เขตสุขภาพที่ 8 นำร่องพัฒนา “ R8:NDS” ต่อยอดระบบ “หมอพร้อม” ขยายเฟส 2 ดูแลคุณภาพชีวิตผู้พิการ
เขตสุขภาพที่ 8 ขยายความสำเร็จสู่เฟส 2 ใช้เทคโนโลยี “ R8:NDS” ต่อยอดระบบ “หมอพร้อม” เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้พิการ 7 จังหวัด ลดการเดินทางติดต่อรับรองความพิการ บัตรผู้พิการ และเบี้ยยังชีพคนพิการ จาก 3-5 วันเหลือเพียง 2-3 ชั่วโมง ส่วนระยะ 2 เน้นการดูแลถึงบ้าน เตรียมพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ผ่านความร่วมมือ 3 ฝ่าย “สธ.-อบจ.-พมจ.”
เมื่อไม่นานมานี้ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดงาน “Kick off การดำเนินงานบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ระยะที่ 2” พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบบริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (นาวังโมเดล) ระยะที่ 2 ภายใต้แผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยระบบอิเลกทรอนิกส์ R8-หมอพร้อม Nongbualamphu Disability Sandbox (R8:NDS) : Nawang Model Phase 2 ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาช่วยก็เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
นพ.โสภณ ให้ข้อมูลว่า ระบบ “R8 NDS” เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการแบบ วันสต๊อป เซอร์วิส มาที่โรงพยาบาลเพียงจุดเดียวสามารถดำเนินการได้หมด ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองความพิการจากแพทย์ การออกบัตรคนพิการ หรือการได้รับเบี้ยยังชีพ โดยเริ่มจากโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้ต่อยอดระบบหมอพร้อมพัฒนาระบบบริการคนพิการเบ็ดเสร็จ “นาวังโมเดล” จากการดำเนินการระยะแรกประสบความสำเร็จในจังหวัดหนองบัวลำภู จากนั้นขยายไปจังหวัดต่างๆ จนครบเขตสุขภาพที่ 8 และขณะนี้มีการหารือว่าจะมีการขยายต่อไปยังเขตสุขภาพอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวถึงที่มาของการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการด้วยระบบ “R8 NDS” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 2 ล้านคน เฉพาะในเขตสุขภาพที่ 8 ประมาณแสนกว่าคน ซึ่งผู้พิการทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิประโยชน์ สิทธิสวัสดิการทุกคน โดยผู้พิการต้องมีใบรับรองผู้พิการ เริ่มต้นต้องไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อออกใบรับรองความพิการ จากนั้นต้องเดินทางไปสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เพื่อทำการออกบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องไปขอเบี้ยยังชีพผู้พิการที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะมีการเชื่อมข้อมูลจากกรมบัญชีกลางในการจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้พิการ กว่าจะแล้วเสร็จขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลาหลายวัน บางรายเป็นเดือนๆ
การดำเนินการระยะแรกของโรงพยาบาลในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ใช้ระบบที่เรียกว่า ระบบอิเลกทรอนิกส์ R8-หมอพร้อม Nongbualamphu Disability Sandbox (R8:NDS) : Nawang Model โดยนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การลงทะเบียนให้สิทธิผู้พิการภายหลังแพทย์ออกใบรับรองความพิการ จะแสดงบนแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” สามารถแสดงแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดเวลา จากนั้นโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยัง พมจ. ผ่านLINE OA จึงสามารถออกบัตรประจำตัวผู้พิการได้ทันที และจากฐานข้อมูลจะส่งต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และออกเบี้ยยังชีพให้ ซึ่งจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ผู้พิการทำขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จเพียง 1 วัน หรือประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมใช้เวลามากกว่า 3 วัน บางรายเป็นเดือนๆ ที่สำคัญยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อคน
นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ต่อยอดจากระยะแรก ซึ่งจากนี้จะเป็นการเข้าสู่กระบวนการรักษาดูแลอย่างมีคุณภาพ โดยพื้นที่จะมีการเตรียมความพร้อม การจัดสถานที่ให้เหมาะสม อุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เป็นต้น โดยระบบจะเชื่อมไปยัง อบจ. ในการดำเนินการ เนื่องจากมีกองทุนฟื้นฟูผู้พิการฯอยู่ โดยจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการ
“ตรงนี้ยังรองรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น เนื่องจาก อบจ.ดูแล การดำเนินการเรื่อง 3 หมอก็จะยังทำงานตรงนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโมเดลนาวังเฟส 2 จึงขับเคลื่อนเรื่องนี้ และคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะขยายให้ทั่วทั้งเขตสุขภาพที่ 8 ต่อไป” ผู้ตรวจราชการฯ กล่าว
นพ.ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า จากการดำเนินการดังกล่าวทีมงานได้มีการสำรองผู้พิการ และญาติ ได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะการได้รับความสะดวก ไม่ต้องเดินทางหลายๆครั้ง จึงเป็นอีกวิธีในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้จริง