มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ศูนย์พึ่งพาแห่งความหวัง ของเหล่าเด็กและคนพิการ
จากปณิธานสู่การช่วยเหลือ มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ศูนย์พึ่งพาแห่งความหวัง ของเหล่าเด็กและคนพิการ
ที่ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่ให้ความช่วยเหลือพึ่งพิงแก่คนพิการและเด็กกำพร้าหลายๆ คน อย่าง มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในความดูแลและบริหารงานโดยบาทหลวงสุขุม ธนะสิงห์ C.Ss.R. และคณะ
มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 โดย บาทหลวงเรย์มอน อัลลีน เบรนนัน C.Ss.R. หรือ คุณพ่อเรย์ ซึ่งเป็นบาทหลวงมิชชันนารีชาวอเมริกัน คณะพระมหาไถ่ คุณพ่อเรย์เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยขึ้นที่ท่าเรือในหมู่บ้านชาวประมง ที่อำเภอศรีราชา ที่นี่เองมีบ้านของคณะพระมหาไถ่เป็นสถานที่ที่ท่านได้เรียนภาษาไทย หลังจากเรียนจบ ท่านถูกส่งตัวไปทำงานที่จังหวัดเลย เป็นสงฆ์เจ้าอาวาสดูแลชาวอีสาน ที่กระจายอยู่ที่ราบและตามภูเขาต่างๆ
หลังจาก 10 ปีที่คุณพ่อเรย์ทำงานในเขตอีสาน ท่านถูกย้ายไปช่วยงานที่พัทยา ที่ที่ท่านจะได้อภิบาลบรรดาเหล่าทหารอเมริกันที่แวะลงจากเรือเพื่อเที่ยวพักผ่อน ในปี พ.ศ. 2512 คุณพ่อเรย์ทำหน้าที่แทนบาทหลวงก๊อตเบาต์เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญนิโคลัส พัทยา
วันหนึ่ง มีสตรีคนหนึ่งอุ้มลูกอ่อนมาหาคุณพ่อเรย์ โดยเธอเล่าให้ท่านฟังว่า สามีได้ทอดทิ้งเธอและลูกไป เธอรู้สึกว่าไม่สามารถเลี้ยงลูกคนนี้ได้ต่อไปอีกแล้ว คุณพ่อเรย์รับปากที่จะอุปการะเด็กคนนี้ไว้ เหตุนี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นการช่วยเหลือชีวิตอีกหลายร้อยหลายพันชีวิต และคุณพ่อเรย์ได้ตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือเด็กและผู้พิการซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม
ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา เด็กๆ ในความดูแลของ มูลนิธิคุณพ่อเรย์ เคยมีมากที่สุดถึง 850 ชีวิต มีบุคลากรครูจำนวนกว่า 100 ชีวิต แต่ปัจจุบันมีเด็กๆ ในความดูแลทั้งหมด 560 ชีวิต ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนงานด้านเด็ก และ ส่วนงานด้านคนพิการ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน แยกย่อยออกมาได้ ดังนี้
โรงเรียนสอนเด็กพิการทางหู
เมื่อหลายสิบปีก่อน ในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทยมีความเจริญมากขึ้น และมีหลายครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ แต่กลับไม่มีโรงเรียนสำหรับเด็กต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อเรย์จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนของท่านขึ้น เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในเขตภาคตะวันออกที่รับเด็กเหล่านี้
โรงเรียนเริ่มต้นด้วยครูเพียง 6 คน และรับเด็กพิเศษที่อยู่ในละแวกนี้จำนวน 18 คน เด็กมีอายุระหว่าง 5-8 ปี เด็กๆ จะกินนอนอยู่โรงเรียนระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนในวันหยุดเด็กๆ สามารถเดินทางกลับบ้านได้ โรงเรียนของคุณพ่อเรย์เป็นงานการกุศล โดยรับเด็กๆ ที่อยู่ในฐานะยากจนและผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา
แรกเริ่มเดิมที คุณพ่อเรย์ประสงค์จะตั้งโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางแขนขาและทางการเคลื่อนไหว โดยให้คนเหล่านี้ได้ฝึกวิชาชีพ อาทิ การทำกระเบื้องเซรามิก ซ่อมเครื่องไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ แต่คุณพ่อเรย์ก็คิดถึงหลักสูตรการเลี้ยงผึ้งด้วยเช่นกัน หลังจากที่ได้ลองผิดลองถูก ค้นหาว่าหลักสูตรใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการมากที่สุด คุณพ่อเรย์ตัดสินใจที่เลือกเปิดหลักสูตรการใช้คอมพิวเตอร์และซ่อมเครื่องไฟฟ้าสำหรับโรงเรียนของท่านขึ้น
ในปี พ.ศ. 2530 นักเรียนรุ่นแรกได้ออกไปฝึกงานตามร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักรไทย 6 เดือนต่อมา พวกเขากลับมาที่โรงเรียนพร้อมจดหมายรับรองจากสถานประกอบการ พวกเขาเป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาและได้รับเข้าทำงานตามที่ต่างๆ ทุกวันนี้ โรงเรียนของเรามีหลักสูตร 2 ปี สำหรับภาควิชาคอมพิวเตอร์และธุรกิจในภาษาอังกฤษ นักเรียนผู้พิการทุกคนจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษในระดับต้นและระดับสูง วันนี้โรงเรียนยังคงรักษาชื่อเสียงที่ว่า “นักเรียนที่จบการศึกษา ทุกคนมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์” ให้เด็กได้เรียนและกินอยู่ที่โรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
นอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียน โรงเรียนยังส่งเสริมให้พวกเขาฝึกศักยภาพในด้านกีฬา แม้จะต้องปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้พวกเขาสามารถเล่นกีฬาเหมือนคนปกติได้ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้นักเรียนของโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ ก้าวสู่ความเป็นนักกีฬาระดับชาติและนานาชาติ หลายครั้งที่นักเรียนนำเหรียญและถ้วยรางวัลต่างๆ กลับมาที่โรงเรียน ตราบจนวันนี้ มีนักเรียนกว่า 2,000 คน จบจากโรงเรียน พวกเขาได้งานทำและมีสถานะที่ดีขึ้น
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ เริ่มการเรียนการสอนประมาณเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2530 โดยมีอาจารย์ออรอร่า ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน อาจารย์จบการศึกษาจากวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2525
แรกเริ่ม โรงเรียนมีเด็กทั้งสิ้น 7 คน อายุ 4-12 ปี มีการจัดหลักสูตรใหม่สำหรับเด็กพิการทางสายตา เช่น แทนที่จะให้เด็กวาดรูปมีการสอนให้เด็กปั้นดินน้ำมัน ก็ให้เด็กๆ ดีดลูกคิดในวิชาเลขคณิต ซึ่งทั้งคุณพ่อเรย์และอาจารย์ออรอร่าพยายามสอนให้นักเรียนสามารถพึ่งตนเองและดูแลตนเองได้ โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2534 ก็ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ
อีกทั้งยังมีสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อขยายโอกาสด้านการศึกษาในด้านวิชาชีพให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนหรือผู้พิการทางสายตาทั่วไป และเปิดหลักสูตรต่างๆ เช่น การทำธุรกิจทางไกล การแปลและล่าม ดนตรี และโอเปอเรเตอร์ เป็นต้น
บ้านแรกรับและงานภาคสนาม เพื่อเด็กและเยาวชนพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์
ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 คุณพ่อเรย์ได้เล็งเห็นว่า มีเด็กกว่า 400 คน ที่เร่ร่อนอยู่ตามท้องถนนในเขตพัทยา เด็กเหล่านี้ถูกขับไล่ไสส่ง ไม่ก็หนีออกจากบ้าน บางคนมาจากต่างจังหวัดที่ห่างไกลเพื่อหาชีวิตที่ดีกว่าที่พัทยา และเพื่อที่จะทำให้เด็กเหล่านี้เชื่อมั่นว่า ชีวิตของพวกเขาดีกว่านี้ได้แน่
คุณพ่อเรย์ได้เปิดบ้านสำหรับพวกเขา แรกทีเดียวบ้านหลังนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก 2 ปีผ่านไป มีเด็กเข้าพักในบ้านกว่า 20 คน ในปี พ.ศ. 2535 คุณพ่อเรย์เคยกล่าวเปรยในวันฉลองคริสต์มาสไว้ว่า แม้โครงการนี้จะเล็กที่สุดแต่ทำงานยากที่สุด
ในปี พ.ศ. 2532 สถานะการเงินของคุณพ่อเรย์ดีขึ้น ท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไกลจากเมืองพัทยาประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เป็นที่ดินสำหรับเลี้ยงหมู แรกทีเดียวท่านก็ไม่ทราบว่า ทำไมถึงซื้อที่ดินแปลงนี้ 9 ปีต่อมาจำนวนเด็กที่ศูนย์พักพิงมีมากขึ้น
คุณพ่อเรย์เริ่มมีความคิดที่จะหาที่แห่งใหม่เพื่อรองรับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นนี้ ที่ดินแปลงนี้เหมาะสำหรับทำการเกษตรปลูกพืชผัก และเลี้ยงหมู มีน้ำอย่างอุดม และอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเท่าไรนัก แถมยังอยู่ไกลกับหมู่บ้านเลี้ยงช้างอีกด้วย คุณพ่อเรย์จึงได้เริ่มก่อสร้างบ้านหลังใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2541 แต่ยังขาดเงินทุนอยู่ไม่น้อย จึงดำเนินงานก่อสร้างได้ช้ามาก จนถึงปี พ.ศ. 2543 ก็ได้ย้ายเด็กกลุ่มแรกไปที่บ้านใหม่ของพวกเขา
บ้านเด็กพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์
ในปี พ.ศ. 2544 คุณพ่อเรย์ได้เริ่มก่อสร้างบ้านอีกหลังหนึ่งสำหรับเด็กหญิง ซึ่งขณะนั้นพวกเขาอาศัยอยู่บ้านชั่วคราวอยู่ไกลไม่กี่กิโลเมตร บ้านหลังใหม่นี้มีห้องสมุดและห้องคอมพิวเตอร์ โครงการต่อมาของคุณพ่อเรย์คือ การสร้างบ้านใหม่สำหรับเด็กผู้ชาย เป็นตึก 5 ชั้น และสามารถรับเด็กได้ถึง 350 คนทีเดียว
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์
หลังจากการจากไปของคุณพ่อเรย์ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มูลนิธิคุณพ่อเรย์ได้ขยายงานช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสในชุมชนขึ้น โดยมีชื่อว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่ ได้มีพิธีเสกอาคารหลังใหม่ ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551 อาคารหลังใหม่นี้ตั้งอยู่บริเวณของศูนย์พระมหาไถ่ เรียกได้ว่าติดกับถนนสุขุมวิทเลยทีเดียว
ศูนย์แห่งใหม่นี้ให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน โดยทางศูนย์ให้ความดูแลและการศึกษา มีหลายกรณีที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน และทิ้งลูกไว้ที่บ้านคนเดียว หรือบางทีก็ฝากไว้กับบรรดาญาติมิตร ส่วนใหญ่ครอบครัวของเด็กเหล่านี้พักอยู่ในเขตสลัมในเมืองพัทยา เด็กจึงอยู่ในภาวะเสี่ยงในหลายๆ ประการ
ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ แห่งนี้ สามารถรองรับบรรดาเด็ก ๆ ช่วงอายุ 2-5 ขวบ และรับเด็กได้ถึง 150 คน เด็กจะเริ่มทยอยมาเรียนตั้งแต่เ 7 โมงเช้า และเริ่มรับประทานอาหารเช้า มีการเคารพธงชาติ สวดมนต์ และเริ่มเรียนจนถึง 5 โมงเย็นของทุกๆ วันจันทร์ถึงศุกร์ ครูและเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้สอน โดยใช้กิจกรรมอันหลากหลาย เพื่อพัฒนาการของเด็กๆ
หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์
ไม่นานหลังจากที่มูลนิธิคุณพ่อเรย์ได้เริ่มเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มูลนิธิคุณพ่อเรย์ยังได้เริ่มโครงการใหม่ที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์ ซึ่งโครงการนี้ ตั้งอยู่นอกเขตพัทยา บนที่ดินที่คุณพ่อเรย์ได้ซื้อไว้หลายปีมาแล้ว จุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ การรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งไม่ว่าในกรณีต่างๆ มาเลี้ยงดูด้วยความรักและความห่วงใย ดังเช่นเป็นครอบครัวของพวกเขาจริงๆ
วันที่เด็กๆ ได้ย้ายจากศูนย์พักพิงชั่วคราวมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่นี้ โดยแรกเริ่มเปิดโครงการมีบ้านจำนวน 4 หลัง โดยมูลนิธิฯ ได้ตั้งเป้าในการก่อสร้างบ้านเป็นจำนวน 20 หลังด้วยกัน ซึ่งจะทยอยสร้างตามกำลังทุนทรัพย์และเงินจากผู้มีจิตศรัทธา
บ้านแต่ละหลัง จะมีคุณแม่และคุณน้าที่คอยดูแลเด็กๆ บ้านหลังหนึ่งรับเด็กได้ 8-12 คน พวกเด็กๆ จะได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุนในด้านต่างๆ บรรยากาศที่หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์จึงเต็มไปด้วยความเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง พวกเด็กๆ ได้ไปเรียนที่โรงเรียน กลับมาทำการบ้าน ช่วยเหลืองานบ้านต่างๆ และนับเป็นความโชคดีที่เรามีสถานีอนามัยอยู่ใกล้ๆ นอกจากบรรดาแม่และน้าที่อยู่ตามบ้านแล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในห้องทำงานชั่วคราวโดยปรับปรุงจากตู้คอนเทนเนอร์ด้วย
แม้คุณพ่อเรย์ได้สิ้นชีวิตไปแล้วในปี ค.ศ. 2003 แต่บรรดาผู้ก่อตั้งรวมถึงลูกศิษย์ลูกหา ยังสืบสานงานที่คุณพ่อเรย์ได้ริเริ่มไว้ ทุกวันนี้มีการให้การดูแลเด็กๆ และผู้พิการกว่า 560 คน ซึ่งหมายถึงมื้ออาหารกว่าหลักพันมื้อในแต่ละวัน ต้องซื้อข้าวหลายสิบตันในแต่ละปี รวมเป็นค่าใช้จ่ายกว่าหลายร้อยล้าน เพื่อใช้ในทุกโครงการในงานสังคมสงเคราะห์ในเครือข่ายของคณะพระมหาไถ่ ไม่ว่าจะเป็น
มูลนิธิคุณพ่อเรย์, โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา, บ้านเด็กพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์, บ้านแรกรับและงานภาคสนามเพื่อเด็กและเยาวชนพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์, หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์, มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ, ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่, ศูนย์พัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ หนองคาย
ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิคุณพ่อเรย์ จึงมีความต้องการค่อนข้างมากและหลากหลาย โดยแบ่งเป็น กลุ่มความต้องการเร่งด่วน และ สิ่งจำเป็นและความต้องการเสมอ ซึ่งได้แก่ การเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร, ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน, น้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย, นมจืด เส้นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแห้ง และ ค่าน้ำประปา ค่าน้ำดื่ม ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
“เรามีความฝันที่จะเห็นโครงการเหล่านี้ขยายเท่าที่จะทำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสให้มากที่สุด ให้เด็กได้ประสบการณ์ชีวิต เมื่อพวกเขาออกไป จะได้เป็นคนดีของสังคม ทุกวันนี้เรามีเด็กๆ และผู้พิการอยู่ในความดูแลเยอะมาก และเรายังต้องการบุคลากรมาช่วยงานอีกมากเช่นกัน” บาทหลวงภัทรพงศ์ ศรีวรกุล, C.Ss.R. ประธานมูลนิธิคุณพ่อเรย์
ขอบคุณ... https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_236797