ผู้มีภาวะสมองเสื่อมลงทะเบียนคนพิการได้หรือไม่ มีขั้นตอนอย่างไร
ผู้มีภาวะสมองเสื่อม ก็ลงทะเบียนคนพิการเพื่อรับสิทธิประโยชน์บริการสาธารณสุขของรัฐ กับ สปสช. ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ
หลายคนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าสามารถยื่นขอลงทะเบียนเป็นผู้พิการได้ หากต้องการได้รับสิทธิหรือสวัสดิการเหมือนคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลของคนพิการ ครอบคลุมบริการทางการแพทย์ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ ดังนี้
บริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์
• การตรวจวินิจฉัยโรค
• การรักษาพยาบาล
• การคลอดบุตร
• บริการทันตกรรม
• บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
สามารถรับบริการได้ที่ สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น
• การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น
• การฟื้นฟูการได้ยิน
• กายภาพบำบัด
• กิจกรรมบำบัด
• พฤติกรรมบำบัด
• จิตบำบัด
• การได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ
ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิเฉพาะสำหรับคนพิการเพื่อเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ทั้งในและนอกหน่วยบริการ และยังรวมถึงการพัฒนาศักยภาพในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเข้ารับบริการการฝึกการใช้ไม้เท้าขาวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการเห็น เป็นต้น
สำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อม สามารถลงทะเบียนผู้พิการได้โดยมีคุณสมบัติตามที่กำหนด และใช้เอกสารดังต่อไปนี้
คุณสมบัติของคนพิการที่ยื่นคำขอ
• เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย
• บุคคลที่ยังไม่ได้แจ้งเกิดหรือบุคคลที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสัญชาติไทยต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ก่อน
สถานที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ
• กรุงเทพมหานคร ได้แก่
1. ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร ณ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2. โรงพยาบาลสิรินธร
3. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
4. สถาบันราชานุกูล
5. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
6. โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
7. ศูนย์บริการคนพิการสายไหม เคหะเอื้ออาทรสายไหม
8. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)
• ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัด
สถานที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
• กรุงเทพมหานคร
1. ฝ่ายสังคมสงเคราะห์งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช
2. ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี
3. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
• จังหวัด
1. โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรืออำเภอ ที่มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาล
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. หน่วยงานของรัฐอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด
เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
• เอกสารประจําตัวของคนพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บัตรประจําตัวประชาชน บัตรประจําตัวข้าราชการ สูติบัตรสําหรับบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือหนังสือรับรองการเกิดตามแบบที่กรมการปกครองกําหนด
• ทะเบียนบ้านของคนพิการ กรณีที่คนพิการมีทะเบียนบ้าน แต่ไม่มีบัตรประชาชน ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ก่อน
• รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป ในกรณีที่คนพิการไม่ได้มายื่นคำขอด้วยตนเอง
• เอกสารรับรองความพิการ ซึ่งรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่อธิบดีประกาศกําหนด
• สภาพความพิการเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอถ่ายสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน
เอกสารหลักฐานของผู้ดูแลคนพิการ (เป็นผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับคนพิการ หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการซึ่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง)
• บัตรประชาชนของผู้ดูแลคนพิการ
• ทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนพิการ
หากมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดและมีเอกสารพร้อม ก็ไปลงทะเบียนคนพิการตามสถานที่ที่กำหนดไว้ได้เลย แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือระเบียบอื่นๆ ที่รัฐกำหนดอยู่ก่อนแล้ว เช่น ข้าราชการและลูกจ้างประจำของรัฐ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จะไม่สามารถได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ สำหรับคนพิการ จากทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้
หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ที่มา: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, CaregiverThai.com
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2637885