได้ยาก ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อน คือ ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 7 วัน จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก อาการของโรคเรื้อน ได้แก่ ผื่นผิวหนัง เป็นวงด่างสีจางหรือแดงกว่าผิวหนังปกติ บริเวณรอยโรคแห้ง เหงื่อไม่ออก ที่สำคัญคือ รอยโรคมีอาการชา ไม่คัน ซึ่งโรคเรื้อนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนความพิการที่เกิดขึ้นแล้ว หรือความเสี่ยงต่อความพิการในอนาคตนั้นถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ก็สามารถหยุดยั้งความพิการไม่ให้เกิดขึ้น หรือไม่ให้เพิ่มขึ้นได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนสงสัยว่าตนเองเป็นโรคเรื้อน มีอาการผิวหนังเป็นวงด่าง มึนชา หยิกไม่เจ็บ ผื่นหรือตุ่มนูนแดง ไม่คัน มากกว่า 3 เดือน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนเกิดความพิการ เพื่อการกำจัดโรคเรื้อนอย่างยั่งยืนต่อไป และร่วมกันค้นหาผู้ป่วยโรคเรือนรายใหม่ ให้ออกมารับการรักษาโดยเร็วเพื่อลดความพิการ และร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ขอบคุณ... https://bit.ly/3XkGrnE